การคุ้มครองผู้ใช้ 'บัตรเครดิต' แนวคำพิพากษาศาลฎีกา
ส่องแนวทางการคุ้มครองผู้ใช้ "บัตรเครดิต" ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง? และมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างไร?
การคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บัตรเครดิต นอกเหนือจากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ให้การคุ้มครองเรื่องสัญญาแล้ว มีหน่วยงานหลักคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต แล้วก็ยังคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บัตรเครดิตไม่ให้ใช้จ่ายเกินตัว และไม่ให้ถูกเอาเปรียบด้วย
การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและการคุ้มครองผู้บริโภคผู้ใช้บัตรเครดิตของธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้อำนาจตามกฎหมายคือในกรณีผู้ประกอบการเป็นสถาบันการเงินจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถาบันการเงิน พ.ศ.2551 ในกรณีผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง ธุรกิจบัตรเครดิต) ลงวันที่ 30 ก.ค.2563
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศที่ สนส.11/2563 เรื่องการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 31 ก.ค.2563 ออกใช้บังคับ
- สาระสำคัญ
ในการยื่นขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ที่ต้องยื่นขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (เรื่อง ธุรกิจบัตรเครดิตให้ยื่นผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย)
- หลักการคุ้มครองเป็นการทั่วไป
ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ตามหลักการที่สำคัญโดยสรุปดังนี้
การออกบัตรเครดิตควรพิจารณาให้แก่ผู้มีแหล่งรายได้หรือมีความสามารถเพียงพอในการชำระหนี้ ไม่กระตุ้นการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น และคำนึงถึงความสามารถในการดำรงชีพของผู้บริโภคด้วย โดยมีการกำหนดคุณสมบัติผู้ถือบัตรเครดิต มีเงื่อนไขเดียวกับรายได้ และวงเงินไว้ในข้อ 5.4.1
การเรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้บริโภคให้คำนึงต้นทุนที่แท้จริง ในอัตราที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค โดยมีการกำหนดอัตรา การเรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการค่าธรรมเนียมใดๆ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในข้อ 5.4.3
การดูแลคุ้มครองผู้บริโภคที่ทำธุรกรรมโดยใช้บัตรเครดิต เป็นไปตามตามเอกสารแนบ 3 ท้ายประกาศฯ ซึ่งกำหนดไว้ที่สำคัญๆ มี ดังนี้ นอกจากการถือปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริหารจัดการด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรมแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องถือปฏิบัติเพิ่มเติม ดังนี้
การเปิดเผยข้อมูล การเปิดเผยอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่น เกี่ยวกับบัตรเครดิต ต้องทำให้มั่นใจว่าผู้บริโภคได้รับทราบและเข้าใจรายละเอียดอย่างชัดเจน
- การเรียกให้ชำระหนี้และติดตามทวงถามให้ชำระหนี้
การผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ต้องให้ผู้บริโภคชำระหนี้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของยอดคงค้าง
การคิดดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ เบี้ยปรับฯ ให้แสดงรายละเอียดการคำนวณรายการดังกล่าวในใบแจ้งหนี้ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2550 โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยกู้เงินสินเชื่อเพื่ออยู่อาศัยซึ่งเรียกเก็บดอกเบี้ยได้ไม่เกินปีละ 13.5% และมีอัตราดอกเบี้ยผิดนัดกำหนดไว้ 19% ต่อปีโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง บางรายการคิด 19% ต่อปีบ้าง บางรายการ 19.5% ต่อปี และคิดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต 24% ต่อปี จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดและเกินประกาศของโจทก์เอง เท่ากับไม่มีการตกลงเรื่อดอกเบี้ยการคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงเป็นโมฆะ ต้องนำเงินที่จำเลยชำระไปแล้วไปหักเงินต้น
การแจ้งเตือน ต้องมีการแจ้งเตือนผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย โดยต้องมีระยะเวลาที่เพียงพอให้ผู้บริโภคได้ตรวจสอบแบะโต้แย้งรายการดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13756/2556 การวินิจฉัยข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองนั้น ต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ
คดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้สืบพยานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกเอาประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ประกาศ ณ วันที่ 11 พ.ย.2545 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตมาวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้มีหนังสือเตือนจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วันก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เนื่องจากประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏในสำนวนคดี ศาลไม่อาจรับฟังมาวินิจฉัยข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ได้
การเปลี่ยนประเภทหนี้ ห้ามผู้ประกอบธุรกิจโอนหนี้หรือเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตไปเป็นหนี้บัญชีเดินสะพัดหรือหนี้ตามสัญญาสินเชื่อประเภทอื่น เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจจะปฏิบัติตามเงื่อนไข ที่สำคัญคือต้องได้รับความยินยอมจากผู้บริโภคก่อน
- การเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตไปเป็นหนี้ประเภทอื่นอาจมีอายุความยาวขึ้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2484/2556 จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคาร ม. จำกัด (มหาชน) เบิกเงินด้วยเช็คที่ได้รับจากธนาคารเพียง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 22 และ 28 ส.ค.2534 เป็นเงิน 3,100 บาท และ 3,000 บาท เฉพาะส่วนนี้เท่านั้นถือว่าเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีอายุความ 10 ปี
แต่ตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวมีข้อตกลงว่าเป็นการเปิดบัญชีเพื่อวีซ่าและในข้อ 14 วรรคสอง ระบุว่าในกรณีจำเลยมีภาระหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่ธนาคาร จำเลยตกลงให้โอนมาหักกลบลบหนี้ พยานโจทก์เบิกความว่า นอกจากการใช้เช็คเบิกถอนเงิน 2 รายการดังกล่าวแล้ว จำเลยมิได้ใช้เช็คเบิกถอนเงินอีก รายการเป็นหนี้ต่อมาล้วนเป็นการถอนเป็นเงินโอนที่ใช้รหัส X W D จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าเป็นการโอนเงินเพื่อชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตวีซ่าทั้งสิ้น
แม้จะมีข้อตกลงให้ธนาคาร ม. จำกัด (มหาชน) หักบัญชีหรือโอนเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไปชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิต แต่จะให้ถือว่าหนี้ดังกล่าวกลายเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ด้วยหาได้ไม่ ต้องถือว่ายังคงเป็นหนี้ตามสัญญาที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตอยู่เช่นเดิมซึ่งมีอายุความ 2 ปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/34 (7) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตของจำเลยนับถึงวันฟ้องเกิน 2 ปี จึงขาดอายุความ เฉพาะหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดในต้นเงิน 6,100 บาท ซึ่งมีอายุความ 10 ปี เท่านั้นจึงไม่ขาดอายุความ