New Normal ของนักเรียนในยุคโควิด
หนึ่งในเรื่องชวนคิดของภาคการศึกษาในยุคโควิด-19 คือ จะอยู่กันอย่างไรภายใต้สภาวะปกติใหม่ หรือ New Normal ให้มีความสุข ทั้งพ่อแม่ และบุตรหลานที่เป็นนักเรียน
ความเปลี่ยนแปลงของชีวิตประจำวันหลังโควิดที่เริ่มกลับสู่สภาวะปกติ แต่เป็นภาวะปกติแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า “New normal” นั้นส่งต่อกระทบทุกคนในสังคม
วันนี้ ผมอยากจะมาเล่าสู่กันฟังและชวนคิดว่าเราจะอยู่กันอย่างไรภายใต้สภาวะปกติใหม่ให้มีความสุข โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองหรือมีลูกหลานตัวน้อยๆ ที่ยังเรียนอยู่กันครับ
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศเฟส 5 ทำให้โรงเรียนทยอยเปิดภาคการศึกษา ซึ่งก็ถือว่าเป็นภาคการศึกษาพิเศษ อันเนื่องมาจากการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค และทำหน้าที่หลักในการเพิ่มพูนทักษะและสติปัญญาแก่เยาวชนอย่างเต็มความสามารถภายใต้ข้อจำกัดที่มากมาย
มีการลดจำนวนวันและชั่วโมงการเรียนการสอนแบบปกติในห้องเรียน และสลับวันเรียน อาทิ เข้าเรียนในห้องเรียน 2-3 วัน จากเดิมที่เคยเรียน 5 วัน และที่เหลือก็เรียนออนไลน์เอา เพื่อลดจำนวนนักเรียนต่อห้องลง ลดความแออัดจากเดิมให้เหลือครึ่งห้อง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มและสลับเรียนในแต่ละสัปดาห์
มีการเว้นระยะทางสังคมทั้งในห้องเรียนและสถานที่ชุนนุมนักเรียนอย่างโรงอาหาร ด้วยการเว้นระยะโต๊ะและมีผนังกั้น มีการลดละเลิกกิจกรรมรวมตัว อาทิ การเคารพธงชาติและกิจกรรมหน้าเสาธงลง ขณะที่ค่ายกิจกรรมต่างๆ ก็ถูกพิจารณาเลื่อนหรือปรับลดเวลาลง การสอบและการเปิดเทอมก็ถูกถอยร่นลงจนอาจทำให้ปิดเทอมเล็กในเดือน ต.ค. ที่จะถึงอาจจะมีเวลาปิดเทอมที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
การตรวจเช็คอุณหภูมิก่อนเข้าโรงเรียน ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการป้องกัน ทั้งในแบบอุโมงค์หรือประตูวัดอุณหภูมิที่โรงเรียนเอกชนนิยมเพราะสะดวกรวดเร็ว และแบบคนยืนวัดที่ประหยัดงบประมาณแต่ก็จะเพิ่มความแออัดระหว่างการรอเข้าคิว ตามที่ปรากฏในข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในส่วนของการเตรียมตัวข้าวของอุปกรณ์เครื่องใช้ก็เพิ่มเติมไปตามภาวะปกติใหม่นี้ โรงเรียนได้ขอความร่วมมือนักเรียนสวมหน้ากากและเครื่องป้องกันใบหน้าเตรียมทิชชู่เปียกและเจลล้างมือเพื่อความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค และเตรียมอุปกรณ์ที่จำต้องใช้ส่วนตัวอื่น ๆ มาจากบ้านซึ่งแต่เดิมโรงเรียนเตรียมไว้ให้ อาทิ ช้อนส้อมทานข้าว
การเรียนการสอนออนไลน์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากเกี่ยวกับความเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่โรงเรียนและผู้ปกครองจำต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้ การเรียนการสอนออนไลน์นี้เหมาะกับเด็กโตที่เริ่มมีวุฒิภาวะ มีความรับผิดชอบ มีสมาธิและสามารถโฟกัสที่เนื้อหา และมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีได้ในระดับหนึ่ง
โรงเรียนจึงควรไตร่ตรองให้รอบคอบเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ และจุดหมายในการเรียน สำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพราะตามหลักจิตวิทยา เด็กเล็กนั้นเรียนรู้จากการเล่น จากประสบการณ์ พอ ๆ หรือมากกว่าการเรียนจากบทเรียน การบ้านและเนื้อหาวิชาที่หนักจนเกินไปนอกจากจะเป็นภาระของเด็กแล้ว ยังเพิ่มภาระและความเครียดให้กับผู้ปกครองอีกด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกที่อยู่บ้านกับการเรียนออนไลน์ ก็เพิ่มความซับซ้อนขึ้นมาอีกขั้นเมื่อพ่อแม่ต้องทำหน้าที่เป็นครู เป็นผู้คุมกฏ และเป็นผู้ถ่ายทอดให้ลูกมีวิชาความรู้ ดังนั้น ความคาดหวังที่สูงเกินไปของพ่อแม่ก็จะนำมาซึ่งความเครียดในความสัมพันธ์ ซึ่งสมควรไตร่ตรองและปรับสมดุลให้ดี
ผมเชื่อว่า สภาวะปกติใหม่นี้จะอยู่กับเราอีกพอสมควร ดังนั้นทุกบ้านจึงควรเข้าใจจิตวิทยาของเด็กแต่ละช่วงวัย และปรับสมดุลให้ดี เพราะพัฒนาการที่ดีและการเรียนรู้ของเด็กไม่ได้วัดด้วยคะแนนเต็มร้อย เกรดที่ดี หรือการเป็นที่หนึ่งของชั้นเสมอไปครับ