“ซิลิคอนคราฟท์”ไมโครชิพสัตว์ สู่...ดิจิทัล เฮลท์แคร์
“ซิลิคอน คราฟท์” ไมโครชิพสัญชาติไทย ผู้ปลุกปั้นแบรนด์ไมโครชิพระบุตัวตนของสัตว์ในออสเตรเลียจนมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3 ของโลก มาสู่ไมโครชิพ ดิจิทัล เฮลท์แคร์ นิวเอสเคิร์ฟ ที่สร้างความยั่งยืนในอนาคต
มานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานด้านการออกแบบไมโครชิพใน ซิลิคอน วัลเลย์ มากว่า 12 ปีจนกระทั่งกลับเมืองไทยได้รวมตัวกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบวงจรรวม เปิดบริษัทออกแบบไมโครชิพภายใต้แบรนด์ ซิลิคอน คราฟท์ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาไมโครชิพสำหรับส่งสัญญาณบนคลื่นวิทยุ (RFID : Radio Frequency Identification) ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานเพื่อเป็นต้นแบบเริ่มจากรับผลิตให้กับโครงการของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการไมโครชิพในสัตว์เลี้ยง รวมทั้งสัตว์จากปศุสัตว์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ในระหว่างนั้นบริษัทได้รับการติดต่อจากฟาร์มปศุสัตว์ในประเทศออสเตรเลียให้ทำไมโครชิพสำหรับระบุตัวตนในสัตว์ (Animal Tag) เนื่องจากช่วงนั้นมีโรคระบาดในสัตว์ จนรัฐบาลต้องออกนโยบายให้มีการระบุตัวตนเพื่อใช้ในการตรวจสอบติดตามจึงหันมาโฟกัสตลาด Animal ID อย่างจริงจังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับ
“ปัจจุบันเราได้รับการยอดรับจากลูกค้าต่างชาติทัดเทียมกับคู่แข่งจากอเมริกา ยุโรป และจีนแล้ว โดยเฉพาะในออสเตรเลียถ้าเป็นไมโครชิฟซิลิคอน คราฟท์ จะได้รับการรับว่าเป็นแบรนด์ไทยที่มีศักยภาพและกลายเป็นมาตรฐานในตลาดAnimal IDจนได้รับการจ้างผลิตเพื่อทำไมโครชิพให้กับลูกค้าด้วยในลักษณะเอ็กซ์คลูซีฟ ”
หลังจากนั้น เริ่มพัฒนาไมโครชิพให้สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น จนปัจจุบันไมโครชิพของบริษัทแบ่งเป็น 4 กลุ่มตามการใช้งาน ได้แก่ 1.ไมโครชิพสำหรับระบุตัวตนในสัตว์ 2.ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ของยานยนต์ 3.ไมโครชิพสำหรับระบบเข้าออกสถานที่ และระบบอ่านข้อมูลสินค้า และ 4.ไมโครชิพที่มี NFC (Near Field Communication) ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลแบบไร้สายด้วยคลื่นความถี่ในระยะใกล้ สำหรับระบบฉลากอัจฉริยะเพื่อป้องกันการปลอมแปลงสินค้า หรือตรวจวัดค่าเซ็นเซอร์ต่างๆ
มานพ ระบุว่า ไมโครชิพ ใน 3 กลุ่มแรกเป็นโมเดลที่รองรับอุตสาหกรรมแบบดั่งเดิม ส่วนไมโครชิพกลุ่มที่ 4 จะเป็น ‘นิว เอสเคิร์ฟ’ ที่เกาะติดกับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ ซึ่งกำลังเข้าสู่ยุคของการทรานฟอร์มเทคโนโลยี และรองรับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า และสามารถเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ และเศรษฐกิจ โดยผ่านผลิตภัณฑ์และให้บริการด้านเฮลท์แคร์ เนื่องจากไลฟ์สไตล์ชีวิตคนปรับเปลี่ยนหลังจากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน การตรวจโรค หลังจากวิกฤติของโควิด -19 และ การเข้ามาของ5 G จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอัตรา‘เร่ง’เร็วขึ้น
"ขณะนี้เราอยู่ในสังคม Internet Data Centric ที่การวิเคราะห์ข้อมูล สามารถทำได้โดยนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาในการแปลงสัญญาณทางกายภาพออกมาวิเคราะห์ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น"
