ธปท.จ่อรื้อกฎ“ฟันด์โฟลว์”อุ้มบาท

ธปท.จ่อรื้อกฎ“ฟันด์โฟลว์”อุ้มบาท

 ธปท.เตรียมผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้าย หนุนเงินทุนไหลออก จ่อคลายเกณฑ์ลงทุนต่างประเทศให้รายย่อยลงทุนเสรี หวังลดแรงกดดันค่าเงินบาท  

 นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างการผ่อนคลายหลักเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อหนุนให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงผ่านการออกไปลงทุนต่างประเทศในรูปแบบเดียวกันกับที่ ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ดำเนินการ เพราะเป็นประเทศที่เกินดุลสูง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาท

การผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพื่อหนุนให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ จะดำเนินการได้ทั้ง การเปิดเสรีให้รายย่อยสามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้เป็นการทั่วไป รวมถึงการลดเงื่อนไขเปิดบัญชีเงินตราต่างประเทศ เช่นการขยายเพดานการเปิดบัญชี ให้สามารถโอนเงินในบัญชี FCD ระหว่างกันในประเทศ และหากไม่มีภาระหรือธุรกรรมรองรับก็สามารถเปิดบัญชี FCD ได้ นอกจากนี้อาจมีการดึงสินทรัพย์ต่างประเทศเข้ามาซื้อขายในประเทศ ให้รายย่อยหรือนักลงทุนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วย 

“โลกยุคใหม่ การให้คนออกไปลงทุนต่างประเทศจะช่วยกระจายความเสี่ยง ให้เขามีเครื่องมือในการป้องกันและบริหารความเสี่ยง การผ่อนคลายเกณฑ์ตรงนี้ก็ช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ด้วย การผ่อนเกณฑ์เหล่านี้จะออกมาเป็นเฟสๆ ต้องแล้วแต่ไทม์มิ่งที่เหมาะสม ที่จะเห็นก่อนคือต้นปีหน้า”

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า เนื่องจาก 2 ปัจจัย คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะเกินดุลน้อยลง โดยเฉพาะปี 2563-2564 ที่คาดการเกินดุลจะไม่ถึง 3% หากเทียบกับปี 2560-2562 ที่การเกินดุลถึง 7 % และ การค้า การนำเข้าการลงทุน การท่องเที่ยว อยู่ในทิศทางหดตัว ทำให้ธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่มาจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ลดลง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไทยต้องเผชิญคือ ผลจากการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี) โดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ทำให้มีสภาพคล่องทั่วโลกสูงมาก ดังนั้นเงินทุนที่ไหลเข้ามาจากการทำคิวอี จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการต้องระมัดระวังการผันผวนของค่าเงินบาท 

ขณะที่นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย การผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายของธปท. เชื่อว่าจะช่วยเยียวยาและลดความไม่สมดุลด้านเศรษฐกิจให้ลดลงได้ และช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ 

“เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา มีการพึ่งพาต่างประเทศสูง ทั้งท่องเที่ยว ส่งออก ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดความไม่สมดุลด้านเศรษฐกิจ และแนวโน้มเงินบาทแข็งค่า การคลายเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้าย ก็เพื่อเปิดประตู ทั้ง 2 บานให้เท่ากันทั้งเงินไหลเข้าและไหลออก”