ต้อนรับ 'โจ ไบเดน' รู้จัก ‘ทำเนียบขาว’ บ้านแห่งการรื้อและสร้างใหม่ไม่รู้จบ
“ทำเนียบขาว” ลำดับการเปลี่ยนแปลง “งานตกแต่งภายใน” ที่ต้องรื้อออกแล้วสร้างใหม่ทุกครั้งตามคำสั่ง “คู่สมรสหมายเลขหนึ่ง” เพื่อให้เข้ากับรสนิยมส่วนตัว เนื่องจากต้องทำงานและใช้ชีวิตครอบครัวภายในทำเนียบขาวไปอีกอย่างน้อย 4 ปี หลัง "สาบานตน" เข้ารับตำแหน่ง
White House หรือ ทำเนียบขาว มีอีกชื่อว่า People’s House เป็นที่พำนักอย่างเป็นทางการและสถานที่ทำงานหลักของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 1600 ถนนเพนซิลเวเนีย เขตตะวันตกเฉียงเหนือ วอชิงตัน ดี.ซี. รัฐเวอร์จิเนีย ออกแบบโดยสถาปนิกชาวไอริช เจมส์ โฮบัน (James Hoban) ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ระหว่างค.ศ.1792-1800 (พ.ศ.2335-2343)
ตัวตึกก่อสร้างด้วย หินทราย ที่ลำเลียงมาจากบริเวณ แอคแควร์ ครีก (Aquia Creek) ปากแม่น้ำโปโตแมค (Potomac) เมืองสตาฟฟอร์ด (Stafford, Virginia) ห่างไป 72 กิโลเมตรทางตอนใต้ของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
จริงๆ หินทรายเหล่านี้มีสีน้ำตาล แต่ได้รับการทา สีขาว ทั้งก้อน เพื่อลดการซึมผ่านซึ่งจะเป็นสาเหตุของการแตกร้าวจากความหนาวเย็นของอากาศเมื่อถึงฤดูหนาว
ก่อน ‘ทำเนียบขาว’ สร้างเสร็จ เดิมทำเนียบประธานาธิบดีตั้งอยู่ที่ ฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) เมืองหลวงแห่งแรกอเมริกา และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐเพนซิลเวเนีย ฟิลาเดลเฟียที่พำนักและทำงานของประธานาธิบดี 2 คน คือ จอร์จ วอชิงตัน และ จอห์น แอดัมส์
การก่อสร้างทำเนียบขาวเสร็จสมบูรณ์ไม่กี่เดือนก่อนที่ จอห์น แอดัมส์ จะหมดวาระ ประธานาธิบดีจอห์นจึงมีโอกาสย้ายเข้าสู่ทำเนียบขาวเป็นคนแรก นับจากนั้นทำเนียบขาวก็เป็นสถานที่พำนักของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทุกคนตั้งแต่ปีค.ศ.1800 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน
และนับจากคู่สมรสหมายเลขหนึ่ง จอห์น-แอบิเกล แอดัมส์ ก้าวเท้าสู่ทำเนียบขาวในปี 1900 มหากาพย์ การตกแต่งภายในอาคารหลังนี้ ก็เริ่มต้นขึ้นนับจากนั้น
ทำไมน่ะหรือ ก็เมื่อ ‘คู่สมรสหมายเลขหนึ่ง’ ต้องทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในทำเนียบขาวเป็นเวลาอย่างน้อย 4 ปี แต่ละคู่จึงต้องทำบรรยากาศให้เหมือน ‘บ้าน’ ที่ตัวเองชอบอย่างที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของ ที่พำนักส่วนตัว ต้องตรงตามรสนิยมความชอบส่วนตัว อยู่แล้วสบายใจ มองไปทางไหนก็สบายตา นอนหลับสบาย ได้ประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน จะได้ส่งเสริมการทำงานได้อย่างเต็มที่
จาก จอห์น แอดัมส์ ประธานาธิบดีคนที่ 2 ในปี 1900 ถึงคู่สมรสหมายเลขหนึ่ง ลำดับที่ 45 โดนัลด์-เมลาเนีย ทรัมป์ ในปี 2016 อาคารอายุ 121 ปีแห่งนี้น่าจะเป็น อาคารในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการตกแต่งภายในบ่อยที่สุด เพราะต้องตกแต่งใหม่ตามวาระการเลือกตั้งประธานาธิบดี
