‘ถั่งเช่า’ ต้องรู้! สรรพคุณดีต่อ ‘สุขภาพ’ จริงหรือหลอก?
เจาะสรรพคุณ “ถั่งเช่า” จากเคส อย.ฟัน “กาละแมร์” เรื่องขายอาหารเสริมโฆษณาเกินจริง สู่การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ “ถั่งเช่า” อาหารเสริมรุกตลาด "สุขภาพ" ที่มีเงินสะพัดมหาศาล และมีคนดังเป็นพรีเซ็นเตอร์เพียบ ไปหาคำตอบกันว่า.. ตกลง "ถั่งเช่า" ดีจริง หรือแค่โม้ !?
จากกรณี กสทช. ร่วมมือกับ อย. เข้าตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของ “กาละแมร์” พิธีกรมากฝีมือ ที่ผันตัวมาขายอาหารเสริมแบรนด์หนึ่ง ซึ่งมีประเด็นว่าเจ้าของแบรนด์โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง นำมาสู่การตรวจสอบขยายผลโดย อย. ที่ลามไปถึงยังโยงต่อไปถึงการตรวจสอบโฆษณา “ถั่งเช่า” ส่งผลให้การโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดต่างๆ ในเมืองไทยตอนนี้ มีความเข้มงวดมากขึ้น
“อาหารเสริม” ถือเป็นสินค้าที่มีวอลลุ่มสูงในตลาดของคนรัก “สุขภาพ” และกลุ่มผู้สุงอายุ และ “ถั่งเช่า” ก็จัดเป็นหนึ่งในสมุนไพรสุดฮิตมายาวนาน โดยเป็นสมุนไพรที่เชื่อกันว่าช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ ว่าแต่.. เจ้าเชื้อราปรสิตหนอนชนิดนี้ จริงๆ แล้วมีสรรพคุณตามคำกล่าวอ้างเหล่านั้นหรือไม่? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปหาคำตอบพร้อมกัน
- “ถั่งเช่า” คืออะไร?
“ถั่งเช่า” หรือที่รู้จักกันว่า “ไวอากร้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย” หรือ ตังถั่งเช่า หรือ ตังถั่งแห่เช่า แปลเป็นไทยว่า “ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า” จนมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “หญ้าหนอน” ทั้งนี้เพราะว่าถั่งเช่าประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวหนอน คือ ตัวหนอนของผีเสื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hepialus armoricanus Oberthiir และบนตัวหนอนมีเชื้อราเห็ดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cordyceps sinensis (Berk.) Saec.
หนอนชนิดนี้ในฤดูหนาวจะฝังตัวจำศีลอยู่ใต้ดินภูเขาหิมะ เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย สปอร์เห็ดจะพัดไปกับน้ำแข็งที่ละลาย แล้วไปตกที่พื้นดิน จากนั้นตัวหนอนเหล่านี้ก็จะกินสปอร์ และเมื่อฤดูร้อนสปอร์ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นเส้นใย โดยอาศัยการดูดสารอาหารและแร่ธาตุจากตัวหนอน จากนั้นเส้นใยก็งอกออกจากปากของมัน
เห็ดเหล่านี้ต้องการแสงอาทิตย์มันจึงงอกขึ้นสู่พื้นดิน รูปลักษณะภายนอกคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนเองก็จะค่อยๆ ตายไป อยู่ในลักษณะของหนอนตายซาก ฉะนั้น “ถั่งเช่า” ส่วนที่ใช้ทำเป็นยา (ตามความเชื่อ) ก็คือ ตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง
ถั่งเช่าพบได้ในแถบทุ่งหญ้าบนภูเขาประเทศจีน (ธิเบต) เนปาล และภูฏาน ระดับความสูง 10,000-12,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเล ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่เพาะในบริเวณภาคใต้ในมณฑลชิงไห่ เขตซางโตวในธิเบต มณฑลเสฉวน ยูนนาน และกุ้ยโจว การเก็บถั่งเช่าจะเก็บในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ เมื่อขุดตัวหนอนขึ้นจากดินแล้ว ล้างน้ำให้สะอาด แล้วตากแห้ง
หลายยุคที่ผ่านมา “ถั่งเช่า” กลายเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนนานนับศตวรรษ คนจีนเชื่อว่าหนอนชนิดนี้มีสรรพคุณทางยาแผนโบราณ ที่ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ บำรุงร่างกาย บำรุงอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ และไต เป็นต้น
- ถั่งเช่า ถูกถอดออกจากบัญชี "อาหารเสริม" ของจีน?
