อย่าเข้าใจผิด ยังไม่ปลดล็อกกัญชา-กัญชงจากยาเสพติดทั้งหมด
อย.ย้ำปลดล็อกกัญชา-กัญชงเฉพาะส่วน ไม่รวมช่อดอก-เมล็ดกัญชา ยังควบคุมเป็นยาเสพติด เว้นใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จะปลูก-สกัด-ผลิตยังต้องขออนุญาต
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวภายหลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2563 เป็นต้นไป ว่า ตามที่มติคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2563 จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาะรณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อปลดล้อกส่วนของกัญชาและกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติดนั้น ซึ่งท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศดังกล่าวและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2563
นพ.ไพศาล กล่าวว่า อย.ขอย้ำถึงรายละเอียดของประกาศว่า เป็นการปลดล็อกส่วนของกัญชา และกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ยกเว้นช่อดอก และเมล็ดกัญชา ทั้งนี้ เนื่องจากตามอนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศยังควบคุมเป็นยาเสพติด แต่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อย่างไรก็ตาม หลักๆของการปลดล็อกจากยาเสพติดคือ 1.ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก ไม่เป็นยาเสพติด 2.เมล็ดกัญชง น้ำมัน สารสกัด เมล็ดกัญชง 3.สารสกัด CBD และในส่วนสาร THC ต้องไม่เกิน 2% ส่วนที่ยังเป็นยาเสพติด ขอย้ำว่า ช่อดอกกัญชาและกัญชง รวมทั้งเมล็ดกัญชายังไม่ปลดล็อกจากยาเสพติด
“การปลูก สกัด และผลิต ทั้งหมดยังต้องขออนุญาตจาก อย. ตามพ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 ระบุผู้มีคุณสมบัติขออนุญาต คือ หน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย เป็นต้น โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐตามเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนปลูก สกัด ผลิตยังต้องขออนุญาต แต่หลังจากนั้นพวกวัตถุดิบที่เหลือ ยังเปลือก ลำต้น เส้นใย ฯลฯ ที่ปลดล็อกแล้วสามารถนำไปผลิตเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆได้ โดยผู้ที่จะนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปใช้จะต้องนำมาจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูก สกัด ผลิตเท่านั้น ซึ่งก็จะมีเลขที่อนุญาต หรือสอบถามทาง อย.ได้ว่า ใครได้รับอนุญาต” นพ.ไพศาล กล่าว
ด้านภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า การปลูกกัญชาและกัญชงยังต้องขออนุญาตตามกฎหมายยาเสพติด แต่เมื่อปลูกไปแล้วส่วนที่มีสาร THC ต่ำ ไม่เป็นอันตราย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องทำลายทิ้ง โดยผู้ขออนุญาตจะต้องแจ้ง อย.ว่าจะนำส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดไปใช้ประโยชน์อย่างไร ส่วนการนำกัญชาไปใช้จะต้องได้มาจากผู้รับอนุญาตที่ถูกกฎหมาย โดยตรวจสอบได้จาก www.fda.moph.go.th หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่โทรศัพท์ 1556 กด 3
“ส่วนที่ปลดล็อกจากยาเสพติดสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ใบ ทำเป็นชา หรือสครับผิวในเครื่องสำอาง แชมพูและสบู่ ส่วนราก ก็สามารถนำมาสับเป็นผงขัดผิว หรือยาสมุนไพร ส่วนกิ่งก้าน ยังเป็นตำรับยาแผนไทย เป็นต้น” ภญ.สุภัทรา กล่าว