รู้จัก ‘ล็อกดาวน์’ คำฮิตยุคโควิด-19 กับความหมายที่ ‘ไม่ตายตัว’

รู้จัก ‘ล็อกดาวน์’ คำฮิตยุคโควิด-19 กับความหมายที่ ‘ไม่ตายตัว’

ขณะนี้ คำว่า “ล็อกดาวน์” หรือ “ปิดพื้นที่” เป็นคำฮิตในเกือบทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ล่าสุดมีบางจังหวัด เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ ประกาศปิดพื้นที่เสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการสกัดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

ในขณะที่โรคโควิด-19 แพร่ลุกลามไปทั่วทุกมุมโลก รวมถึงทวีปสุดท้ายที่ถูกไวรัสนี้เจาะอย่างแอนตาร์กติกา คำว่า “ล็อกดาวน์” (Lockdown) ก็ถูกใช้และพูดถึงอย่างกว้างขวางทั่วโลกเช่นกัน และแต่ละที่ใช้คำ ๆ นี้ในบริบทที่แตกต่างกันออกไป

คำว่าล็อกดาวน์ เริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ต้นตอการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะนั้น รัฐบาลจีนสั่งปิดเมือง คนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า ตัดการคมนาคมสาธารณะทั้งหมด บริษัท ห้างร้าน สถานที่ต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวันถูกปิดหมด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา เปิดทำการได้ แต่ปิดบริการเร็วกว่าปกติ

 

  • ล็อกดาวน์ของเราไม่เท่ากัน

ปัจจุบัน รัฐบาลหลายประเทศยังมีแนวทางล็อกดาวน์แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ มาตรการมีตั้งแต่จำกัดการเดินทาง ปิดสนามบิน ปิดพรมแดนอย่างสิ้นเชิง

ส่วนการควบคุมคนในประเทศ ประกอบด้วย ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ปิดบริการทุกอย่างยกเว้นที่จำเป็น (ร้านอาหาร ร้านยา ธนาคาร) ห้ามจัดกิจกรรมที่คนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เว้นระยะห่างในการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

หลายประเทศรวมถึงไทย ต่างใช้ทับศัพท์ล็อกดาวน์ตามภาษาอังกฤษ แต่ในประเทศตะวันตกและตะวันออก กลับใช้คำ ๆ เดียวกันนี้สื่อความหมายไม่เหมือนกัน

เซอร์จิโอ อาฟองโซ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์จากบริษัทแปลภาษา “Absolute Translations” ให้ความเห็นว่า ในเอเชียตะวันออก คำว่าล็อกดาวน์มักหมายถึง “มาตรการเข้มงวด ตัดช่องทางติดต่อกับโลกภายนอก”

ขณะเดียวกัน ในยุโรป คำว่าล็อกดาวน์อาจสื่อถึง “ความรู้สึกของการถูกกักขังและการแยกตัวเองออกจากสังคม”

 

  • ล็อกดาวน์สมุทรสาคร

กรณีจ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย ไม่ใช่การล็อกดาวน์หรือปิดทั้งจังหวัด แต่เรียกว่าเป็นการ “ล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยง” โดยผู้ว่าราชการอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการห้ามเข้า-ออกพื้นที่โดยเด็ดขาดในตลาดกลางกุ้ง - หอพักศรีเมือง ซึ่งพบการระบาดกลุ่มก้อนใหญ่

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯยังสั่งปิดสถานที่อื่น ๆ เป็นการชั่วคราว ถึง 3 ม.ค. 2564 เช่น สนามกีฬา สนามมวย สถานศึกษาทุกประเภท ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ และจำกัดเวลาเปิด-ปิดร้านสะดวกซื้อและตลาดนัด ตลาดสด ห้ามคนต่างด้าวเข้าหรือมาในเขตจังหวัดโดยสิ้นเชิง

ขณะที่คนไทยในพื้นที่สามารถออกไปพื้นที่ต่าง ๆ ที่ต้องการได้ แต่ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แจ้งรายชื่อ และจุดหมายปลายทาง ขณะเดียวกันมีการตั้งด่านโดยรอบจังหวัด ตรวจบุคคลที่จะเข้าออกสมุทรสาครอย่างเข้มงวด

ดังนั้น กรณีสมุทรสาคร รวมถึงสมุทรปราการ สมุทรสงคราม และบางอำเภอในเชียงใหม่และสุพรรณบุรีที่ออกมาตรการคล้ายกัน ใช้คำว่าล็อกดาวน์ก็ไม่ผิดความหมาย แต่เป็นการล็อกดาวน์เฉพาะจุดเสี่ยง ไม่ใช่การปิดจังหวัด ซึ่งผู้ออกคำสั่งต้องขยายความให้ชัดเจนว่าปิดพื้นที่ส่วนใดบ้าง และมีผลต่อประชาชนในพื้นที่อย่างไร

  • ความหมายตามรากศัพท์

ในภาษาอังกฤษ คำว่าล็อกดาวน์ (Lockdown) ถูกยกให้เป็น “คำแห่งปี 2563” โดยพจนานุกรม Collins หลังพบว่ามีการใช้คำนี้เพิ่มขึ้นถึง 6,000%

สำหรับความหมายตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษนั้น ล็อกดาวน์หมายถึง “การกำหนดมาตรการจำกัดอันเข้มงวดที่มีต่อการเดินทาง การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการเข้า-ออกพื้นที่สาธารณะ”

อาฟองโซ เผยว่า แม้คำนี้น่าจะมีการเพิ่มความหมายใหม่อีกในปี 2563 เช่น การอยู่บ้านเพื่อปกป้องคนอื่น (จากการติดเชื้อไวรัส) แต่ประวัติความเป็นมาของคำนี้ก็ค่อนข้างมืดมนอยู่แล้ว

“ในช่วงทศวรรษที่ 70 คำว่าล็อกดาวน์เคยถูกใช้อธิบายถึงช่วงเวลาที่ยืดออกไปของการกักตัวนักโทษในโรงพยาบาลจิตเวชหรือเรือนจำ”

นอกจากนี้ ล็อกดาวน์ยังถูกใช้อธิบายถึงกรณีที่อาคารหรือพื้นที่ถูกสั่งปิดเพื่อความปลอดภัย เช่น เมื่อเกิดเหตุโจมตีและการปราบปรามด้านความมั่นคงอย่างที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในแคชเมียร์ ซึ่งมีการบล็อกสัญญาณอินเทอร์เน็ตและการจำกัดการเดินทางของพลเมืองในพื้นที่ จนถูกนิยามว่าเป็นการล็อกดาวน์

กล่าวโดยสรุป ล็อกดาวน์ไม่มีนิยามแน่ชัดขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศหรือพื้นที่นั้น ๆ นั่นเอง

-----------------------------

อ้างอิง: Independent, Merriam-Webster, Futurelearn