จากข่าวที่ถูกเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียเรื่อง "ถั่งเช่าถูกถอดถอนออกจากบัญชีอาหารเสริมของจีน" นั้น ศูนย์ข่าวชัวร์ก่อนแชร์ได้ไปสอบถามแพทย์จีน ธนภัทร จินตกุล หัวหน้าสถานพยาบาลวิทยาลัยการแพทย์ทางเลือกมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้คำตอบว่า กระทรวงสาธารณสุขของจีน ประกาศให้ตัด “ถั่งเช่า” ออกจากบัญชีในกลุ่มประเภท "อาหารเสริมสุขภาพ" เนื่องจากถั่งเช่าที่ขายในประเทศจีนนั้นมีปริมาณสารหนูเกินมาตรฐาน หากบริโภคต่อเนื่องเป็นเวลานานจะมีผลกระทบกับสุขภาพได้ แต่ทั้งนี้การรักษาตามแพทย์แผนจีนก็ยังคงมีการใช้ ถั่งเช่าในการรักษาโรคอยู่เช่นกัน แต่ต้องได้รับการรับประทานตามใบสั่งแพทย์
- การวิจัยเกี่ยวกับ “ถั่งเช่า”
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ข้อมูลของถั่งเช่า ระบุว่าว่า ถึงแม้ “ถั่งเช่า” มีการใช้อย่างแพร่หลายและมีราคาสูง แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาในคนอย่างเป็นระบบมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นกรณีศึกษาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น
กรณีศึกษาฤทธิ์ต่อการกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ พบว่าการวิจัยในผู้ชาย 22 คน ใช้ถั่งเช่าเป็นอาหารเสริม พบว่าช่วยเพิ่มจำนวนของสเปิร์มในอสุจิได้ 33% และมีผลลดปริมาณของสเปิร์มที่ผิดปกติลง 29% และมีอีกกรณีศึกษาในผู้ป่วยทั้งชายและหญิง 189 คน ที่มีความต้องการทางเพศลดลง พบว่าถั่งเช่าสามารถช่วยทำให้อาการและความต้องการทางเพศสูงขึ้น 66%
กรณีศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยการให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานถั่งเช่าปริมาณ 3 กรัม/วัน พบว่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ถึง 95% ในขณะที่กลุ่มที่รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้เพียง 54%
กรณีศึกษาฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของไต มีงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรัง 28 คนรับประทานถั่งเช่า (Cordyceps sinensis) ปริมาณ 3-5 กรัม/วัน พบว่าถั่งเช่าส่งผลลดปริมาณเม็ดเลือดขาวบางชนิด และอาจส่งผลดีต่อการทำงานของไตได้ แต่งานวิจัยฉบับนี้ไม่สามารถระบุรายละเอียดของวิธีการวิจัยหรือสิ่งที่ใช้วัดผลการทำงานของไตที่ชัดเจน
- ข้อควรระวังกินถั่งเช่า
ขณะเดียวกันคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ยังมีข้อควรระวังเกี่ยวกับสมุนไพรถั่งเช่า ออกมาแนะนำประชาชนด้วย ดังนี้
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ จะไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือด
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) ทั้งนี้เพราะว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
“ถั่งเช่า” ถือได้ว่าเป็นสมุนไพรสุดฮิตในปัจจุบัน เป็นการใช้ตามสรรพคุณของภูมิปัญญาที่มีมานานกว่าศตวรรษ แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อย ฉะนั้นการใช้ถั่งเช่าจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะ ถั่งเช่ามีราคาสูงมาก และอย่าลืมว่าไม่มียาวิเศษใดในโลกนอกจากการดูแลตนเอง
--------------------
ที่มา :
ชัวร์ก่อนแชร์ : ถั่งเช่าไม่มีในประวัติศาสตร์ยาจีน จริงหรือ ?