เตรียมตัวก่อน ‘ยื่นภาษี 2563’ อะไร ‘ลดหย่อนภาษี’ ได้บ้าง?
เตรียมตัวก่อน "ยื่นภาษี 2563" ทำความเข้าใจเรื่อง "ภาษี" เบื้องต้น พร้อมวิธีการคำนวณ และอัพเดทรายการและมาตรการที่จะสามารถนำไป "ลดหย่อนภาษี" ก่อนต้องยื่นภายในเดือนมีนาคม 2564
เริ่มต้นปี 2564 หลายคนเริ่มมองหาการลงทุนและช่องทางเพื่อลดหย่อนภาษี ก่อนที่จะถึงเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2563 ที่จะต้องยื่นภายในเดือนมีนาคม 2564 “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปทำความเข้าใจเรื่องการยื่นภาษี และอัพเดทรายการและมาตรการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ก่อนที่จะถึงเวลาต้องดำเนินการในปี 2564
ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักคำว่า “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” กันก่อน ซึ่งก็คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีเงินได้เกดิขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมา หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษตามที่กฎหมายกำหนดและมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
- ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
- กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
- วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องยื่นปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนมกราคม-มีนาคม ของปีถัดไป เช่น ปีภาษี 2563 จะต้องยื่นภาษีภายในเดือนมีนาคม 2564 แต่สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณี กฎหมายได้กำหนดให้ยื่นภาษีตอนครึ่งปีด้วย หรือเรียกว่า ภ.ง.ด.94 ภายในเดือนกันยายนของทุกปี เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน วิชาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ การรับเหมา เป็นต้น ซึ่งการยื่นภาษีนั้น สามารถทำได้ทั้งไปที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th
หลักในการคำนวณภาษี หลักๆ มี 2 รูปแบบ คือ
1.คำนวณภาษีแบบเงินได้พึงประเมิน x 0.5% หรือที่หลายคนเรียกว่าภาษีแบบเหมา x 0.5%
โดยวิธีการนี้ เพจ taxbugnoms ได้อธิบายไว้ว่า วิธีนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อมีเงินได้ทั้งปี ซึ่งไม่นับรวมเงินเดือน เกินกว่า 1 ล้านบาท โดยวิธีการนั้นเป็นการนำเอาเงินได้ทั้งหมดทุกประเภท ที่ไม่ใช่เงินเดือน คูณด้วย 0.5%
2.คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ จะแบ่งเป็นขั้นบันได 0-35%
สูตรในการคำนวณง่ายๆ คือ นำเงินได้ มาลบด้วยค่าใช้จ่าย และลบด้วยค่าลดหย่อน ผลที่ได้คือ เงินได้สุทธิ จากนั้นก็เอาเงินได้สุทธิ คูณด้วยอัตราภาษี สุดท้ายก็จะได้ “เงินภาษีที่ต้องจ่าย” ซึ่งสามารถดูขั้นบันไดฐานภาษี โดยเริ่มต้นจากเงินได้สุทธิตั้งแต่ 1-150,000 บาท ตามกฎหมายจะได้รับการยกเว้นอัตราภาษี ตามด้วยเงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 5% จนกระทั่งอัตราภาษีสูงที่สุด 35% คือผู้ที่มีเงินได้สุทธิอยู่ที่ 5,000,001 บาทขึ้นไป ได้ตามตารางด้านล่างดังนี้
เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า หนึ่งในองค์ประกอบของการคำนวณภาษี คือ การลดหย่อนภาษี ที่มีส่วนช่วยทำให้เสียภาษีลดลง หรืออาจจะได้รับการยกเว้นภาษีเลยก็เป็นไปได้ ที่ผ่านมาจึงมีหลายรายการหรือมาตรการจากภาครัฐที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ ซึ่งสำหรับปีนี้ ภาครัฐได้ออกมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" เพื่อหวังให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังซื้อ โดยกำหนดรายละเอียดสินค้าและบริการ ทั้งที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ และรายการที่ยกเว้น ซึ่งจะลดหย่อนได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
นอกจากนี้ในปีภาษี 2563 นี้ จะรายการลดหย่อนอะไรบ้าง ติดตามได้จากตารางด้านล่างนี้