ธปท.ไฟเขียว‘พีโลนดิจิทัล’เคาะวงเงินไม่เกิน' 2 หมื่นบาท'
“แบงก์ชาติ” ไฟเขียว “สินเชื่อบุคคลดิจิทัล” เคาะวงเงินไม่เกินรายละ 2 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยรวมค่าฟีไม่เกิน 25% เปิดทางแบงก์นำข้อมูลการจ่าย “ค่าน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์-ช้อปออนไลน์” เป็นข้อมูลวิเคราะห์การปล่อยกู้ได้ หนุนอาชีพอิสระเข้าถึงแหล่งเงินกู้ง่ายขึ้น
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้มีการออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) โดยเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องใช้ข้อมูลทางเลือก เช่น การชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รายได้หรือพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์ ในการประเมินความสามารถหรือความเต็มใจในการชำระหนี้
ทั้งนี้ ธปท. ได้กำหนดเกณฑ์การให้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล แก่ผู้บริโภครายละไม่เกิน 20,000 บาท โดยกำหนดระยะเวลาชำระคืนแต่ละสัญญาไม่เกิน 6 เดือน ไม่จำกัดวัตถุประสงค์การกู้ยืม และกำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมกันไม่เกิน 25% ต่อปี
สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลนี้ จะช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และกลุ่มที่ไม่มีทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกัน สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลทางเลือกต่าง ๆ ในการให้บริการ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงช่วยสร้างข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ในระบบการเงินให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการใช้บริการทางการเงินอื่น ๆ ในอนาคต
นายชาลี อัศวธีรธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Data ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ธปท.ออกมา ไทยพาณิชย์ได้มีการศึกษาแนวทางตลอดจนเตรียมความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี โดยปัจจุบันธนาคารมีศักยภาพและขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าในหลากหลายมิติและวิเคราะห์ในเชิงลึก เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่โฟกัส ได้แก่ กลุ่มลูกค้ารายย่อยของธนาคาร (exiting client) และธนาคารคาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีสินเชื่อดิจิทัล (digital lending) อยู่ที่ประมาณ 70,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ต้องพิจารณาและติดตามสถานการณ์สภาวะเศรษฐกิจรวมถึงแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด
ด้านนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL กล่าวว่า เชื่อว่า การปล่อยสินเชื่อบุคคลดิจิทัล จะช่วยให้การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ที่หลากหลาย อีกทั้งยังกระตุ้นให้แบงก์สามารถนำข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงินมาใช้ประกอบและพิจารณาสินเชื่อในระยะข้างหน้า ซึ่งถือเป็นการยกระดับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในระยะข้างหน้า เช่นเดียวกันกับธนาคาร ที่อยู่ในขั้นตอนของการศึกษา และพัฒนาช่องทางการให้บริการบนดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้เข้าถึงบริการที่หลากหลายมากขึ้นด้วย
นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เชื่อว่าการปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เป็นสิ่งที่ดีกับผู้กู้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่ประจำ และพิสูจน์รายได้ได้ยาก ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้แบงก์สามารถนำข้อมูลอื่นๆมาพิจารณาที่หลากหลายขึ้น เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนให้การปล่อยกู้ผ่านดิจิทัลเพิ่มขึ้นด้วย จากปัจจุบันที่การให้กู้ส่วนใหญ่ยังยึดอยู่กับข้อมูลทางการเงินและทรานเซกชั่นเบสผ่านสถาบันการเงินเท่านั้น ดังนั้นธนาคารก็ต้องศึกษาในการเข้าไปให้สินเชื่อในลักษณะนี้ด้วยในอนาคต