‘วอเตอร์เจน’กลั่นน้ำจากอากาศ

‘วอเตอร์เจน’กลั่นน้ำจากอากาศ

‘วอเตอร์เจน’กลั่นน้ำจากอากาศ ขณะข้อมูลจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุน้ำในกาซาเพียง 3% เท่านั้นที่ได้มาตรฐานสากล

น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพรองจากอากาศ แต่บางพื้นที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างมาก เช่นฉนวนกาซาที่ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมีปัญหาน้ำดื่มไม่เพียงพอ แต่ตอนนี้มีโครงการใหม่ช่วยแก้ปัญหาได้ ด้วยกระบวนการพลังแสงอาทิตย์สกัดน้ำดื่มจากอากาศโดยตรง

ฉนวนกาซาเป็นเขตของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลปิดล้อมมาตั้งแต่ปี 2550 ความพิเศษจึงอยู่ที่ว่า โครงการดังกล่าวเป็นผลงานจากมันสมองของอภิมหาเศรษฐีชาวอิสราเอลเชื้อสายรัสเซียนาม “มิคาเอล มิริลาชวิลี” บริษัทวอเตอร์เจนของเขาพัฒนาเครื่องกำเนิดน้ำในบรรยากาศ ที่สามารถผลิตน้ำดื่มได้วันละ 5,000-6,000 ลิตร (1,300-กว่า 1,500 แกลลอน) ขึ้นอยู่กับความชื้นในอากาศ

อย่างไรก็ตาม ดูๆ แล้วเครื่องจักรผลิตน้ำเพียงไม่กี่เครื่องในกาซา พื้นที่ชายฝั่งล้อมรอบด้วยอิสราเอล อียิปต์ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไม่น่าจะเพียงพอตอบสนองความต้องการของประชาชน 2 ล้านคนได้

“แต่มันคือจุดเริ่มต้น” ฟาตี เชค คาลิล กล่าว เขาเป็นวิศวกรจาก “ดามัวร์” กลุ่มประชาสังคมปาเลสไตน์ผู้ดูแลเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง เนื่องจากบริษัทอิสราเอลทำงานในกาซาไม่ได้

ฉนวนกาซานอกจากมีปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง ไฟฟ้าไม่พอใช้เป็นประจำ ยังเจอวิกฤติน้ำรุนแรงซ้ำเติมมาหลายปีแล้ว ชั้นหินอุ้มน้ำถูกน้ำทะเลกัดกร่อนและปนเปื้อนด้วยมลพิษ ทำให้น้ำส่วนใหญ่ของกาซาเค็มและดื่มไม่ได้ จำเป็นต้องนำเข้าน้ำจากที่อื่น

ข้อมูลจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุน้ำในกาซาเพียง 3% เท่านั้นที่ได้มาตรฐานสากล และคาดการณ์ในปี 2555 ว่าด้วยแรงกดดันทางนิเวศวิทยา กาซาจะอาศัยอยู่ไม่ได้ภายในปี 2564

ผลการศึกษาหลายชิ้นพบความเชื่อมโยงระหว่างอัตรานิ่วในไตและท้องร่วงที่สูงขึ้นในกาซากับการดื่มน้ำไม่ได้มาตรฐาน หลายองค์กรจึงพากันแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมทั้งสหภาพยุโรป (อียู) ที่สนับสนุนสร้างโรงงานกลั่นน้ำทะเลขนาดใหญ่

ช่วยเพื่อนบ้าน

สำนักงานวอเตอร์เจนตั้งอยู่ที่ตึกแก้วแห่งหนึี่งในเทลอาวีฟ ห่างจากกาซาไปทางตอนเหนือราว 80 กม.

