ม็อบดาวกระจาย ยุทธการปั่นหัว ‘ประยุทธ์’

ม็อบดาวกระจาย  ยุทธการปั่นหัว ‘ประยุทธ์’

สิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้ คือการยืนระยะของผู้ชุมนุมว่าจะสามารถเคลื่อนไหวต่อเนื่องได้ยาวนานแค่ไหน และจะสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนตอบสนองข้อเรียกร้องได้จริงหรือไม่

ปรากฎการณ์ดาวกระจายของม็อบคณะราษฎร นับว่าแตกต่างจากม็อบสีเสื้อต่างๆ ในอดีต อย่างสิ้นเชิง ทั้งองค์ประกอบการจัดตั้งมวลชน รูปแบบเวทีปราศรัย อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการชุมนุม เช่น มือตบ ตีนตบ หรือนกหวีด ที่ม็อบในวันนี้แทบไม่เห็นอะไรทำนองนั้นแล้ว และที่สำคัญการชุมนุมสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แม้จะไร้แกนนำที่ชัดเจน

นับตั้งแต่13ต.ค.เป็นต้นมา แกนนำการชุมนุมตัวหลักถูกตำรวจทยอยควบคุมตัวไปทีละคน แต่การชุมนุมกลับเคลื่อนต่อไปได้ในแบบของมัน เมื่อทุกคนสามารถเป็นแกนนำ สามารถลุกขึ้นปราศรัย สามารถที่จะนัดหมายสถานที่ชุมนุมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีอิทธิพลอย่างมากในการผนึกผู้ชุมนุมให้รวมตัวกันได้

ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย จึงเกิดขึ้นตามมา พร้อมๆ กับคำว่า "แกง" ศัพท์การเมืองวัยรุ่น ที่หมายถึงการ "แกล้ง" นั้น เกิดขึ้นชัดๆ ในวันที่ 16 ต.ค. เดิมที่มีการนัดหมายการชุมนุม "แยกราชประสงค์" ทางตำรวจที่ถืออำนาจ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กทม. ก็จัดแจงระดมกำลัง ลวดหนาม ปิดพื้นที่ สุดท้ายผู้ชุมนุมก็ไม่ดึงดัน ประกาศย้ายสถานที่ไป "แยกปทุมวัน" แบบทันทีทันใด ตั้งแต่นั้นมา คำว่า "แกง" ก็ถูกพูดถึงอย่างคึกคักในสังคมออนไลน์ที่แกล้งให้ตำรวจต้องรอเก้อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

วิเคราะห์ก้าวที่พลาดของ 'ประยุทธ์' แก้ปมม็อบราษฎร

การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่เรียกว่าดาวกระจาย หรือแฟลซม็อบเต็มรูปแบบ เกิดขึ้นในวันที่ 17 ต.ค. มีการนัดหมายใน3จุด ของกทม. คือ 5 แยกลาดพร้าว อุดมสุข และวงเวียนใหญ่ ทำให้การรับมือของตำรวจเป็นไปยากลำบาก เพราะม็อบมีความคล่องตัว เคลื่อนย้าย หรือเข้าออกอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี มีรายงานว่าทางแกนนำผู้ชุมนุมที่ทำหน้าที่แจ้งจุดนัดหมายในแต่ละวันผ่านเพจเฟซบุ๊คหลักๆ จะคอยติดตามท่าทีของฝ่ายรัฐว่ามีคำสั่งใดๆ ออกมา เช่นเมื่อ 18 ต.ค. มีคำสั่งให้ปิดสถานีรถไฟฟ้าบางส่วน ทางแกนนำก็จะตัดสินใจเลือกสถานที่ชุมนุมในจุดที่สามารถเดินทางไปได้ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถือเป็นการแก้ทางกันแบบช็อตต่อช็อต นอกจากนี้ มีการเล่ากันว่า บางครั้งแกนนำตัดสินใจกันแบบเร่งด่วนเพียง 5 นาที เพื่อเลือกจุดหมายการชุมนุม ก่อนแจ้งผ่านเพจเฟสบุ๊ค

ขณะเดียวกัน น่าสนใจว่า การเคลื่อนไหวในรูปแบบดาวกระจาย นั้นสร้างปรากฎการณ์ทางการเมือง ชิงพื้นที่ข่าวทั้งในสื่อหลัก สื่อรอง สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ที่มีเครื่องมือสำคัญคือ สื่อออนไลน์ ซึ่งต้องยอมรับว่าทางการยังไล่ตามไม่ทันเท่าที่ควร

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้ คือการยืนระยะของผู้ชุมนุมว่าจะสามารถเคลื่อนไหวต่อเนื่องได้ยาวนานแค่ไหน และจะสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนตอบสนองข้อเรียกร้องได้จริงหรือไม่

ดูรูปเกมแล้ว แม้ทางผู้ชุมนุมจะเปิดเกมรุกไล่รัฐบาลเต็มสูบขนาดไหน สรรพกำลังและองค์ประกอบในหลายมิตินั้นต้องยอมรับว่ามีศักยภาพไม่เทียบเท่ากับฝ่ายรัฐ ที่ถือกฎหมายในมืออยู่แล้ว และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ม็อบจะยุบยวบไปเองหรือไม่ หรือในทางกลับกัน หากเกมยืดเยื้อจะสามารถขยายแนวร่วมในวงกว้างกว่าเดิม เป็นสิ่งที่ไม่มีใครให้คำตอบได้

ที่สำคัญ ในทางการเมือง การชุมนุมขับไล่รัฐบาลแทบจะไม่มีครั้งไหนที่สามารถล้ม "รัฐบาล" ลงได้จริง ถ้าไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนอื่นเข้ามาสนับสนุน แต่อย่างน้อย การออกมาเคลื่อนไหว ย่อมสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ "รัฐบาล" ค่อยๆ เป็นการขยายแผล จนไม่มีสมาธิบริหารงาน หรือทำอะไรได้ไม่ราบรื่น