มานพ กล่าวว่า ไมโครชิพที่มี NFC (Near Field Communication) ‘จุดติด’ เพราะการเข้ามาของบริการจ่ายเงินผ่านมือถือที่เข้ามา “ทลายกำแพง” จึงเป็นจังหวะที่นำนวัตกรรมไมโครชิพที่มี NFC หลังจากบริษัทได้พัฒนานวัตกรรมตัวนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งความยากในการนำเสนอนวัตกรรมคือ ต้องสร้างการรับรู้ วิธีใช้ ผ่านสื่อต่างๆ ให้ผู้บริโภค และคู่ค้าในตลาดเข้าใจ รวมทั้งการสร้างฟังก์ชั่นในการงานใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีมาก่อนให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ โดยผ่านการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มบนมือถือ ซึ่งตอนนี้บริษัทยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังพัฒนาต่อไปอีกเรื่อยๆ ต่อไปถ้าสามารถเข้าไปอยู่ในตลาดสุขภาพและกลายเป็นมาตรฐานของการประยุกต์ใช้ในอนาคต จะเป็นโอกาสในการเติบโตแบบก้าวกระโดดและเติบโตแบบยั่งยืน
“แม้ว่าเมืองไทยจะไม่ใช่ประเทศที่ผลิตสินค้าไฮเทค แต่มีโอกาสในการขยายเข้าไปในตลาดดิจิทัล เฮลท์ และ เทเลเมดิซีนที่สามารถนำมาเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์เพื่อตรวจสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นความดัน คอเลสเตอรอล และน้ำตาล ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจและนักพัฒนาเซ็นเซอร์เพื่อสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการตรวจสุขภาพได้เองที่บ้าน อาทิ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจวัดปริมาณของแข็งที่แขวนลอยหรือละลายในน้ำ ตรวจวัดเชื้อโรคในสารคัดหลั่ง เป็นต้น”
มานพ กล่าวว่า บริษัทสามารถผลักดันกลายเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดได้ไม่ยาก เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งระบบสาธารณสุขและแพทย์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งสามารถนำมาเป็น ‘จุดขาย’ได้ ถ้ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยสนับสนุนและบ่มเพาะให้เกิดได้จริง เทคโนโลยีด้านดิจิทัล เฮลท์เทค ในประเทศไทยอาจจะเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้ไม่ยากถ้าเราปรับตัวได้ทัน และต่อจิ๊กซอว์ได้สำเร็จ
“ ในแง่ของการยอมรับแบรนด์สินค้าเทคโนโลยีสัญชาติเอเซียได้รับการยอมรับมากขึ้นทั้งจากแบรนด์มือจีน เกาหลี ญี่ปุ่นในสายตาลูกค้าทั่วโลก ว่ามีศักยภาพทัดเทียบกับยุโรป อเมริกา เพราะมีนวัตกร ที่คิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทัดเทียมกันและกลายเป็นเบอร์หนึ่งได้เช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่ไมโครชิพสัญชาติไทยจะได้รับการยอมรับในตลาดโลกและก้าวเป็นเบอร์หนึ่งในเฮลท์เทค”
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของซิลิคอน คราฟท์มาจากไมโครชิพสำหรับระบุตัวตนในสัตว์ 33-42% ไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ของยานยนต์ 25-38% ขณะที่ ไมโครชิพสำหรับระบบเข้าออกสถานที่ และระบบอ่านข้อมูลสินค้า 27-32% และไมโครชิพจาก NFC ประมาณ 2% คาดว่า 2- 3 ปีจากนี้ สัดส่วนของธุรกิจไมโครชิพที่ใช้เทคโนโลยี NFC จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
มานพ ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์ในแต่ละเซกเมนต์ของซิลิคอน คราฟท์ ยังคงเติบโต ไปตามอุตสาหกรรม โดย Animal ID เนื่องจากการระบาดของโรคต่างๆ ในสัตว์ จึงกลายเป็นภาคบังคับในการใช้ คาดว่าจะสามารถขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งด้านการออกแบบไมโครชิพตลาด Animal ID ในอีก 4 ปีข้างหน้าจากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งตลาด 20% ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมที่มีคุณภาพดีกว่าในราคาที่ถูกกว่าให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ขณะที่กลุ่มไมโครชิพสำหรับธุรกิจกุญแจสำรองรถยนต์ สามารถเติบโตได้จากการขยายตลาดเข้าไปในสหรัฐอเมริกาและจีนเพิ่มขึ้น ส่วนไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ และระบบอ่านข้อมูลสินค้า มีการเติบโตตามการใช้งาน ที่เพิ่มขึ้น
“การทำนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับ อย่ามองแค่ตลาดในประเทศ ต้องทำสินค้าที่สามารถแข่งได้ในตลาดโลก นวัตกรรมจะต้องให้ล้ำหน้าไป2-3 ปี มีคุณสมบัติเหนือกว่าสินค้าที่มีอยู่ในตลาด หรือดิสรัปของที่มีอยู่ในตลาดให้ได้ จึงจะได้รับการยอมรับ ”