มิริลาชวิลีซื้อบริษัทวอเตอร์เจนหลังจากย้ายมาอยู่อิสราเอลในปี 2552 จากนั้นบริษัทส่งออกเครื่องผลิตน้ำไปยังกว่า 80 ประเทศ

มิริลาชวิลีซื้อบริษัทวอเตอร์เจนหลังจากย้ายมาอยู่อิสราเอลในปี 2552 จากนั้นบริษัทส่งออกเครื่องผลิตน้ำไปยังกว่า 80 ประเทศ

ชีวิตส่วนตัวของประธานและซีอีโอรายนี้ก็มีสีสันไม่น้อยมิริลาชวิลีเคยติดคุกรัสเซียในคดีลักพาตัว ที่ภายหลังศาลยุติธรรมแห่งยุโรป พบว่าพิพากษาผิดพลาด

เขาเป็นยิวเคร่งศาสนา ห้องทำงานมีภาพนักบวชชื่อดังของยิวแขวนอยู่ ประธานและซีอีโอวอเตอร์เจนเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เมื่อได้ยินเรื่องวิกฤติน้ำในกาซาเขาต้องการช่วยเหลือทันที

“เป้าหมายของเราคือทุกคนบนโลกต้องมีน้ำดื่มได้ แน่นอนว่าเราต้องช่วยเพื่อนบ้านเราก่อน”

เนื่องจากอิสราเอลควบคุมการนำเข้าสินค้าของกาซาอย่างเข้มงวดมิริลาชวิลีรู้ดีว่าการขออนุญาตนำเครื่องจักรเข้าพื้นที่ “ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง”

“กองทัพอิสราเอลชอบความคิดของผม แต่จำเป็นต้องตรวจอุปกรณ์” มิริลาชวิลีเล่าถึงกระบวนการทำงาน

เทคโนโลยีของวอเตอร์เจนนั้นเหมาะสมกับกาซาเพราะเดินเครื่องด้วยแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะที่กาซามีโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียวต้องใช้เชื้อเพลิงนำเข้า ขีดความสามารถไม่เพียงพอต่อความต้องการ

แต่มิริลาชวิลีในฐานะผู้บริหารวอเตอร์เจนโอดครวญว่า เขาไม่เคยเห็นเครื่องจักรของตนทำงานในฉนวนกาซาเพราะชาวอิสราเอลเข้าพื้นที่ไม่ได้

ของขวัญจากพระเจ้า

วอเตอร์เจนบริจาคเครื่องจักร 2 เครื่อง ราคาเครื่องละ 61,000 ดอลลาร์ให้กาซา เครื่องจักรตัวที่ 3 ถูกส่งไปโดยสถาบันอาราวาเพื่อวิจัยสิ่งแวดล้อม ที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ในคิบบุตซ์แห่งหนึ่งทางใต้ของอิสราเอล เครื่องจักรเหล่านี้เครื่องหนึ่งตั้งไว้ที่ศาลาว่าการเมืองข่านยูนิสทางใต้ของกาซา วิธีการทำงานคือ เครื่องจับความชื้นมากลั่นเป็นน้ำแล้วกรองเป็นน้ำดื่มได้ทันที

คาลิลจากกลุ่มดามัวร์กล่าวเสริมว่า เมื่อความชื้นในอากาศสูงเกิน 65% เครื่องจักรของวอเตอร์เจนสามารถผลิตน้ำดื่มได้ราว 5,000 ลิตรต่อวัน และถ้าความชื้นเกิน 90% จะผลิตน้ำดื่มได้เพิ่มอีก 1,000 ลิตรต่อวัน

น้ำส่วนหนึ่งใช้สำหรับลูกจ้างศาลาว่าการดื่ม บางส่วนส่งไปให้โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่สำหรับผู้ป่วยโรคไตดื่ม

“เครื่องจักรเพียง 1 หรือ 2 เครื่องไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่แสดงให้เห็นว่ามีทางออก” คาลิลกล่าว

เมื่อถามถึงการทำงานกับบริษัทในอิสราเอล ที่สู้รบกับกลุ่มฮามาส (กลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อเอกราชปาเลสไตน์) มา 3 ครั้งตั้งแต่ปี2551 คำตอบจากคาลิลคือ

“เรายอมรับความช่วยเหลือจากใครก็ได้ที่ต้องการช่วยเหลือเรา”

สำหรับมิริลาชวิลีนั้น เขาไม่เชื่อว่าชาวกาซามองวอเตอร์เจนเป็นของขวัญจากเขา จากพลเมืองอิสราเอล หรือจากชาวยิวผู้เคร่งครัด

“พวกเขาเข้าใจว่า ความมหัศจรรย์นี้ไม่ได้มากจากผม นี่เป็นของขวัญจากพระเจ้า พวกเขาเข้าใจว่าเมื่อพระเจ้ามอบอะไรให้คุณ คุณจำเป็นต้องรับไว้” มิริลาชวิลีย้ำ