เลื่อน‘เที่ยวไทยวัยเก๋า’ ลุ้นคิกออฟเดือน มี.ค.64
พิษโควิดรอบใหม่ “พิพัฒน์” เลื่อนโครงการ “เที่ยวไทยวัยเก๋า” จับตาสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลายใน 2 เดือน คาดเสนอ ครม.พิจารณา-คิกออฟ มี.ค. พร้อมหารือ “คลัง” งัดวิธียิงเงินให้ตรงจุดป้องกันทุจริต หวั่นซ้ำรอยกลโกง “เราเที่ยวด้วยกัน”
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จำเป็นต้องเลื่อนโครงการ “เที่ยวไทยวัยเก๋า” ออกไปก่อน ซึ่งเดิมเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเมื่อปลายเดือน ธ.ค.2563 แต่มีสถานการณ์แพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ต้องจับตาว่าจะคลี่คลายลงเมื่อไร หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือน ก.พ. คาดจะเสนอให้ ครม.พิจารณาและคิกออฟโครงการ เริ่มมีการเดินทางได้ในเดือน มี.ค. เท่ากับว่าโครงการนี้ล่าช้าจากแผนเดิมร่วม 5 เดือนจากกำหนดคิกออฟเดือน ต.ค.-พ.ย. 2563
“นักท่องเที่ยวกลุ่มสูงวัยไม่น่าจะออกเดินทางในช่วงนี้ เพราะกังวลกับสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อ ทั้งยังต้องเดินทางเป็นหมู่คณะ ขณะที่คนในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ อาจไม่สะดวกใจต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างเมืองเข้าพื้นที่ เพราะกังวลว่าจะเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อ”
สำหรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายโครงการนี้ รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินดังกล่าวถูกกันมาจากงบประมาณโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 20,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นตลาดการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มสูงวัย อายุ 55-75 ปี จำนวน 1 ล้านคน วางเงื่อนไขให้สิทธิประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายว่าต้องมีการเดินทาง 2 คนขึ้นไปในวันอาทิตย์ถึงพฤหัสบดี โดยใช้บริการผ่านบริษัทนำเที่ยว เดินทาง 3 วัน 2 คืนขึ้นไป สนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน
ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังว่าจะยิงเงินตรงเข้าที่ตัวบุคคลซึ่งเป็นคนเที่ยว หรือตรงเข้าบริษัทนำเที่ยว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตซ้ำรอยโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เนื่องจากโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋าเป็นการเหมาจ่ายสนับสนุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวแก่ผู้สูงวัยถึง 5,000 บาทต่อคน
ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อตรวจสอบทุกกรุ๊ปทัวร์ว่ามีการออกเดินทางจริงหรือไม่ เช่น ตรวจสอบที่สนามบินตอนเช็กอิน หากนั่งรถบัสนำเที่ยว ได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวซึ่งมีเจ้าหน้าที่กว่า 2,000 นาย ออกตรวจสอบเพื่อลงนามร่วมในเอกสารของกรุ๊ปทัวร์เพื่อยืนยันว่ามีการเดินทางจริง จึงจะให้กระทรวงการคลังปล่อยเงินออกมาได้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋า ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มผู้สูงวัยในวันธรรมดา เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวทั้งระบบและช่วยเหลือการจ้างงานกลุ่มแรงงานภาคท่องเที่ยวจริงๆ เช่น มัคคุเทศก์ และพนักงานขับรถ