ลุ้น ศบค. รับ 5 หมื่นคนเข้าประเทศ เฟส 5 เปิดผับ-บาร์-อาบอบนวด
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.
แถลงถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ว่า ได้พิจารณาแนวทางให้คนใน 3 กลุ่มเดินทางเข้าประเทศไทยได้ดังนี้
กลุ่มแรกที่สามารถดำเนินการให้เข้าประเทศได้เลย โดยมีผู้ที่ลงทะเบียนตอบรับการถูกกักตัว 14 วัน คือ นักธุรกิจ นักลงทุน 700 คน แรงงานฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญ 15,400 คน คนต่างด้าว เป็นครอบครัวของคนไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย 2,000 คน ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา 2,000 คน และMedical and Wellness Tourirm 30,000 คน รวม 50,100 คน โดยกลุ่มนี้สามารถทำได้เลย แต่ต้องถูกกักตัว 14 วัน
กลุ่มที่ 2. ที่ต้องใช้มาตรการคุมไว้สังเกต ได้แก่ นักธุรกิจ นักลงทุน หรือแขกของรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการ ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยระยะเวลาสั้นๆ การจะถูกกักตัว 14 วันจึงเป็นไปไม่ได้ แต่จะต้องมีการซื้อประกันสุขภาพ วงเงิน 1 แสนเหรียญสหรัฐฯ มีการตรวจเชื้อตั้งแต่ต้นทาง เมื่อเดินทางมาถึง
นอกจากนี้จะมีทีมติดตามด้านการแพทย์และสาธารณสุขหรือทีมที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขติดตามคณะเดินทางด้วย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการ โดยมาตรการนี้จะเสนอที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ พิจารณา 29 มิ.ย.นี้ ว่าจะให้สามารถทำได้ตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้หรือไม่
และกลุ่มที่ 3. คือนักท่องเที่ยวตามโครงการ Travel Bubble นั้น ยังต้องมีการหารือกันอีกเยอะเพราะกลุ่มประเทศเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องหารือกันต่อไป โดยเบื้องต้นมี 2-3 มาตรการ อาทิ มาตรการ Villa Quarantine เริ่ม 1 ส.ค. โดยให้กลุ่มผู้เดินทางอยู่ในสถานที่เดียวกัน และมาตรการ State Quarantine จะเริ่มเมื่อพร้อม และสังคมเชื่อมั่น คงต้องรออีกสักระยะ
นอกจากนี้ได้พิจารณาการผ่อนปรนมาตรการระยะ5 ในกิจการความเสี่ยงสูงที่เหลืออยู่ ประกอบด้วย สถานบันเทิง ผับ บาร์ มีมาตรการควบคุม ดังนี้ ให้เปิดไม่เกิน 24.00 น. ทุกกรณี ภายในร้านระยะห่าง 1 เมตร จำกัดพื้นที่ 4 ตร.ม.ต่อคน ห้ามรวมโต๊ะกับกลุ่มอื่น
ส่วนพนักงานต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทำความสะอาดห้องสุขา พื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ระยะห่างโต๊ะ 2 เมตร หรือมีฉากกั้นสูง 1.5 เมตร มีระบบระบายอากาศที่ดี มีพื้นที่เฉพาะสำหรับสูบบุหรี่ ผู้ใช้บริการต้องลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะทุกคน ส่วนเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าตรวจต้องลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น ผู้พิทักษ์ไทยชนะ
นอกจากนั้นยังต้องมาตรการเสริม อาทิ การตั้งจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ให้นั่งหรือยืนเป็นกลุ่มไม่เกิน5คน งดนั่ง ร้องเพลง เต้น หรือยอมให้เต้นกับลูกค้า และงดเต้นนอกบริเวณโต๊ะ ที่นั่ง เลี่ยงขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แบบเหยือก ถ้วย หรือภาชนะที่สัมผัสใช้ร่วมกัน ติดกล้องวงจรปิด บันทึกข้อมูล 1 เดือน มีระบบรอคิว ห่างกันมากกว่า 1 ม.
