'เงินสำรองฉุกเฉิน' สำคัญแค่ไหน ในวิกฤติ 'โควิด-19'
ประเมินความสำคัญของ "เงินสำรองฉุกเฉิน" เกราะป้องกันสุขภาพการเงินช่วงวิกฤติ "โควิด-19" และวิธีเตรียมพร้อมรับมือกับทุกวิกฤติ
“เงินสำรองฉุกเฉิน” เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารเงินส่วนบุคคลที่ทุกคนควรวางแผนเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ และแทบทุกเรื่องต้องมีเรื่องเงินเข้าไปเกี่ยวข้อง
เช่นเดียวกับสภาวะวิกฤติ “โควิด-19” ในครั้งนี้ ที่แม้จะไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจโดยตรง แต่การปรับพฤติกรรม และการทำงานเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อโควิด-19 ส่งผลสืบเนื่องไปถึงระบบเศรษฐกิจน้อยใหญ่ และส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงต้องมี “เงินสำรองฉุกเฉิน”
เงินสำรองฉุกเฉิน คือการเก็บเงินสำรองไว้ในรูปแบบของเงินสด หรือฝากในบัญชีออมทรัพย์ที่สามารถนำออกมาใช้ได้ง่ายที่สุดหากมีสถานการณ์บางอย่างที่จำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน แบบไม่คาดคิด เช่นการขาดรายได้ เจ็บป่วยกะทันหัน ฯลฯ
วิธีการคำนวณเงินสำรองฉุกเฉินแบบที่ง่ายที่สุด คือ ควรมีไม่เงินไม่น้อยกว่า 4-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
การสะสมเงินสำรองฉุกเฉินของแต่ละคนมากน้อยแต่ต่างกันออกไป ตามความจำเป็นในการใช้เงินของแต่ละบุคคล โดยวิธีการคำนวณเงินสำรองฉุกเฉินแบบที่ง่ายที่สุด คือ ควรมีไม่เงินไม่น้อยกว่า 4-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
เช่น ทุกๆ เดือนเรามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 12,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 48,000-60,000 บาท หรือมากกว่านั้น เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่า ในอนาคตเราจะเจอเรื่องไม่คาดฝันอะไรอีกบ้าง
เช่นเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มนุษย์เงินเดือนเริ่มขาดรายได้ กลุ่มฟรีแลนซ์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเริ่มมีรายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เพราะไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ใช้ระหว่างเผชิญสถานการณ์ไม่คาดฝันเหล่านี้เลย
ทว่า จุดที่ทำให้หลายคนไม่มี “เงินสำรองฉุกเฉิน” สำหรับบางเป็นเพราะไม่ได้วางแผนการเงินตั้งแต่แรก แต่สำหรับบางคนคือพยายามแต่ไม่สำเร็จ เพราะความยากของการเก็บเงินสำรอง ก็คล้ายกับการเก็บเงินอื่นๆ ที่ต้องอาศัยวินัย ความตั้งใจ และการอดกลั้นต่อสิ่งของล่อตาล่อใจให้ได้
ณ เวลานี้ เราคงไม่ได้พูดถึงการสร้างเงินสำรองฉุกเฉินระหว่างที่กำลังเผชิญวิกฤติ แต่เป็นเทคนิค และวิธีการเตรียมตัว สำหรับคนที่อยากสร้างเงินสำรองฉุกเฉินไว้เป็นตัวช่วยในยามคับขันในอนาคตข้างหน้า โดย 3 เทคนิคในการเก็บเงินสำรองที่ใครๆ ก็ทำได้ หากเริ่มต้นลงมือทำ
- หักเงินแยกสำหรับเป็นเงินสำรองฉุกเฉินเป็นประจำ
หักเงิน 5-10% จากเงินเดือนทุกเดือน หรือทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามาทันที เพื่อเก็บแยกกับเงินส่วนอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง เช่น กรณีคนที่มีเงินเดือนประจำ 15,000 บาท (หักเงิน 5% = 750 บาท/เดือน หักเงิน 10% = 1,500 บาท/เดือน) กรณีทำอาชีพอิสระ ได้รับเงินค่าจ้างหรือรายได้มา 3,000 บาท (หักเงิน 5% = 150 บาท/ครั้ง หักเงิน 10% = 300 บาท/ครั้ง) การหักเงินแยกเก็บไว้อย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีที่ทำให้สามารถเก็บเงินได้สม่ำเสมอแบบไม่รู้สึกว่ากระทบต่อชีวิตประจำวันจนเกินไป และฝึกวินัยในการบริหารเงินส่วนบุคคลที่จะนำไปสู่การบริหารเงินอื่นๆ ได้แบบสบายๆ
- เก็บในที่ที่เอามาใช้ยากกว่าปกติ
อุปสรรคหนึ่งของการเก็บเงินคืออดใจไม่ไหวเมื่อเห็นว่าตัวเองพอที่จะซื้อของที่อยากได้แบบสบายๆ ฉะนั้นการนำเงินส่วนที่ต้องการเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินไว้ใน บัญชีที่ไม่มีบัตรเอทีเอ็ม ไม่เชื่อม E-Banking หรือจะฝากคนในครอบครัวที่มั่นใจว่าเก็บเงินอยู่มือและไว้ใจได้ก็ไม่ใช่เรื่องผิด
