ส.อ.ท.หารือผล'ล็อคดาวน์'วันนี้ ยกระดับดูแลโรงงานสมุทรสาคร
เอกชน เข้มมาตรการป้องกันโควิด ส.อ.ท.นัดหารือวันนี้ ยกระดับการดูแลโรงงาน สรท.หวั่นระบาดขยายวง ชี้ระยะสั้นไม่กระทบส่งออก
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันที่ (21 ธ.ค.) ส.อ.ท.จะประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยในเบื้องต้นโรงงานในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดอื่นที่มีการระบาดของโควิด-19 ต้องตรวจสอบคนงานที่เข้าทำงานอย่างเข้มงวด ต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุม เช่น การรักษาระยะห่างภายในโรงงาน การล้างมือด้วยเจลออลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ การใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น
รวมทั้งให้บุคลากรที่ไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานในโรงงานให้ทำงานผ่านออนไลน์ที่บ้าน (work from home) เป็นต้น และผู้ที่เข้าออกโรงงานทุกคนจะต้องสแกนคิวอาร์โค้ด "ไทยชนะ" เพื่อเป็นฐานข้อมูลบุคคลเข้าออกโรงงานที่ชัดเจนตรวจสอบย้อนหลังได้ง่าย
สำหรับการระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีนี้ โรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบน้อยมาก โดยแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในโรงงาน จะเป็นแรงงานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ผ่านการตรวจสอบจากกระทรวงสาธารณสุขและมีประกันสังคม
รวมทั้งส่วนใหญ่โรงานจะจัดหาที่พักให้เป็นสัดส่วนไม่แออัด และมีมาตรการตรวจเช็คก่อนเข้าโรงงาน โดยการระบาดครั้งใหม่นี้จะนำมาตรการที่เข้มงวดกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งมีแผนที่จะประสานงานกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาปูพรมตรวจโควิด-19 แรงงานในโรงงานที่มีความเสี่ยง ซึ่งมั่นใจว่ามาตรการที่ได้ออกมาแล้ว และที่กำลังจะออกเพิ่มในอนาคตจะทำให้โรงงานปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบนี้ และไม่กระทบต่อกำลังการผลิตของประเทศ
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ระยะสั้นไม่กระทบต่อการส่งออก ซึ่งสมุทรสาครประกาศล็อคดาวน์ในลักษณะป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการคุมการเข้า-ออกของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ขณะที่โรงานยังคุมเข้มมาตรการป้องกันได้ดีและระบบโลจิสติกส์ไม่ติดขัดสามารถเดินได้ปกติคาดว่าไม่กระทบ
สิ่งที่เฝ้าระวัง คือ การระบาดขยายวงหรือไม่ ถ้าหากกระจายไปและมีการติดเชื้อในโรงงานเหมือนโรงงานผลิตถุงมือยางที่มาเลเซียจนต้องปิดโรงงานจะกระทบแน่ ซึ่งไม่อยากเห็นภาพแบบนั้น ดังนั้นต้องควบคุมให้อยู่วงจำกัดและจบในพื้นที่ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 500 คน ในช่วงสั้นถือว่าเร็ว ซึ่งแสดงว่าการ์ดตกและถ้าทุกคนป้องกันเหมือนเดิมก็ไม่น่าจะมีปัญหา
ทั้งนี้ จ.สมุทรสาคร มีจีดีพีอันดับ 2 ของประเทศ มีโรงงานผลิตนำเข้าและส่งออก โดยเฉพาะอาหารทะเลสดและแปรรูปจำนวนมาก และมีแรงงานต่างด้าวมาทำงานจำนวนมาก แต่ละโรงงานมีมาตรการคุมเข้มป้องกันโควิด-19 ในโรงงาน อีกทั้งในช่วงการแพร่ระบาดในรอบแรกได้มีแรงงานต่างด้าวกลับประเทศจำนวนมาก บางส่วนกลับมาหลายโรงงานหลีกเลี่ยงการรับแรงงานต่างด้าวเพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงงาน เพราะหากว่าติดเชื้อในแรงงงานโรงงานจะน่ากังวล แต่สถานการณ์ปัจจุบันติดเชื้อนอกโรงงาน ดังนั้นต้องตรวจเข้มที่พักของแรงงานต่างด้าว
“ได้สอบถามผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาครได้รับผลกระทบหรือไม่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบต้องรอประเมินอีกสัก 1-2 วัน เบื้องต้นประเมินว่ายังไม่กระทบต่อการส่งออกเพราะระบบโลจิสติกส์ยังเดินได้ปกติ และโรงงานยังสามารถผลิตได้ ผู้ที่ติดเชื้อเกิดจากภายนอกโรงงานก็ต้องเฝ้าระวังไม่ได้แพร่กระจายเข้ามาในโรงงานได้ เชื่อว่า อุตสาหกรรมอาหารมีมาตรการคุมเข้มอยู่แล้ว โดยเฉพาะอาหารทะเล”
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงให้ความสำคัญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะความปลอดภัยและสุขอนามัยในสินค้าประมงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมาโดยตลอด ซึ่งได้เข้มงวดมาตรการในการควบคุมและตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำก่อนถึงมือผู้บริโภคเพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด
สำหรับสัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยงจะต้องได้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) ส่วนที่มาจากการทำประมงต้องผ่านการประเมินสุขอนามัยบนเรือประมง อีกทั้งสุ่มตรวจสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่วางจำหน่ายในท้องตลาดโดยใช้ชุดทดสอบต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้ติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มเกษตรกรและชาวประมง เช่น การคัดกรองลูกเรือประมงและคนประจำเรือในช่วงเวลาเข้า-ออก ณ ท่าเทียบเรือประมงทุกแห่ง การกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของโควิด-19 ในแรงงานโรงงานแปรรูป
รวมทั้งหารือกับสมาคมต่างๆ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ความใส่ใจสุขอนามัยและความปลอดภัยการผลิตสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อลดความเสี่ยงการระบาด ซึ่งมั่นใจว่าลูกเรือและคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมสัตว์น้ำได้ผ่านการคัดกรอง และไม่มีผู้ได้รับ เชื้อโควิด-19 อย่างแน่นอน
ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ในสัตว์น้ำนั้น กรมประมง ขอชี้แจงว่าไม่มีรายงานการพบโรคโควิด-19 ในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแต่อย่างใด