รู้จัก 'ฝนราชการ' เพราะ 'ฝนตก' ตอนเลิกงาน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

รู้จัก 'ฝนราชการ' เพราะ 'ฝนตก' ตอนเลิกงาน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ทำความรู้จัก "ฝนราชการ" พร้อมเหตุผลที่บ่งชี้ว่า "ฝนตกตอนเลิกงาน" ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ในทุกครั้งที่เกิด "ฝนตกหลังเลิกงาน" คนกรุงรู้ดีว่า หลังจากนั้นสิ่งที่ตามมาอย่างแน่นอนคือ รถติด น้ำท่วม ไม่มีรถกลับบ้าน จนอดสงสัยบ่นฟ้าฝนไม่ได้ว่า ทำไมฝนถึงชอบตกหลังเลิกงาน เหมือนมาตามนัด

แม้จะมีคนตั้งคำถาม แต่ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เพราะมักจะถูกมองว่าเป็นแค่ "ความบังเอิญ"

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฝนตกหลังเลิกงาน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคชะตา หรือฟ้ากลั่นแกล้งอย่างที่หลายคนตัดพ้อ แต่สามารถอธิบายในตามหลักวิทยาศาสตร์ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุ และฝนที่มาเยี่ยมเยือนเราบ่อยๆ มีชื่อว่า "ฝนราชการ" 

  

  • "ฝนราชการ" คืออะไร?

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊คเกี่ยวกับ "ฝน" ที่มักจะตกในช่วงประมาณ 15.00 น. เป็นต้นไป มีชื่อเล่นว่า "ฝนราชการ" ซึ่งเป็นคำที่ไม่ได้เป็นทางการ แต่หมายความถึงฝนที่มักจะตกช่วงที่ใกล้เคียงกันทุกๆ วัน ซึ่งใกล้เคียงกับเวลาที่ "ข้าราชการ" เลิกงาน จึงเรียกว่าฝนราชการ

ลักษณะของฝนราชการนี้ จะเป็นฝนที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามฤดูกาล ยิ่งไปกว่านั้นการที่ฝนตกเวลาเดิม ใกล้เคียงกันแทบทุกวัน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่มีสาเหตุที่ซ่อนอยู่ ที่สำคัญคือทุกคนมีส่วนร่วมในสาเหตุนี้ไม่มากก็น้อย

  

"ฝนราชการ" เป็นคำที่ไม่ได้เป็นทางการ แต่หมายความถึงฝนที่มักจะตกช่วงที่ใกล้เคียงกันทุกๆ วัน ซึ่งใกล้เคียงกับเวลาที่ "ข้าราชการ" เลิกงาน จึงเรียกว่าฝนราชการ

     
  • "โดมความร้อน" หรือ "เกาะความร้อน" คือ สาเหตุที่ฝนจำเป็นต้องตกหลังเลิกงาน 
ฝนราชการ เป็นผลกระทบที่เกิดจากปรากฏการณ์ "โดมความร้อน" หรือ "เกาะความร้อนในเมือง (urban heat island)" ที่เปรียบเทียบก็คล้ายกับความทรงถ้วยคว่ำครอบเมืองไว้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มักเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก และหนึ่งในนั้นคือ "กรุงเทพมหานคร"

159902580876

สาเหตุที่ทำให้โดมความร้อนเกิดขึ้น คือมีตึกอาคารสูงรวมอยู่เป็นจำนวนมาก วัสดุที่ใช้ในสิ่งก่อสร้างต่างๆ มีคุณสมบัติเป็นตัวดูดซับความร้อนโดยตรงจากดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะวัสดุสีเข้ม เช่น สีดำ สีน้ำตาลและสีเทา ที่จะดูดซับพลังงานแสงทุกช่วงความยาวคลื่นและเปลี่ยนเป็นความ ทำให้อาคารร้อนขึ้นและทำให้อากาศในพื้นที่ใกล้เคียงร้อนมากขึ้นเช่นกัน

เมื่อผนวกเข้ากับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเมือง ที่มีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความร้อนต่อเนื่องทั้งวัน เช่น การเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นระยะเวลานาน และตั้งอุณหภูมิต่ำมากๆ เครื่องปรับอากาศจะดูดความร้อนในห้องออกไปสะสมไว้ด้านนอกอาคาร โดยความร้อนที่เกิดขึ้นจะลอยตัวสูงและแผ่ออกไปด้านข้างมีลักษณะเป็นโดมความร้อนครอบเมืองเอาไว้ ทำให้สภาพอากาศร้อนอบอ้าว

 
159903456299
 
เมื่ออากาศด้านนอกเคลื่อนที่เข้ามาปะทะจึงทำให้เกิดฝนตกในเขตปริมณฑล ซึ่งเป็นขอบของโดมความร้อนจากเมืองใหญ่ อุณหภูมิความร้อนภายในโดมความร้อนจะเริ่มเปลี่ยนแปลงลดลงในช่วงเวลาประมาณบ่ายสามโมง หรือราว 15.00 น. เป็นต้นไป เนื่องจากพระอาทิตย์ได้คล้อยต่ำลง ส่งผลให้ความชื้นในรูปไอความร้อนค่อยๆ ถูกปล่อยออกมา และเมื่อลอยตัวไปกระทบอากาศที่เย็นเหนือโดมความร้อนก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำตกลงมาเบื้องล่างกลายเป็นฝนตกลงมาให้ได้รู้จักชีวิตดีๆ ที่ลงตัวตามนัดอย่างที่หลายคนเคยสัมผัส

ทว่า ปรากฏการณ์นี้ ไม่ค่อยมีให้เห็นในชนบทนัก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงปกคลุมไปด้วยพืชพรรณ หญ้า ต้นไม้ และพื้นที่การเกษตรต่างๆ ซึ่งข้อดีของการมีพืชอยู่ในพื้นที่มากๆ พืชจะดูดน้ำจากพื้นดินผ่านทางราก จากนั้นเก็บน้ำไว้ที่ลำต้นและใบ น้ำจะเดินทางไปยังรูเล็กๆ ที่ด้านล่างของใบไม้ น้ำที่เป็นของเหลวจะกลายเป็นไอน้ำและถูกปล่อยออกสู่อากาศ กระบวนการนี้เรียกว่าการคาย ทำหน้าที่เป็นเครื่องปรับอากาศของธรรมชาติอยู่แล้ว 

 

  •  ฝนราชการ กำลังจะบอกอะไร 

ฝนราชการ หนึ่งในดัชนีที่สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมในสังคมเมืองได้อย่างดี เพราะมันคือผลลัพธ์ที่ตามมาจาก "โดมความร้อน" ที่ครอบพื้นที่เมืองซึ่งถูกใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และเอื้อวิถีชีวิตที่สะดวกสบายของสังคมมนุษย์มากอย่างหนักหน่วงมาอย่างยาวนาน

แม้ว่าโครงสร้างอาคารใหญ่โต รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ จะมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในเมือง แต่สักวันหนึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมากกว่าฝนตกหลังเลิกงาน ที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ตราบใดที่เรายังคงใช้ชีวิตเหมือนเดิม

ที่มา: ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี climatekids.nasa