‘ททท.’ จ่อชง ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เฟส 3 เล็งขอรัฐช่วยจ่าย 'ตั๋วบินบุฟเฟต์'
โครงการรัฐ “เราเที่ยวด้วยกัน” เป็นฟันเฟืองสำคัญที่พอจะช่วยพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยซึ่งเหลือเพียงรายได้จากตลาดในประเทศขาเดียวให้พึ่งพา ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังไม่คลี่คลาย!
ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายรายได้การท่องเที่ยวจากตลาดในประเทศปี 2564 ที่ 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากเป้าหมายนักท่องเที่ยวไทย 120 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 33%
หลังจากปี 2563 รายได้การท่องเที่ยวภายในประเทศปิดที่ตัวเลข 4.8 แสนล้านบาท ลดลง 55% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งปิดที่ 1.08 ล้านล้านบาท ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวไทยปีที่แล้วอยู่ที่ 90.74 ล้านคน ลดลง 47% เมื่อเทียบกับปีก่อน
แต่พอจำนวนสิทธิห้องพักหมดลงทั้ง 6 ล้านห้อง! คำถามคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปรับแผนการใช้งบประมาณโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อผลักดันให้เกิดกระแสการเดินทางท่องเที่ยวต่ออย่างไรในช่วง 10 เดือนที่เหลือของปี 2564 หลังถูกโควิด-19 ระลอกใหม่ระบาดในประเทศตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ททท.อยู่ระหว่างรวบรวมงบประมาณที่เหลือจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” หลังจากห้องพัก 1 ล้านห้องใหม่ในเฟสที่ 2 มีนักท่องเที่ยวจองสิทธิเต็มแล้ว คาดว่าหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น จะเสนอรัฐบาลพิจารณาขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ด้วยการเปิดเฟสที่ 3 เพิ่มเติม และขยายระยะเวลาให้สิ้นสุดเดือน ก.ย.2564 จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.นี้
“เรื่องการขยายโควตาห้องพักในเฟสที่ 3 อาจจะมีการขยายเวลาการเข้าพักออกไปถึงเดือน ก.ย.2564 เพื่อให้ครอบคลุมถึงช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหรือโลว์ซีซันที่การเดินทางอ่อนตัวลง ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องดำเนินควบคู่คือการอุดช่องโหว่หรือจุดอ่อนของโครงการในระยะแรก”
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะลดราคาเพดานต่อห้องพักจาก 7,500 บาท มาเป็น 2,700 บาท หลังพบว่าผู้ใช้สิทธิในสองเฟสแรก เลือกใช้ห้องพักในราคาเฉลี่ยไม่เกิน 2,700 บาทเท่านั้น การลดเพดานดังกล่าว จะทำให้สามารถใช้งบประมาณไปเพิ่มจำนวนห้องพักได้มากขึ้น โดยขณะนี้ ททท.อยู่ระหว่างจัดทำแผน อาจจะเป็น 1 หรือ 2 ล้านห้องขึ้นไป
สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มีการจองสิทธิห้องพักเต็มทั้ง 6 ล้านห้องของทั้งเฟส 1 จำนวน 5 ล้านห้อง และเฟส 2 อีก 1 ล้านห้องเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยก่อนหน้านี้ ททท.คาดว่าเกิดจากนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมที่เคยเที่ยวและใช้บริการห้องพักเต็ม 10 สิทธิ หลัง ครม.มีการขยายเพิ่มสิทธิให้เป็น 15 สิทธิ ทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้มากขึ้น มีการเข้าพักโรงแรม 5 ดาวของคนในพื้นที่ เพราะหากสถานการณ์ปกติราคาจะแพงมาก ไม่เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ยังมีหัวเมืองใหญ่อื่นๆ อาทิ เชียงใหม่ และภูเก็ต
ยุทธศักดิ์ เล่าเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้จะมุ่ง “ลบจุดบอด” เรื่องการใช้สิทธิ “ตั๋วเครื่องบิน” ของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน หลังพบว่ามียอดการใช้สิทธิต่ำมากเมื่อเทียบกับการใช้สิทธิห้องพัก โดยปัจจุบันเหลือสิทธิตั๋วเครื่องบินมากกว่า 1.34 ล้านที่นั่ง จากโควตาทั้งหมด 2 ล้านที่นั่ง
ททท.จึงได้ประชุมร่วมกับสายการบินในไทย และหารือถึงความเป็นไปได้หลายแนวทาง พบว่าแนวคิดที่เป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้คือการให้เงินสนับสนุนแก่ผู้โดยสารที่ซื้อ “ตั๋วเครื่องบินประเภทบุฟเฟต์” หรือ “อันลิมิเต็ด พาส” ในอัตราคนละ 2,000 บาทซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการสนับสนุนตั๋วเครื่องบินต่อใบในปัจจุบัน
ทั้งนี้การร่วมกับสายการบินขายตั๋วเครื่องบินแบบบุฟเฟต์ ต้องถกข้อสรุปร่วมกับสายการบินอีกครั้งว่าจะขายในราคาเท่าไร โดยข้อเสนอเบื้องต้นของสายการบินคือ ตั๋วเครื่องบินแบบบุฟเฟต์ราคา 12,000 บาท รัฐบาลช่วยอุดหนุนค่าเครื่องบิน 2,000 บาทต่อ 1 สิทธิ ระยะเวลา 3 เดือน สามารถบินในประเทศกี่เที่ยวก็ได้ หากรัฐบาลเห็นด้วยก็จะเร่งดำเนินการ เพื่อให้เกิดการเดินทางภายในประเทศมากขึ้น เป็นการเพิ่มความถี่ในการท่องเที่ยวหรือไปมาหาสู่กันมากขึ้น ส่วนโปรโมชันตั๋วเครื่องบินแบบบุฟเฟต์จะมีราคาเดียวหรือไม่ ต้องขอหารือกับผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมก่อน
“การสนับสนุนตั๋วเครื่องบินแบบบุฟเฟต์จะเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่า เพราะนักท่องเที่ยวสามารถซื้อไว้ล่วงหน้าเพื่อเดินทางทีหลัง ทำให้สามารถบริหารจัดการยืดหยุ่นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความถี่ของการเดินทางภายในประเทศด้วย เนื่องจากเมื่อผู้โดยสารซื้อตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าไว้แล้ว จะมีแรงจูงใจในการวางแผนเดินทางให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปด้วย” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว