โควิด + ไข้หวัดใหญ่ เพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

โควิด + ไข้หวัดใหญ่ เพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ในปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการระบาดทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 นอกจากความเสี่ยงที่จะติดโรคใดโรคหนึ่งแล้ว ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อร่วมกัน (co-infection) ได้ ทำให้มีอาการรุนแรง เกิดอาการแทรกซ้อน และทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากยิ่'งขึ้น

สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ปี 2563 จากกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 28 พฤศจิกายน 2563 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 119,300 ราย คิดเป็นอัตรา 179.44 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคยังคงพบในเด็กเล็กกลุ่มอายุ 0–4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5–14 ปี ขณะที่ ในจำนวนดังกล่าวนี้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A ทั้ง 4 ราย มีอายุระหว่าง 36–77 ปี โดยร้อยละ 75 มีประวัติโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย ร้อยละ 50 มีภาวะอ้วน มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 และพบว่าร้อยละ 50 ไม่มีประวัติการรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มาก่อน  

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมศึกษาไข้หวัดใหญ่ และนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายในงานเสวนา ความสำคัญของการป้องกันไข้หวัดใหญ่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดย มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ณ โรงแรมนารายณ์ ว่าไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ระบาดในทุกๆ ปี โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว สำหรับเดือน ธ.ค. 63 ไทยพบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่าโควิด-19 ถึง 28 เท่า พบผู้เสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่ ถึงร้อยละ 2 ทั่วโลก อีกทั้ง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมด้วย จึงมีความน่ากังวลเพิ่มมากขึ้น เพราะอาการของทั้งสองโรคคล้ายคลึงกัน

160857313112

ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งแตกต่างจาก ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียงเล็กน้อย คือ ผู้ป่วยโควิด-19 มีน้ำมูกไม่เยอะ มีการแพร่กระจายสู่ผู้อื่นจากการสัมผัสน้ำมูกหรือเสมหะเมื่อมีการไอและจามเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในการจำแนกเชื้อ คือ การตรวจทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น  

“จากการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน พบว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้ออื่นๆ แทรกซ้อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20-80 และการติดเชื้อร่วมกันกับโควิด-19 พบว่า เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการติดเชื้อร่วมกันนั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 29-55 ซึ่งกรณีติดเชื้อร่วมกัน ที่ผ่านมา มีการพบในประเทศจีนในช่วงหน้าหนาวที่โควิด-19 ระบาด”

“ไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันได้ กลุ่มเสี่ยง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ “เสี่ยงเป็น” ได้แก่ กลุ่มเด็กไปโรงเรียน บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มคนทำงาน สำหรับ “เสี่ยงตาย” ได้แก่ ผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน เสี่ยงเป็นไม่มาก แต่เป็นกลุ่มเสี่ยงตายสูงสุด เพราะอายุมาก มีโรคประจำตัว” รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

160857312835

ทั้งนี้ หนึ่งในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ คือ วัคซีน ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ “วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์” และ “วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์” ครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A ทั้ง H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์ B ทั้งตระกูล Victoria และ Yamagata ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ดีขึ้น จึงควรได้รับการฉีดเป็นประจำทุกปี โดยช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) และก่อนฤดูหนาว (เดือนตุลาคม) เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่

ปัจจุบัน ภาครัฐได้มีการจัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ราว 4 ล้านโดส ให้แก่ 7 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป , เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี , ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง , ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป , ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ , ธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และโรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร) ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีไม่เสียค่าใช้จ่าย  เพื่อลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อน และลดโอกาสการสูญเสียชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนสำหรับ บุคลากรทางการแพทย์ 4 แสนโดส , วัคซีนของภาคเอกชนราว 3 ล้านโดส , และประกันสังคม สำหรับ ผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป ราว 2 ล้านโดส

“ศ.นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร” หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เกิดภาวะพึ่งพาด้านสาธารณสุขมากขึ้น ดังนั้น การให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุและการป้องกันโดยการฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยบรรเทาการเจ็บป่วย ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลได้ 

160857312872

   

ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อโดยการหายใจหรือการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อทั่วไปอาการมักไม่รุนแรง แต่หากเกิดในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หอบหืด ถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ อาจมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ทำให้ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังควรฉีดวัคซีนแก่บุคคลซึ่งใกล้ชิดกับผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว เพราะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงเมื่อตนเองป่วยเช่นกัน

นพ. วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครสูง หัวหน้าเขตตรวจราชการ 3 กล่าวว่า  กรุงเทพมหานครมีมาตรการดูแลป้องกันอย่างเข้มข้น โดยมีการเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงมีแนวทางตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา

และได้จัดตั้งคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจในทุกศูนย์บริการสาธารณสุข (ARI Clinic) คัดกรองผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจทั้งหมด ไม่ให้เข้าไปในตัวอาคารของสถานพยาบาล เพื่อลดการแพร่เชื้อทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 และโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ อีกทั้งได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโรคที่มากับฤดูฝน ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

160857312945


นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีน จำแนกได้ 7 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และโรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร)

ซึ่งได้รับการจัดสรรวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนจองสิทธิ์ล่วงหน้าเพื่อขอรับการฉีดวัคซีนผ่าน Line : @ucbkk สร้างสุข ซึ่งได้กำหนดเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 3 สายพันธุ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา สามารถไปรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ทั้ง 68 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

160857312980

 

“การเข้าถึงวัคซีนเป็นประเด็นใหญ่ในเขตเมืองอย่าง กทม. โดยใน 7 กลุ่มเป้าหมาย หนึ่งในนั้นคือ “ผู้สูงอายุ” ขณะเดียวกัน ในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่ยังพบว่า กลุ่มที่เข้าถึงวัคซีนค่อนข้างยาก คือ ผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียง ซึ่ง กทม. ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงพยายามผลักดันการเข้าถึงวัคซีนของกลุ่มนี้ ผ่านหน่วยปฐมภูมิ เนื่องจาก กทม. มีประชากรค่อนข้างมาก ดังนั้น หากการเข้าถึงวัคซีนไม่เพียงพอ จะมีการเสนอทางผู้บริหาร เพื่อให้มีการจัดซื้อวัคซีนเพิ่มในครั้งต่อไป” นพ. วงวัฒน์ กล่าว

160857313347