ที่พำนักส่วนตัว ของ 'คู่สมรสหมายเลขหนึ่ง' มีทั้งหมด 12 ห้อง กินพื้นที่ 2 ชั้นของทำเนียบขาว พื้นที่ส่วนนี้ได้รับการตกแต่ง รื้อออก ตกแต่งแล้วรื้อออก วนอยู่อย่างนี้ไม่ต่ำกว่า 40 ครั้งในช่วง 116 ปี (ระหว่างปี 1900-2016)
ย้อนกลับไป...หลังจาก จอห์น แอดัมส์ ก้าวเท้าสู่ทำเนียบขาวที่เพิ่งสร้างเสร็จ พื้นที่ในส่วน ‘ที่พำนัก’ ยังไม่ได้รับการตกแต่งใดๆ ห้องทิศตะวันออก (East Room) ของทำเนียบขาวที่ในปัจจุบันใช้สำหรับจัดงาน เช่น งานเต้นรำ การแถลงข่าว งานพิธีการ งานจัดเลี้ยง งานต้อนรับ และคอนเสิร์ต จึงเคยเป็น ห้องซักรีด ของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ‘แอบิเกล’ มาก่อน
ประธานาธิบดีคนที่สาม ทอมัส เจฟเฟอร์สัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่ใช้ชีวิตความเป็นประธานาธิบดีทั้งหมดภายในทำเนียบขาว เขาคือผู้สร้างแบบอย่างของบ้านที่ทั้งดูหรูหราแต่ก็น่าอยู่ ด้วยการสั่งเครื่องเรือนและวอลล์เปเปอร์มาจากฝรั่งเศส
ในปีค.ศ.1882 เชสเตอร์ เอ. อาเทอร์ (Chester A. Arthur) ประธานาธิบดีคนที่ 21 เจาะจงเชิญทายาทผู้ก่อตั้งร้านเพชรทิฟฟานี หลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี (Louis Comfort Tiffany) ศิลปินผู้ออกแบบและสร้างงานกระจกสี (stained glass) คนสำคัญของอเมริกา และมีบทบาทในขบวนการอาร์ตนูโวและสุนทรียนิยม มาปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้กับ ห้องสีแดง (Red Room) ห้องสีฟ้า (Blue Room) ห้องทิศตะวันออก (East Room) และ โถงทางเข้า (Entrance Hall) เป็นที่มาของการติดตั้งผนังกระจกสีอย่างวิจิตรตระการตา สมศักดิ์ศรีความเป็นทิฟฟานีสไตล์
แต่อีก 20 ปีต่อมา ธีโอดอร์ โรสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ประธานาธิบดีคนที่ 26 สั่งย้ายผนังกระจกสีชิ้นมหึมาดังกล่าวออกไป เพราะเห็นว่าดีไซน์พ้นสมัยและโรสเวลต์ต้องการทำห้องเพิ่มเติมเพื่อสมาชิกในครอบครัว เป็นที่มาของการเพิ่ม ปีกตะวันออก (East Wing) และ ปีกตะวันตก (West Wing)
น่าเสียดายที่ผลงานการตกแต่งห้องต่างๆ ในทำเนียบขาวของ ‘ทิฟฟานี’ ไม่มีภาพถ่ายสีบันทึกไว้ มีแต่เพียงภาพถ่ายขาวดำกับภาพวาดสีน้ำมันของผนังกระจกสี ให้จินตนาการถึงความมหัศจรรย์ถ้าได้เห็นของจริง
มีการกล่าวกันว่า ผนังกระจกสีชิ้นนั้น ได้รับการขายไปในการประมูล และไปปรากฏอยู่ที่โรงแรม Belvedere Hotel ในรัฐแมริแลนด์ และสุดท้ายก็เสียหายไปในเหตุเพลิงไหม้ในปี 1923
อีกหนึ่งห้องที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากคือ ห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) ห้องทำงานอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เดิมทีทำเนียบขาวไม่มีห้องนี้ ผู้ที่สั่งให้สร้าง ‘ห้องทำงานรูปไข่’ คือ วิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ (William Howard Taft) ประธานาธิบดีคนที่ 27 ในปีค.ศ.1909 และทาด้วยสีเขียวโทนกองทัพบกสหรัฐ จากนั้นห้องนี้ก็เปลี่ยนสีทุกครั้งตามความชอบของประธานาธิบดีคนใหม่