สำหรับกิจการอาบอบนวด ต้องมีมาตรการให้พนักงานสวมแมสหรือเฟสชิลล์ตลอดเวลา ยกเว้นขณะอาบน้ำ ทำความสะอาดห้าง อ่างอาบน้ำ ห้องน้ำ ทั้งก่อนหลังให้บริการ เว้นระยะห่าง 1 เมตร ยกเว้นขณะอาบน้ำ ควบคุมไม่ให้แออัด ลงทะเบียนผ่านแอพไทยชนะทุกคน หรือจดบันทึกรายงานแทนได้ และต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มพนักงานเป็นระยะ รวมถึงเฝ้าระวังโรคอื่นๆ ส่วนมาตรการเสริม อาทิ ตั้งจุดคัดกรอง ตอดตั้งกล้องวงจรปิด ในพื้นที่ส่วนรวม บันทึกข้อมูล 1 เดือน
นอกจากนั้นยังมีร้านเกมและอินเทอร์เน็ต ให้ผู้อยู่ในร้านสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาทุกคน จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ 4 ตร.ม./คน จำกัดเวลาใช้บริการในระบบ 2 ชม./รอบ ลงทะเบียนผ่านแอพไทยชนะทุกคน
ทั้งนี้มาตรการผ่อนปรนระยะ 5 จะจะเสนอที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.ต่อไป
ขณะเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติว่า คณะกรรมการฯจะเสนอให้ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณา ผู้ที่อนุญาตให้มีการเดินทางเข้าประเทศไทย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.บุคคลที่นายกรัฐมนตรีอนุญาต คณะทูต คณะกงสุล องค์กรระหว่างประเทศหรือผู้แทนรัฐบาล ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น
2.กลุ่มคนไทยกลับบ้าน ซึ่งจะมีการกำหนดทรัพยากรในการรองรับ และการเข้าสู่สถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ และ3.บุคคลที่ถือสัญชาติต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาประกอบธุรกิจ หรือมีความจำเพาะจำเป็นในระบบเศรษฐกิจ โดยมีการกำหนดเวลาการเข้ามาอยู่ในประเทศที่ชัดเจนระยะสั้น เช่น อาคันตุกะของรัฐบาล กลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ และกลุ่มที่เข้ามาอยู่ระยะยาว เช่น แรงงานฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญ คนต่างชาติที่เป็นครอบครัวคนไทย ครู/นักเรียนจากต่างประเทศ และผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการด้านสุขภาพ
สำหรับการจับคู่ท่องเที่ยว หากเข้ามาแบบมีวัตถุประสงค์ก็จะไม่กักตัว หรือเรียกว่ากรีนเลนด์ แต่ต้องมีการตกลงกันถึงมาตรการก่อนออกมาจากประเทศต้นทาง ว่าจะต้องตรวจอย่างไร มีประกันสุขภาพอย่างไร มาถึงไทยก็ต้องตรวจหาเชื้อแบบรวดเร็ว และต้องมาเข้าแอพติดตาม รายงานตัว รวมถึงอยู่ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น หากมาอยู่ 5 วัน ต้องมีการระบุว่าอยู่โรงแรมอะไร ไปจุดไหน เป็นต้น แต่หากมาอยู่เกิน 14 วัน จะต้องมีการกักตัว แต่วันที่ชัดเจนว่าจะอยู่ได้กี่วันต้องไปหารือกันอีกครั้งแต่ไม่เกิน 14 วันระยะเวลาสั้นๆ เรื่องนี้เป็นข้อตกลง ไม่ใช่สัญญา หากพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาตรฐานการดูแลไม่ดีก็เปลี่ยนเงื่อนไขได้ แต่ยังมีแค่ 3 กลุ่ม
ส่วนข้อห่วงใยของอาจารย์แพทย์ที่เห็นว่ายังไงก็ยังควรมีการกักตัวนั้น เรื่องนี้มีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ดูแลประชุมหารือ และก็พร้อมรับฟังความเห็น แต่กระทรวงก็ต้องมีความพร้อม สามารถขับเคลื่อนได้ทุกมิติต้องมีการสร้างรายได้เพื่อให้สภาวะปกติกลับมาเร็วที่สุด แต่เบื้องต้นย้ำว่ายังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยว ส่วนการประเมินว่าจะขยายนอกจาก 3 กลุ่มนี้ ก็ต้องมีการศึกษาก่อนที่จะแบ่งเป็นระยะเฟส 1 เฟส 2 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การกักตัวกลุ่มที่จะเข้ามาทำงาน กลุ่มจับคู่ท่องเที่ยวต้องออกค่าใช้จ่ายเอง นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสวมหน้ากากเวลาออกจากบ้านเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีการรวมตัวกันจำนวนมาก แต่ก็น่าจะเป็นการขอความร่วมมือกันมากกว่า เนื่องจากสาเหตุที่ประเทศไทยปลอดเชื้อได้ 30 วัน ส่วนหนึ่งมาจากเราทุกคนใส่หน้ากาก จนกว่าจะมีวัคซีน
ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภายใต้ร่างระเบียบฯ ผู้ที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทย จะต้องมีใบรับรองการตรวจยืนยันไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 การทำประกันภัยที่ครอบคลุมหารตรวจ รักษาโควิด-19 ใบรับรองการบิน หลังจากเข้ามาในประเทศแล้ว
กรณีที่เป็นการเข้ามาระยะสั้น ไม่ต้องกักตัว ทุกคนจะต้องโหลดแอพพลิเคชั่นติดตามตัว เช่น AOT เพื่อสามารถติดตามเส้นทางการเดินทางได้ และต้องมีการแจ้งเส้นทางก่อนล่วงหน้าว่าจะไปที่ไหนอย่างชัดเจน และก่อนเดินทางกลับ จะต้องมีการรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การตรวจเชื้อก่อนกลับ
สำหรับการทำเอ็มโอยูโครงการ Travel Bubble จะเน้นประเทศที่มีการคุมโรคได้ดี เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บางเมืองของจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นต้น เพราะเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