'เราไม่ทิ้งกัน' แจงเรียกคืน 'เยียวยา' เฉพาะผู้สละสิทธิ ส่วน ตกหล่น ยังลุ้นอยู่
คลังแจง "เราไม่ทิ้งกัน" ส่งหนังสือเรียกคือเงินเฉพาะผู้สละสิทธิ "เยียวยา" ส่วนกลุ่มตกหล่น และคืบลงทะเบียนรอบ 2 ยังมีความหวัง หรือไม่
มาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยา 5,000 บาท ต่อเนื่อง 3 เดือน ในโครงการ เราไม่ทิ้งกัน ผ่านการลงทะเบียนใน www.เราไม่ทิ้งกัน.com จ่ายเงินให้กับผู้ลงทะเบียนต่อเนื่อง 3 เดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาท จนถึงตอนนี้ แม้ว่าโครงการจะปิดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 และจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้กับผู้ลงทะเบียนไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ขณะที่เมนูในเว็บไซต์ยังเหลือ 2 เมนูให้ทำรายการได้ คือ ตรวจสอบสถานะ และสละสิทธิ
ล่าสุด กรณีที่มีผู้ได้รับหนังสือจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. โดยเนื้อหาในหนังสือระบุถึงการเรียกคืนเงินช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยาในโครงการ เราไม่ทิ้งกัน เนื้อความว่า
ตามที่กระทรวงการคลังมีมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท 3 เดือน และท่านได้แสดงความประสงค์สละสิทธิ์การได้รับเงินชดเชย เพื่อให้การดำเนินการสละสิทธิ์เป็นไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ขอให้ท่านดำเนินการคืนเงินชดเชยรายได้ที่ท่านได้รับแล้วทั้งหมด ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และให้ชำระเงินผ่านช่องทาง โมบาย แบงก์กิ้ง และ เอทีเอ็มของธนาคารใดก็ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 'เยียวยาเกษตรกร' เช็คสิทธิ์ 8-9 ก.ค.นี้ 'ธ.ก.ส.' จ่ายรวด 2 รอบ
- 'สินเชื่อ' จาก 'ธ.ก.ส.' ช่วยสร้างธุรกิจที่บ้านเกิด ดอกเบี้ย 0-4% 3 เดือนแรก
- เช็คเงินเยียวยา 3,000 บาท 'บัตรคนจน' เข้าหรือยัง? มีช่องทางไหนบ้าง?
- สรุปทุกมาตรการ! 'เยียวยา' ได้ 'เงิน' ห้าพัน 3 หรือ 6 เดือน ลงทะเบียนรอบ 2 ได้จริงไหม
- 'เราไม่ทิ้งกัน' ย้ำกลุ่มแจ้งสละสิทธิหมื่นราย เร่งติดต่อคืน 'เงินเยียวยา'
ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นขั้นตอนการดำเนินการสำหรับผู้ลงทะเบียน มาตรการ เราไม่ทิ้งกัน ที่กดเมนูขอสละสิทธิ์ (ปุ่มสีชมพู) ผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังในการเรียกคืนเงินดังกล่าวให้ครบถ้วน
ขณะที่ ผู้ผ่านเกณฑ์ และได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ไปแล้ว 3 เดือน เป็นเงิน 15,000 บาท ไม่จำเป็นต้องคืน เพราะไม่ได้มาจากหนังสือส่วนนี้ เขาได้ย้ำว่า เป็นไปไม่ได้ที่ ผู้ไม่ได้กดเมนูสละสิทธิจะได้หนังสือดังกล่าว เพราะขั้นตอนการสละสิทธิจะมีการยืนยันรหัส OTP เพื่อยืนยันเจตจำนงเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อส่งหนังสือฉบับนี้ให้เท่านั้น
สำหรับความคืบหน้าของความหวังการได้เงินเยียวยาเพิ่มอีก 1 เดือน หรือการเปิดลงทะเบียนช่วยเหลือรอบที่ 2 หรือไม่นั้น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคนเดิม ระบุว่า มาตรการเยียวยาดังกล่าวอยู่ในกรอบความเห็นชอบตาม มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ที่ 16 ล้านราย โดยแบ่งเป็นผู้ที่ผ่านเกณฑ์ 15.1 ล้านคน และอีก 3 แสนคน เป็นผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ แต่คัดกรองแล้วเข้าข่ายได้รับสิทธิ โดยผู้ที่ลงทะเบียนโครงการเราไม่ทิ้งกันไม่สำเร็จ จำนวน 302,160 คน ซึ่งยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากโครงการต่างๆ ของรัฐ
ในขณะนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมายและกลไกความช่วยเหลือให้ชัดเจน ก่อนส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ พิจารณาใน 1 เดือน เพื่อนำไปสู่มาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยาต่อไป
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดการเยียวยา กลุ่มตกหล่นมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ทั้ง 302,160 รายนั้น จะไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาทต่อคน เหมือนกลุ่มผู้ลงทะเบียน 15.1 ล้านคนก่อนหน้านี้ เพราะลักษณะ และคุณสมบัติที่แตกต่างกัน
ขณะที่ กลุ่มผู้ร้องเรียนเยียวยา 2.2 ล้านราย ผ่านกรมประชาสัมพันธ์ ศูนย์ดำรงธรรมในพื้นที่จังหวัดต่างๆ และผ่านสาขาธนาคารของรัฐ ตอนนี้อยู่ระหว่างการประมวลความช่วยเหลือ โดยตรวจสอบพบว่าในจำนวนนี้กว่า 80 % เคยได้รับการเยียวยาจากภาครัฐแล้ว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีก 20 % กระทรวงการคลังกำลังมองหามาตรการช่วยเหลือต่อไป
ส่วนความสงสัยถึง การจะขยายเวลา หรือเพิ่มรอบลงทะเบียน มาตรการเยียวยาในโครงการเราไม่ทิ้งกันหรือไม่นั้น เบื้องต้นจะไม่ได้มีการเปิดโครงการใหม่ หรือขยายเวลาโครงการตามที่ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยออกมาพูดถึงเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 แล้ว
แต่สำหรับเหตุการณ์หลังจากนี้นั้น จะต้องขอประเมินสถานการณ์ก่อน เพื่อดูสถานการณ์หลังจากปลดล็อกเฟส 5 หากโดยภาพรวมสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ทางมาตรการอาจจะพิจารณาเพิ่มเติมลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันต่อไป