- ห้ามยุ่งกับเงินก้อนนี้เด็ดขาด
ห้ามยุ่งกับเงินก้อนนี้เด็ดขาด ณ ทีนี้ หมายถึงต้องมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เงินสำรองก้อนนี้จะถูกนำมาใช้เมื่อขาดรายได้จากสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น เก็บไว้ใช้สำหรับการเจ็บป่วยฉุกเฉินเท่านั้น หรือกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ขึ้นมา เพื่อย้ำเตือนตัวเองว่าเงินก้อนนี้ ไม่มีสิทธิ์ใช้ในกรณีที่อยากช้อปปิ้ง หรือใช้ไปในเรื่องเป็นอันขาด
- ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสเปลี่ยนความคิด
ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส ย้ำเตือนตัวเองว่าสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดกระทบกับเงินในกระเป๋าของเราแค่ไหน เพื่อพยายามเก็บเงินก้อนไว้ใช้ในยามฉุกเฉินให้ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วเรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร การพยายามพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด จึงเป็นเกราะรับแรงกระแทกจากสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่าการรอความช่วยเหลืออื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตัวเอง
นอกจากเงินสำรองฉุกเฉิน ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในสภาวะวิกฤติแล้ว ยังมีเงินส่วนอื่นๆ ที่ควรจะวางแผนให้ดี ตามหลักการบริหารการเงินส่วนบุคคลสุดเบสิกเป็น 4 ส่วน ดังนี้
เงินสำรองฉุกเฉิน : เงินสด 4-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพื่อสำรองไว้ใช้ในกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ขาดรายได้ หรือมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้เงินด่วน
เงินออมเพื่ออนาคต : เงินออมที่เตรียมไว้สำหรับตัวเองในอนาคต เช่น การเตรียมไว้ใช้สำหรับชีวิตหลังเกษียณอายุการทำงาน หรือเงินออมเพื่อเป้าหมายบางสิ่งบางอย่างเช่น ดาวน์บ้าน ซื้อรถ แต่งงาน ฯลฯ ซึ่งเงินออมในส่วนนี้สามารถแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ ได้ตามความต้องการและเป้าหมายของแต่ละคน
เงินสำหรับลงทุน : เงินในส่วนนี้เป็นเงินส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้เร่งด่วน หรือที่มักเรียกกันว่า “เงินเย็น” ซึ่งเป็นที่แยกไว้สำหรับลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อเปิดรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ ถ้าหากขาดทุนก็จะไม่ได้รับผลกระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
เงินสำหรับใช้จ่าย : เงินที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ ที่ควรมีจำกัดอย่างชัดเจน
..แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงการ "เก็บเงิน" สิ่งที่หลายคนสงสัย มักจะหนีไม่พ้น คำถามที่ว่า ใช้แต่ละวันยังไม่พอ จะเอาเงินมาจากไหน?
คำตอบของคำถามนี้ไม่ตายตัว แต่แนวทางที่นำไปสู่เงินเก็บได้คือการเริ่มต้นที่ "ความคิด" เพราะไม่ว่าเงินของเราจะมากหรือน้อยคือการบริหารจัดการรายได้ที่เข้ามาและเจียดเงินมาบริหารให้ได้ อย่างมีเป้าหมาย และมีวินัย เพื่ออนาคตทางการเงินของตัวเอง
อย่างไรก็ดีแม้สิ่งที่กำลังเผชิญอยู่จะหนักหน่วง แต่ "โควิด-19" กำลังบอกเราว่า หากรอดจากวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ถึงเวลาที่ต้องเก็บเงิน เพื่อเป็น "เงินสำรองฉุกเฉิน" อย่างจริงจัง เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นสะท้อนว่ามันแค่ทฤษฎีที่การบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลในตำรา แต่มันคือ “ทางรอด” ที่ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตไปได้ท่ามกลางวิกฤติ โดยไม่ลำบากจนเกินไป และสามารถเป็นต้นทุนที่สามารถต่อยอดรายได้เมื่อต้องการ