ก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีการจัดเลี้ยงรับรองการเยือนอย่างเป็นทางการในฐานะแขกรัฐบาล (State Dinner) อยู่บ่อยครั้ง ระยะแรกบริษัทเอกชนเป็นผู้ออกแบบเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับประธานาธิบดี แล้วให้ทำเนียบขาวเลือก
ภริยาของ อับราฮัม ลินคอล์น, แมรี ทอดด์ ลินคอล์น เป็น 'สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง' คนแรกซึ่งมีความคิดว่า ทำเนียบขาวควรออกแบบเครื่องใช้เหล่านี้เอง
คุณนายลินคอล์นเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ทำเนียบขาวต้องรักษาภาพลักษณ์เพื่อให้ชาวต่างชาติสัมผัสได้ถึงความเข้มแข็งของประเทศ ประกอบกับช่วงนั้นสหรัฐมีสงครามกลางเมือง รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จึงไม่อาจมองข้าม เธอตัดสินใจออกแบบเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับประธานาธิบดีด้วยตัวเอง โดยเลือกใช้สีแดงอมม่วง (purple-red) เป็นแถบที่ขอบจาน สีแดงสีนี้ชื่อ ซอลเฟริโน (Solferino) ซึ่งมีความหมายถึงการช่วยเหลือโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชังเพราะเกี่ยวเนื่องกับการกำเนิดกาชาด โดยมีรูปนกอินทรีกางปีกยืนอยู่บนโล่ห์ลายธงชาติ พร้อมคำขวัญ In God We Trust กระจายอยู่บนก้อนเมฆ
นับจากนั้น เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับประธานาธิบดีก็จะได้รับการสั่งทำขึ้นใหม่โดย "สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง" ในแต่ละช่วงเวลา ทำให้ ‘ทำเนียบขาว’ มีเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเป็นจำนวนมาก
อิดิธ วิลสัน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ของประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) จึงออกแบบและควบคุมการสร้าง ห้องจีน (China Room) ขึ้นในปี 1917 เพื่อเก็บเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารอันมากมายเหล่านั้น และทำให้ ‘ห้องจีน’ กลายเป็นห้องจัดแสดงภาชนะเครื่องกระเบื้องเคลือบ เครื่องเงินที่ใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องแก้ว ซึ่งออกแบบโดยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ส่วนใหญ่มีสัญลักษณ์ ‘นกอินทรี’ กับ ‘โล่ห์’ เป็นแถบสีขาวและสีแดงแนวตั้งฉาก ในรูปลักษณ์ต่างๆ ประดับบนจานร่วมกับลวดลายและสีสันที่แต่ละคนเลือกใช้ สวยงามและมีความหมายแตกต่างกันไป
หลายคนอาจไม่ทราบ ‘ทำเนียบขาว’ เคยมี สระว่ายน้ำในอาคาร ตามคำร้องขอของประธานาธิบดี แฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) ในปี 1933 เพื่อใช้บำบัดอาการโปลิโอของเขา
36 ปีต่อมา ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) สั่งถมสระว่ายน้ำเพื่อใช้เป็นห้องบรรยายสรุปข่าวสำหรับออกข่าวโทรทัศน์
ทำเนียบขาวได้รับความเสียหายจาก ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ ตลอดระยะเวลาการซ่อมแซม 3 ปี แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) สมาชิกในครอบครัว และทีมทำงาน ต้องย้ายไปอาศัยอยู่ที่ Blair House ซึ่งเป็นบ้านรับรองแขกของทำเนียบขาว
