สำรวจพันธุ์ปลาปูป่าต้นน้ำ บ้านกะเหรี่ยง'พุระกำ' ความหลากหลายที่กำลังจะหายไป
พบปลาดักแม่กลอง ที่หน้าตาคล้ายปลาดุก และปลาแขยงเขา ทั้ง 2 ชนิดบ่งบอกให้รู้ว่าคุณภาพห้วยน้ำและพื้นที่"ป่าพุระกำ" หมู่บ้านกะเหรี่ยงสวนผึ้ง เยี่ยมมาก แต่น่าเสียดายที่คนดูแลป่ากำลังจะถูกไล่ที่
ในการสำรวจพันธุ์ปลาบริเวณธารห้วยไหลเซาะมาตามป่าต้นน้ำพุระกำ หมู่บ้านกะเหรี่ยงสวนผึ้ง จ.ราชบุรี ระหว่างวันที่ 4-7 กันยายน 2563 ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญพันธุ์ปลา ได้ให้ความรู้ว่า ปลาที่พบในห้วยธารเขตป่าพุระกำนี้ โดยเฉพาะปลาดักแม่กลอง ที่หน้าตาคล้ายปลาดุก และปลาแขยงเขา ทั้ง 2 ชนิดบ่งบอกให้รู้ว่าคุณภาพห้วยน้ำและพื้นที่ป่าพุระกำ เยี่ยมสุด ดีสุด
ปลาดักแม่กลองกับปลาแขยงเขา เป็นเสมือนดัชนีบ่งชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์อย่างเยี่ยมยอดเป็นป่าชั้น 1 เพราะถ้าป่าพัง น้ำจะพังตามมา ปลา 2 ชนิดนี้ จะไปก่อนปลาอื่นๆ
ได้พบปลาดักแม่กลองในลำห้วยเขตป่าพุระกำ จึงบ่งชัดว่า คุณภาพน้ำที่นี่เยี่ยมสุด
ปลาปูหลากหลายพันธุ์
ในการเก็บตัวอย่างปลาหลากหลายชนิดจาก 3-4 ห้วยน้ำ กับเดินป่าลึกเข้าไปที่น้ำตกพุระกำ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ได้บันทึกภาพและชนิดปลาต่างๆโดยเฉพาะปลาสำคัญเฉพาะถิ่นแม่กลองที่ได้พบ เอาไว้ดังนี้
“สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น หรือ สิ่งมีชีวิตถิ่นเดียว (อังกฤษ: Endemic species, Endemism) หมายถึง สิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ ชนิดที่แพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในบริเวณเขตภูมิศาสตร์เขตใดเขตหนึ่งของโลก และเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเขตกระจายพันธุ์ทางภูมิศาสตร์ค่อนข้างจำกัด ไม่กว้างขวางนัก เช่น อาจจะพบตามระบบนิเวศต่าง ๆ เช่น บนเกาะ, ยอดเขา, หน้าผาของภูเขาหินปูน, แอ่งพรุ เป็นต้น ถิ่นที่อยู่ดังกล่าวมีสภาพจำกัดของสิ่งแวดล้อมหรือมีสภาพดินฟ้าอากาศเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัว ที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ
พบปลาและปูที่เป็นสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นของลุ่มน้ำแม่กลอง 7 ชนิดคือ ปลาแขยงเขา Batasio tigrinus,ปลาดักแม่กลอง Amblyceps variegatum,ปลาเลียหินสุรินบินนาน Garra surinbinnani,ปลาค้อเข็มขัดทอง Schistura crocatula,ปลาค้อปล้องแม่กลอง Schistura aurantiaca,ปูสวนผึ้ง Demanietta suanphung,ปูตะนาวศรี Thaipusa tennasserimensis
ในวันนี้ ดิฉันจึงขอนำภาพสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นทั้ง 7 ชนิด ที่ดร.ชวลิตสำรวจพบและถ่ายภาพไว้ มาให้ได้ชมกัน
ทีมสำรวจป่าสำรวจพันธุ์ปลาของพวกเรา ดักช้อนปลาต่างๆ ด้วยสวิง ใช้เพียงเครื่องมือพื้นบ้านยังสามารถได้ปลาสปีชีส์เฉพาะถิ่นลุ่มน้ำแม่กลองในลำน้ำพุระกำ ต้นน้ำภาชี มาหลากหลายชนิด คิดดูเถอะว่าป่าพุระกำสมบูรณ์ขนาดไหน
ป่าสมบูรณ์ถึงเพียงนี้ มิใช่จะมีเหลือได้ง่ายๆ ในแผ่นดินไทย ยังจะมาถูกกรมชลประทานยึดไปสร้างอ่างเก็บน้ำ ที่ข้าราชการไทยจะมาทำแบบนี้ใช้สมองคิดกันบ้างหรือเปล่า? หรือกำลังมี “วาระซ่อนเร้น” เช่นใดอยู่ล่ะนี่!
