แรงงาน–พม. ผนึกกำลังช่วยผู้ประสบปัญหาจากโควิด-19 มีงานทำ มีชีวิตดีขึ้น
กระทรวงแรงงาน แทคทีม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบปัญหาความยากลำบากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ณ ชุมชนเฟื่องฟ้า เขตประเวศ กทม.
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพบปะพูดคุยและสอบถามความต้องการในการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ณ ชุมชนเฟื่องฟ้า ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 39 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร
รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ทำให้สถานประกอบการหลายแห่งถูกปิดกิจการลงชั่วคราว เนื่องจากรัฐสั่งให้ปิด ประกอบกับสถานประกอบการหลายแห่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ทำให้ลูกจ้าง แรงงานส่วนหนึ่งได้รับความเดือดร้อน ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้มาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว จนทำให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อมาตรวจเยี่ยมพูดคุยสอบถามความต้องการในการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้นำมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด -19 อาทิ
- การหางานให้ทำ
- การแนะแนวอาชีพ
- การรับงานไปทำที่บ้าน
- การประกอบอาชีพอิสระ
- การฝึกอาชีพตามความต้องการ
- การพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อการประกอบอาชีพอิสระ
- การให้ความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
- การรับสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามระบบประกันสังคม เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคง เป็นต้น
สำหรับชุมชนเฟื่องฟ้า ที่เขตประเวศแห่งนี้ พบว่า มีประชากรทั้งหมด 122 ครัวเรือน ประชากร 360 คน ในจำนวนนี้แยกเป็น ผู้สูงอายุ 51 คน ผู้ป่วยติดเตียง 3 คน คนพิการ 2 คน เด็กแรกเกิด -1 ปี 11 คน เด็กอายุ 1-3 ปี 10 คน เด็กอายุ 3-6 ปี 35 คน และเด็กอายุ 6-15 ปี 45 คน ส่วนใหญ่ต้องการมีอาชีพที่มั่นคง รองลงมา คือ การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุและคนพิการ ต้องการรถเข็นคนพิการ และสิ่งของที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นต้น
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกระทรวงแรงงาน ได้ให้หน่วยงานในสังกัดในพื้นที่สำรวจความต้องการเพื่อให้ความช่วยเหลือตามภารกิจดังกล่าวข้างต้น และติดตามความคืบหน้าเป็นระยะเพื่อให้ผู้ประสบปัญหาและได้รับความเดือดร้อนสามารถได้รับการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามความต้องการต่อไป