แจ็กเกอลีน เคนเนดี (Jacqueline Kennedy) เป็นสุภาพสตรีหมายเลขที่หนึ่งที่หลงใหลการอนุรักษ์สิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ เธอเป็นผู้โน้มนำให้เกิดการก่อตั้ง White House Historical Association องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งอนุรักษ์สิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นประวัติศาสตร์ของทำเนียบขาว และทำให้สาธารณชนเข้าถึงทำเนียบขาวได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ทำเนียบขาวได้รับการประกาศให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์’ คำนี้ทำให้ทำเนียบขาวได้รับการคุ้มครองไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่สิบปีก็ตาม
ในช่วงปีแรกของการเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง แจ็กเกอลีนใช้เงิน 2 ล้านเหรียญในการปรับปรุงทำเนียบขาว จากนั้นก็ถ่ายทำรายการโทรทัศน์นำชมทำเนียบขาว ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีและซีบีเอสในวันวาเลนไทน์ ปี 1962 มีผู้ติดตามชมมากกว่า 80 ล้านคน
เป็นการนำชมทำเนียบขาวผ่านรายการโทรทัศน์ครั้งที่สอง หลังจากประธานาธิบดีทรูแมนเคยทำครั้งแรกเมื่อปี 1952 แต่ถือเป็นครั้งแรกที่นำชมโดยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง และคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกาศผลรางวัล Emmy และ Peabody
ในการปรับปรุงทำเนียบขาว แจ็กเกอลีนให้ความสำคัญในการนำเครื่องเรือนและการตกแต่งที่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของทำเนียบขาวกลับมาใหม่
“ฉันรู้สึกอับอายหากเข้ามาที่นี่แล้วแทบหาสิ่งใดที่เชื่อมโยงกับอดีตของทำเนียบขาวก่อนปี 1902 ไม่ได้” แจ็กเกอลีนให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการโทรทัศน์นำชมทำเนียบขาว
แจ็กเกอลีน อ้างอิงถึง ‘ทำเนียบประธานาธิบดีโคลอมเบีย’ ที่สร้างในปีค.ศ.1906 ด้วยสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกเช่นเดียวกับทำเนียบขาว
“เครื่องเรือนทุกชิ้นในทำเนียบแห่งนั้นมีความเชื่อมโยงบางอย่างเกี่ยวกับอดีต ฉันคิดว่าทำเนียบขาวก็ควรเป็นแบบนั้น”
ในเรื่องการตกแต่งภายในให้เชื่อมโยงกับเรื่องราวในอดีต แจ็กเกอลีนทำงานร่วมกับนักออกแบบตกแต่งภายในชาวอเมริกัน ซิสเตอร์ เปริช (Sister Parish) ปัจจุบันชื่อของเธอได้รับการยกย่องให้อยู่ในทำเนียบอินทีเรียร์ดีไซเนอร์แห่งประวัติศาสตร์ และ สเตฟาน บูแด็ง (Stephane Boudin) นักออกแบบตกแต่งภายในชาวฝรั่งเศส เพื่อตกแต่ง ห้องรูปไข่สีเหลือง, ที่พำนักส่วนตัวของครอบครัวเคนเนดี้, ห้องสีฟ้า, ห้องสีแดง, ห้องสนธิสัญญา และห้องลินคอล์น
ถ้าพูดถึง แจ็กเกอลีน เคนเนดี้ ก็ต้องพูดถึง สวนกุหลาบ (Rose Garden) ของทำเนียบขาวด้วย
แจ็กเกอลีนดูแลการออกแบบสวนกุหลาบอย่างใกล้ชิดด้วยตัวเอง โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญการปลูกพืชสวนที่มีชื่อเสียง ราเชล แลมเบิร์ต (Rachel Lambert) หรือที่วงการพืชสวนเรียกขานกันในนาม Bunny Mellon ร่วมออกแบบสวนกุหลาบ