ผืนป่าดั้งเดิมของกะเหรี่ยงพุระกำ
เพราะริมเขื่อนริมอ่างเก็บน้ำที่ไหนๆ สิ่งที่โหมกระหน่ำตามมาหลังการสร้างเขื่อนนั้นก็คือ นายทุนกระเป๋าหนักที่จะมากว้านซื้อพื้นที่รอบเขื่อน ชายเขื่อน สร้างรีสอร์ทไว้พักผ่อน ไว้เป็นช่องทางกอบโกยหาเงินเข้ากระเป๋าซะอีกแน่ะ
ที่ไหนๆ ก็เป็นมันแต่แบบนี้ ตัวอย่างมีรอบตัว ทั่วประเทศ คนกินข้าวมีทั่วประเทศ เราไม่ได้กินฟางนะคะ เราเห็นทิ่มแทงลูกตามาตลอดหลายสิบปีแล้วค่ะ
อ้างแต่เรื่องการจัดการน้ำ จนป่าต้นน้ำพังไปทั้งประเทศ เสียหายมาเท่าไหร่แล้ว ยังจะสร้างความเสียหายไม่ยอมหยุดอีกหรือ วัวควาย ไถนาเสร็จดำนาเสร็จ ชาวบ้านไทยโบราณยังต้อนขึ้นให้ไปหากินบนภูเขา ไม่ไปเดือดร้อนลุยกินต้นข้าวอ่อนในนาของใคร เขาเอื้อเฟื้อดูแลชาวบ้านเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี ไม่มีไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร
กระทั่งพื้นที่พระราชทานอย่างพุระกำ กระทั่งกะเหรี่ยงลูกหลานกะเหรี่ยงกองเสือป่าแมวเซาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่เคยร่วมตั้งชาติไทยมา จะเดือดร้อนแค่ไหน จะถูกเขี่ยกระเด็นระเนระนาด ไปมีชีวิตพังพินาศอยู่ชายขอบไหน คนเล็กคนน้อยติดขี้ดินขี้ทราย เป็นแค่เม็ดกรวด ใครจะมาสนใจ !!
เพราะแม้กระทั่ง บ้าน-ป่าพุระกำจะเป็นพื้นที่ที่สมเด็จพระราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้กะเหรี่ยงอยู่ดูแลป่า มีหลายโครงการพระราชดำริมาช่วยอุ้มชูชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่นี้ ยังกำลังจะถูกยึด ถูกปล้น ถูกละเมิด จากความตั้งใจของ “ข้า-ราชการ” ได้อย่างหน้าเฉย-ตาเฉย!
ทีมสำรวจพันธุ์ปลาจึงต้องเข้าไปดูสัตว์ในป่าพุระกำ เพราะโดยธรรมชาติของการเรียนรู้ด้วยจิตที่ฝึก “ดู” มาตลอด มันจะพาไปสู่การ “ดูสัตว์เห็นคน ดูคนเห็นสัตว์”
ในช่วง 4-5 วันของการสำรวจพันธุ์ปลา ทีมของเรายังได้เข้าไปในพื้นที่หมู่บ้านพุระกำ เข้าไปในป่าต้นน้ำพุระกำ ไปเจอต้นสะปุง สูงใหญ่ในป่า มีรอยเล็บหมี 5 เล็บข่วนแคว้กทิ้งหลักฐานเป็นเขตหากินของพี่หมี น้องหมี แม่หมี พ่อหมี เอาไว้
..................
เรื่องอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