‘กรุงไทย’ชี้วิกฤติโควิด ฉุดสินเชื่ออสังหาวูบ
“กรุงไทย” เผย พิษโควิด-19 ฉุดสินเชื่อใหม่อสังหา ส่อหดตัวถึง 2 หลักตามยอดจองที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ที่ปรับตัวลดลง 12% ในช่วงไตรมาส 2 พร้อมแนะผู้ประกอบการเร่งบริหารสภาพคล่อง หวั่นโควิดรอบ 2 กดจีดีพีหลุดกรอบมากกว่า 12%
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า สินเชื่อใหม่เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปีนี้มีแนวโน้มลดลงตามยอดขาย(Pre Sale) ที่คาดติดลบ 2 หลักในปีนี้ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นอีกธุรกิจที่โดนผลกระทบค่อนข้างมากจากโควิด-19 โดยช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตเพียง 2% และผลกระทบน่าจะหนักขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้
สำหรับความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2563 พบว่า ถูกบั่นทอนลงมากจากโควิด-19 โดยผู้บริโภคไทยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะหดตัวรุนแรง(Deep Recession) ถึง 8.8% ส่วนผู้บริโภคต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ไม่สามารถซื้อ และ โอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในไทยได้ส่งผลให้ยอดจองที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจาก 20% ในไตรมาส 4 ปี 2562 มาอยู่ที่ 15% ในไตรมาส 1 ปี2563 และ มีโอกาสลดต่ำลงเหลือ 12% ในไตรมาสที่ 2 ปี2563
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ และ ปริมณฑลในปีนี้ มูลค่าลดลง 27% จาก 5.7 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา เหลือ 4.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์บ้านจัดสรร 2.4 แสนล้านบาท หดตัว 24% คอนโดมิเนียม 1.8 แสนล้านบาท ติดลบ 30% ส่งผลให้สต็อกเหลือขายในภาพรวมมีโอกาสขยายตัว 5% ขึ้นไปแตะ 185,000 ยูนิต แม้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะปรับลดการเปิดโครงการใหม่ลงเกือบ 40% จากปีที่ผ่านมาก็ตาม
สำหรับทางออกของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ การเลื่อนการก่อสร้างออกไป เพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี ถึงจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19
“ปัจจุบันสถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 3 ก็ไม่น่าจะดีขึ้นจากไตรมาส 2 ผู้ประกอบการต้องบริหารสภาพคล่อง ตุนเงินสด ยิ่งสถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ไม่เป็นใจด้วยแล้ว ผู้ประกอบการหันมาใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มากขึ้น แต่พอตลาดหุ้นกู้กลับมาปกติ ก็เริ่มเห็นผู้ประกอบการออกหุ้นกู้ หรือ ระดมทุนกันมากขึ้น"
ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ และ ภาคธุรกิจนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้แค่ไหนหลังการคลายล็อคดาวน์ ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือผ่านทางภาครัฐและธปท. สิ้นสุดลง
นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเป้าหมายจีดีพีในปีนี้ที่ -8.8% โดยไตรมาสที่ 2 น่าจะหดตัวลึกที่สุดไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่ยังไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะหดตัวลงไปได้มากกว่าคาดการณ์ไว้ซึ่งก็มองกรอบไว้ที่ประมาณ -8.8ถึง-12% ส่วนในปีนี้ประเมินเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ 6.1%เป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีความไม่แน่นอนสูง ขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่การท่องเที่ยวเริ่มกลับมามีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 16 ล้านคน จากปีนี้ที่ 8 ล้านคน รวมถึงการควบคุมการระบาดของโควิด - 19 และความคืบหน้าของการคิดค้นวัคซีน