การตกแต่งภายในทำเนียบขาวยังคงได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดหย่อน จิมมี-โรซาลีนน์ คาร์เตอร์ คู่สมรสหมายเลขหนึ่ง เลือก โดโรธี ดราเปอร์ (Dorothy Draper) อินทีเรียร์ดีไซเนอร์ผู้มีสไตล์ต่อต้านมินิมัลลิสม์ ผู้มีชื่อติดทำเนียบอินทีเรียร์ดีไซเนอร์แห่งประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน มาเป็นที่ปรึกษาด้านดีไซน์ในการออกแบบการจัดเลี้ยงรับรองการเยือนอย่างเป็นทางการและการตกแต่งต้นคริสต์มาส
ในช่วงปี 1980 คู่สมรสหมายเลขหนึ่งตระกูล เรแกน จ้างนักออกแบบจากเบเวอรี่ฮิลล์ส เท็ด กราเบอร์ (Ted Graber) มาสร้างความมีชีวิตชีวาตามรสนิยมส่วนตัวให้กับทำเนียบขาว ด้วยการนำของตกแต่งในแบบฉบับศตวรรษที่ 20 มาแทนที่ของประดับที่มีกลิ่นอายอดีต
อีกเกือบสิบปีต่อมา จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (George H. W. Bush) ติดต่อ มาร์ค แฮมป์ตัน (Mark Hampton) นักออกแบบผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อเมริกันเข้ามาฟื้นฟู Oval Office และพื้นที่พำนัก
พอมาถึงยุค บิล คลินตัน วอลล์เปเปอร์ภาพเขียนด้วยมือรูปนกบินในสไตล์ศตวรรษที่ 18 ที่ ‘ตระกูลเรแกน’ เลือกมาประดับผนังในห้องนอนใหญ่ ถูกอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ของตระกูลคลินตัน เคกิ ฮอคเกอร์สมิธ (Kaki Hockersmith) ลอกออก เธอบอกวอชิงตันโพสต์ว่า “ห้องนอนเหมือนมีฝูงนกนานาชนิดบินว่อนไปหมด บรรยากาศดูไม่สงบสำหรับการนอนหลับพักผ่อน”
เคกิยังออกแบบการตกแต่งใหม่ให้กับห้องรูปไข่, ห้องสนธิสัญญา, ห้องรับประทานอาหารครอบครัว, ห้องดนตรี และบริเวณต้อนรับและพักผ่อนสำหรับครอบครัวอีกหลายจุด
ในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่ง ฮิลลารี คลินตัน ช่วยระดมทุน White House Endowment Trust สะสมได้ถึง 35 ล้านเหรียญ เพื่อให้งานซ่อมแซมทำเนียบขาวทำได้เต็มความสามารถ
ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในทำเนียบขาว มิสคลินตันซ่อมแซมห้องต่างๆ ไป 5 ห้อง คือ ห้องตะวันออก ห้องสีแดง โถงทางเดินชั้นที่หนึ่ง และห้องสีฟ้า
ปี 2000 จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ว่าจ้าง เคนเนธ บลาสซิงเกม (Kenneth Blasingame) นักออกแบบชาวเท็กซัสมาตกแต่งทำเนียบขาวอย่างที่เขาอยากได้หลังจากประทับใจในฝีมือที่เคนเนธตกแต่งบ้านที่ฟาร์มปศุสัตว์ในครอว์ฟอร์ด เท็กซัส
ลอรา บุช เคยให้สัมภาษณ์กับ ‘อาร์คิเทคเจอรัล ไดเจสท์’ เกี่ยวกับการออกแบบใหม่ให้กับห้องรูปไข่ไว้ว่า
“ฉันรู้ว่าเขา(บุช)ต้องการห้องทำงานที่ดูสว่างเหมือนแสงอาทิตย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างผู้มองโลกในแง่ดี”
ของแต่งห้องชิ้นหนึ่งที่ลอราและดีไซเนอร์ออกแบบร่วมกันคือ พรมปูพื้นห้องรูปไข่ ประดับด้วยการทอเป็นรูปสัญลักษณ์ประจำตัวประธานาธิบดีสหรัฐกลางผืนพรม ล้อมรอบด้วยแฉกรัศมีคล้ายแสงพระอาทิตย์ที่ฉายออกจากตราสัญลักษณ์ ขอบพรมด้านนอกยังมีลวดลายช่อใบลอเรล (Laurel) เรียงกันไปโดยรอบ แทนความหมายของสตรีหมายเลขหนึ่ง ตรงที่ชื่อใบไม้มีส่วนคล้ายชื่อลอรา
