ขยาย ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ คง 4 มาตรการเข้ม

ขยาย ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ คง 4 มาตรการเข้ม

ขยาย “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” คง 4 มาตรการเข้ม พร้อมวาง 3 หลักผ่อนคลาย ขณะที่ประเภท “ร้านค้า” ยังไร้ข้อผ่อนปรน

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เสนอขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ถึงวันที่ 31 พ.ค. ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบค.พิจารณาเห็นชอบ โดยเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) รายงานในที่ประชุมว่า เห็นควรให้คงมาตรการ และข้อกำหนดที่ปฏิบัติอยู่ขณะนี้ ได้แก่

1.การจำกัดการเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.

2.ห้ามบุคคลทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น.

3.งดหรือชะลอการเดินทางข้าวจังหวัดโดยไม่จำเป็น

และ 4.ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

ไม่พลิก! ครม. ไฟเขียวต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 1 เดือน

ผ่อนปรน ห้างสรรพสินค้า-ร้านตัดผม เตรียมเปิด 4 พ.ค.นี้

นางนฤมล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การปฏิบัติการในห้วงต่อไปให้ศบค.เป็นกลไกหลัก ในการกำหนดกฎเกณฑ์การบังคับใช้อำนาจ ตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในด้านต่างๆ กรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่กำหนดในรายละเอียดการปฏิบัติงานตามประเภทของภารกิจ และความรับผิดชอบของตนในพื้นที่ อีกทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งรัด ตรวจสอบคนไทยในต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อให้ได้จำนวนที่ชัดเจน และประสานกับศบค.เพื่อเตรียมการรองรับกลุ่มบุคคลดังกล่าว 

นางนฤมล กล่าวต่อว่า ในห้วงต่อไปๆเพื่อเป็นการผ่อนคลายมาตรการการังคับใช้ต่างๆให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะที่ปรึกษาด้านธุรกิจศบค.และภาคธุรกิจทุกภาคส่วน ร่วมกัน กำหนดมาตรการผ่อนคลายตามแนวทางหลัก  3 แนวทาง คือ 1. ผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้อำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุข เป็นหลัก และนำปัจจัยด้านอื่นๆเช่น เศรษฐกิจ สังคม มาประกอบพิจาณา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

เมื่อ 'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' ยังไม่สิ้นสุด เปิด 5 วิธีใช้ชีวิตช่วงผ่อนปรน

ขยาย พรก.ฉุกเฉิน - ผ่อนปรนมาตรการโควิด! 'ครม.' จะกล้าหักมติ 'ศบค.' หรือ?

2. ให้พิจารณาประเภทกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเป็นอันดับแรกและบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคควบคู่ไปด้วยอย่างเข้มงวด ซึ่งถ้าพิจารณาผลสัมฤทธิ์ในแต่ละวงรอบและพบว่าสถานการณ์ดีขึ้น อาจมีการกำหนดมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม แต่หากพบมีการฝ่าฝืน หรือสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง ก็อาจมีการยกเลิกมาตรการผ่อนคลาย

และ3 ในห้วงที่ดำเนินมาตรการผ่อนคลาย จะมีการเร่งรัดการตรวจเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อาทิ แรงงานต่างด้าน  กลุ่มทำงานอาชีพบริการ โดยใช้เทคโนโลยีติดตามควบคู่กันไปเพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้เชื้อกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดร้านค้าประเภทใดจะสามารถเปิดได้ หรือดำเนินการอย่างไรบ้างนั้น ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