เปิดเหตุผล 'การบินไทย' ยื่นฟื้นฟู สะเทือนเจ้าหนี้ 14 ล้านราย
“ศาลล้มละลาย” รับคำร้องฟื้นฟูการบินไทย เข้าสู่ภาวะพักชำระหนี้ นัดไต่สวน 17 ส.ค.นี้ แจงเหตุผลยื่นศาล มีหนี้ 3.5 แสนล้าน เข้าภาวะจ่ายหนี้ 21 พ.ค.วงเงิน 1 หมื่นล้านไม่ได้ “วิษณุ” คาดอีก 6 เดือน เริ่มกระบวนการฟื้นฟู
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งคดีดำ ฟฟ 10/2563 รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำให้การบินไทยเข้าสู่สภาวะการพักชำระหนี้ (Automatic stay) และขั้นตอนต่อไปศาลล้มละลายกลางจะนัดไต่สวนครั้งแรกในวันที่ 17 ส.ค.2563
รวมทั้งมีคำสั่งให้ประกาศคำสั่งรับคำร้องขอ และวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับไม่น้อยกว่า 2 ครั้งห่างกันไม่เกิน 7 วัน กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อเจ้าหนี้และแก่นายทะเบียนหุ้นส่วน บริษัท หรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรมบังคับคดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ตลท.ขึ้นเครื่องหมาย C หุ้น 'การบินไทย' 29 พ.ค.นี้ หลังศาลรับคำร้องฟื้นฟู
- ทูตสหรัฐชี้แนวโน้ม 'การบินไทย' ยื่นฟื้นฟูศาลสหรัฐ
- ‘สายการบิน’ ลุยต่อประกัน ‘บีเคไอ’ รับเบี้ยปีนี้ 600 ล้าน
และให้ส่งให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 90/9 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 และให้ประกาศวันเวลานัดไต่สวนโดยวิธีลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอีกทางหนึ่ง หากเจ้าหนี้ประสงค์คัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่า 3 วันมิฉะนั้นถือว่าไม่คัดค้าน
รายงานข่าวระบุว่า การบินไทยรายงานเหตุผลในการยื่นคำร้อง โดยระบุถึงทุนจดทะเบียน 26,989 ล้านบาท หนี้สินรวม 354,494 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 349,636 ล้านบาท มีหนี้ถึงกำหนดชำระวันที่ 21 พ.ค.2563 รวม 10,200 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้
รวมถึงระบุเหตุที่ศาลควรพิจารณาให้ฟื้นฟูกิจการ คือ ธุรกิจการบินไทยมีพื้นฐานดี มีการประกอบธุรกิจมานาน เเละยังได้รับรางวัลต่อเนื่อง โดยมีธุรกิจอื่นช่วยสร้างรายได้ คือ Cargo, Ground service, Catering
ทั้งนี้ ปัญหาหนี้สินของการบินไทยเกิดจากภาพรวมอุตสาหกรรมในและต่างประเทศมีการแข่งขันสูง รวมถึงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่กระทบธุรกิจการบิน โดยการบินไทยปรับตัวไม่ทันกับสถานการณ์เพราะอยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับ และหากไม่ได้ฟื้นฟูจะเสียหายต่อเจ้าหนี้ ลูกหนี้ พนักงานเเละเศรษฐกิจของประเทศชาติ
ในขณะที่การบินไทยยังมีช่องทางการฟื้นฟู ดังนี้
1.ต้องปรับโครงสร้างหนี้
2.ต้องเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กรและลดต้นทุน
3.ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน
4.ปรับปรุงหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
5.ปรับปรุงการหารายได้ ประกอบกับการยื่นคำร้องขอของการบินไทยเป็นยื่นคำร้องขอโดยสุจริต
รายงานข่าวระบุว่า ตามขั้นตอนตามปกติเเล้วในทางปฏิบัติ เมื่อศาลล้มละลายกลางรับคําร้องขอแล้ว จะนัดไต่สวน 2–3 เดือน นับแต่วันรับคําร้องขอ ขึ้นกับจํานวนเจ้าหนี้และภูมิลําเนาของเจ้าหนี้ เเต่ในกรณีการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทยดังกล่าวกลับพบว่า ”มีการเเนบบัญชีเจ้าหนี้ยื่นต่อศาลจำนวน 14 ล้านราย” ซึ่งต้องมีขั้นตอนการส่งหมายนัดแจ้งให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงต้องให้เวลาเเละนัดไต่สวนในวันที่ 17 ส.ค.นี้
ตั้ง“เอิร์นแอนด์ยัง”ที่ปรึกษา
สำหรับรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูมีการเสนอ บริษัทเอิร์นแอนด์ยัง (EY) บริษัทตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาการลงทุนกับกรรมการลูกหนี้ 5 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการการบินไทย 2.นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการการบินไทย และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
4.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 5.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
รายชื่อผู้ทำแผนในลำดับที่ 3–5 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการบินไทยวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคำร้องของการบินไทยดังกล่าวมีรายละเอียดครบถ้วนจึงมีคำสั่งรับคำร้อง
สอดคล้อง 23 ปัจจัยเสี่ยง
รายงานข่าวระบุว่า เหตุผลในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการสอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจของการบินไทย 23 ข้อ ที่สรุปมาก่อนหน้านี้ เช่น การต้องปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางการบิน เริ่มจากเส้นทางบินระยะยาว รวมถึงการบริหารจัดการเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร หรือ ไม่มีเครื่องบินที่ต้องการ เพื่อนำเครื่องบินไปให้บริการ ในเส้นทางที่มีศักยภาพมากกว่า
รวมถึงควรปรับปรุงแผนบริหารจัดการฝูงบิน รวมถึง แผนการขายเครื่องบินค้าง ในปัจจุบันมีผู้สนใจเสนอราคาซื้อที่ต่ำมาก หากจะมีการตัดขายเพื่อลดเส้นทางการบินต้องจัดการในเรื่องนี้ มิเช่นนั้นจะขายขาดทุนมาก และการต้องปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์ ต้องหาวิธีการจัดการกับการต่อต้านของกลุ่มมาเฟียเดิม และหรือ ผู้แทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินโดยสารจำนวนหนึ่งที่เสียผลประโยชน์จากการขายบัตรโดยสารแบบ Single Price
และต้องปรับปรุงการปฏิบัติงาน และต้นทุนกระบวนการทำงานด้วยดิจิทัล เทคโนโลยี เนื่องจากการทำงานที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามแผน และผู้บริหารระดับสูงไม่เข้าใจระบบการจัดการด้านนี้ และต้องปรับปรุงการปฏิบัติการและบริหารต้นทุนเพื่อสร้างประสิทธิภาพการทำงานของฝ่ายช่าง และปรับรูปแบบให้รองรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นเชิงพาณิชย์ ด้วยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในฝ่ายช่างซ่อมบำรุง