‘2 ยักษ์อีคอมเมิร์ซ' แข่งเดือด ‘ลาซาด้า-ช้อปปี้’พลิกกลยุทธ์สู้
ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2564 ยังเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือด โดยเฉพาะผู้เล่นหลักในตลาดอย่าง “ลาซาด้า” และ “ช้อปปี้” ที่ออกมาโหมแคมเปญใหญ่เพื่อกระตุ้นตลาดการค้าออนไลน์ที่คาดว่า ปีนี้ยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด
อย่างไรก็ดี ปี 2563 แม้จะมีความท้าทายหลายอย่างเกิดขึ้นแต่ลาซาด้าประเทศไทยสามารถเพิ่มจำนวนผู้ซื้อ คำสั่งซื้อ และจำนวนผู้ขายที่ขายได้ (selling seller) มากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันสามารถคงความเป็นผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ซได้อย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญมาจาก การเติบโตของยอดขายแคมเปญ 11.11 ที่เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า การเติบโตของผู้ขายที่ขายได้เติบโตมากกว่า 3 เท่า
สำหรับหมวดสินค้าขายดี 5 อันดับแรกประกอบด้วย โทรศัพท์มือถือ ยานยนต์และอุปกรณ์ เสื้อผ้าผู้หญิง มอเตอร์ไซค์และอุปกรณ์ และอุปกรณ์ภายนอกบ้าน ตามลำดับ ขณะที่หมดสินค้าที่มีอัตราการค้นหาเพิ่มสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา 5 อันดับแรกประกอบด้วย สินค้าอุปโภคบริโภค(ซูเปอร์มาร์เก็ต) บ้านและไลฟ์สไตล์ ของใช้ในครัวเรือน สินค้าเพื่อสุขภาพ และสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ด้านคีย์เวิร์ดที่มีการค้นหาสูงสุดคือ สายคล้องแมส และหน้ากากอนามัย
ช้อปปี้คาด 3 เทรนด์ใหญ่ปลุกอีคอมเมิร์ซ
ขณะที่ “เทอเรนซ์ แพง” ประธานฝ่ายปฎิบัติการ ช้อปปี้ คาดการณ์ถึง 3 เทรนด์ใหญ่ในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปีนี้ ได้แก่ 1.ความนิยมในการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความนิยมสูงและผู้คนเริ่มคุ้นเคยส่งผลให้เกิดการชำระเงินแบบไร้เงินสดในโลกออฟไลน์ด้วยเช่นกัน โดยช้อปปี้ ได้พัฒนาบริการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่หลากหลายตอบสนองความต้องการผู้บริโภค
ตัวเด่นของ ช้อปปี้ คือ บริการของแอร์เพย์ (AirPay) ทำหน้าที่เป็นกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล ซึ่งช้อปปี้ พบว่า ทั่วภูมิภาคมีคำสั่งซื้อที่ชำระเงินผ่านแอร์เพย์เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ขณะที่ ฟีเจอร์ใหม่ ‘Scan & Pay Vouchers’ ของช้อปปี้ พบว่า มีร้านค้าที่เข้าร่วมใช้ฟีเจอร์ มีจำนวนธุรกรรมการใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 9 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน
2.ความสำคัญของโลจิสติกส์ สอดคล้องจากการที่ผู้บริโภคหันมาใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดความคาดหวังต่อบริการการจัดส่งสินค้าที่ต้องมีประสิทธิภาพ โดยในไทย ช้อปปี้มีการจัดส่งสินค้าเกี่ยวกับอาหารจากคลังสินค้าของช้อปปี้เพิ่มมากขึ้นเกือบ 4 เท่า
ทั้งนี้ แบรนด์ธุรกิจและผู้ขายต่างต้องการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้การจัดส่งสินค้าตรงเวลา ช้อปปี้ช่วยสนับสนุนและเปิดโอกาสให้แบรนด์ธุรกิจต่อยอดการเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยดูแลในขั้นตอนตั้งแต่ค้นหาสินค้าไปจนถึงการจัดส่ง
3.แบรนด์และผู้ขายต้องใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ ที่ทันสมัยกว่าเดิม แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจึงต้องปรับตัวและร่วมมือกับแบรนด์ธุรกิจและผู้ขายในการคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่ทันสมัยเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าในวิธีที่แตกต่าง
ปัจจุบันนี้ ช้อปปี้ มอลล์ มีแบรนด์ชั้นนำที่เข้าร่วมกว่า 20,000 แบรนด์ทั้งจากในและต่าง ซึ่งช้อปปี้ร่วมงานกับแบรนด์อย่างใกล้ชิดเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างและตื่นเต้นกว่าที่เคย เช่นได้นำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาใช้ เพื่อเสริมประสบการณ์ช้อปปิงออนไลน์ เป็นต้น
"ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในโลกอีคอมเมิร์ซ ผู้บริโภคต้องรักษาระยะห่าง และอยู่บ้านมากขึ้น จึงหันมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้น ทำให้การช้อปปิ้งออนไลน์พัฒนาจากการเป็นพื้นที่ซื้อ-ขาย เพื่อตอบสนองความจำเป็นไปสู่พื้นที่การสร้างประสบการณ์เชิงสังคม สู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่สร้างการเชื่อมต่อและตอบโต้ระหว่างกันได้มากขึ้น เช่น เล่นเกม ไลฟ์สด เพื่อสื่อสารกับผู้ใช้งาน เราคาดการณ์ถึงการที่อีคอมเมิร์ซจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการใช้ชีวิต การติดต่อ และการดำเนินธุรกิจต่อไป" ผู้บริหารช้อปปี้ กล่าว