เมื่อประธานาธิบดี บารัค โอบามา (Barack Obama) เข้ามาทำงาน เขาเปลี่ยนพรมผืนนั้นออก แล้วสั่งทำพรมผืนใหม่ที่ประดับด้วย วาทะของอดีตประธานาธิบดี 4 คน และ 1 บุคคลผู้เป็นสัญลักษณ์การรณรงค์เรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกันของพลเมือง ไว้ที่ขอบผืนพรม วาทะทั้ง 5 ได้แก่
“Government of the people, by the people, for the people” อับราฮัม ลินคอล์น
“The welfare of each of us is dependent fundamentally upon the welfare of all of us” ธีโอดอร์ โรสเวลต์
“The only thing we have to fear is fear itself” แฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์
“No problem of human destiny is beyond human beings” จอห์น เอฟ. เคนเนดี
“The arc of the moral universe is long, but it bends towards justice” มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
พรมและภาพรวมในการตกแต่งภายในอย่างที่อยากได้ บารัค และ มิเชลล์ โอบามา เลือกปรึกษากับนักออกแบบชาวอเมริกันในลอสแองเจลิส ไมเคิล เอส.สมิธ เพื่อปรับเปลี่ยนในส่วนที่พำนักให้ดูทันสมัย สร้างสรรค์การใช้พื้นที่ให้ผสานกันอย่างลงตัวระหว่างความเป็นพิธีการและความสะดวกสบาย และตกแต่งด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินชาวอเมริกันที่แสดงออกถึงพรสวรรค์
ด้วยความช่วยเหลือของนักออกแบบชาวอเมริกันเชื้อสายลาว Tham Kannalikham คู่สมรสหมายเลขหนึ่ง โดนัลด์-เมลาเนีย ทรัมป์ จริงๆ เป็นเมลาเนียตัดสินใจเลือก Tham มาช่วยเติมความเป็นบ้านอย่างที่เธอชอบให้กับพื้นที่พำนักและบรรยากาศทำงานในห้องรูปไข่อย่างที่สามีต้องการ
ในห้องทำงาน โดนัลด์สั่งให้เก็บพรมในสมัยของ บารัค โอบามา ออกไป แล้วนำ พรมรัศมีพระอาทิตย์ ของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช กลับมาใช้ใหม่ เติม ม่านจับเดรปสีทอง สีโปรดของคู่สามีภรรยาหมายเลขหนึ่ง เป็นอาทิ
ปกติสภาคองเกรสอนุมัติเงิน 100,000 เหรียญให้กับคู่สามีภรรยาหมายเลขหนึ่งสำหรับใช้ในการตกแต่งใหม่ห้องทำงานรูปไข่และส่วนพำนักให้ถูกใจตามรสนิยม ซึ่งประธานาธิบดีเรแกนและโอบามาไม่ขอรับเงินสนับสนุนส่วนนี้ แต่ใช้เงินตัวเองในการตกแต่ง
ข่าวรายงานว่า นับแต่ปีที่ประธานาธิบดีทรัมป์และภริยารับหน้าที่คู่สมรสหมายเลขหนึ่ง ทั้งคู่ได้ใช้เงินปรับปรุงทำเนียบขาวไปแล้วอย่างน้อย 3.4 ล้านเหรียญเพื่อให้ถูกต้องตามรสนิยม รวมไปถึงการปรับปรุง ‘สวนกุหลาบ’ ซึ่งเป็นที่โต้เถียงกันอย่างหนักทางหน้าสื่อโซเชียล
เมื่อวันพุธที่ 20 มกราคม(2021) ในการกล่าวอำลาชาวเมือง “เดลาแวร์” โจ ไบเดน ได้หลั่งน้ำตาอาบแก้มด้วยความรักและอาลัยเมืองที่เขาผูกพันและใช้ชีวิตมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ก่อนขึ้นเครื่องบินเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 เตรียมจับตาดูกันต่อไป เมื่อไบเดนรักบ้านในเดลาแวร์ขนาดนั้น..
ประวัติศาสตร์จะบันทึกการถูกรื้อและตกแต่งใหม่ของ ‘ทำเนียบขาว’ ไว้อย่างไร..เมื่อประธานาธิบดีคนที่ 46 เริ่มปฏิบัติหน้าที่
* * *
เรื่องที่คุณอาจสนใจ