‘มองเก่าให้ใหม่’ เรื่องน่าสนุกของนักออกแบบใน 'งานสถาปนิก ’64'

‘มองเก่าให้ใหม่’ เรื่องน่าสนุกของนักออกแบบใน 'งานสถาปนิก ’64'

เปิดมิติมุมมองใหม่ให้กว้างขึ้น ตึกเก่าที่มีคุณค่าในอดีต ถ้าถูกนำมาพัฒนาให้มีชีวิตชีวา จะมีทั้งคุณค่าและประโยชน์ใช้สอยในอนาคต

“การรักษาของเก่านอกจากคงอดีตไว้แล้ว การนำตึกเก่าแก่หลายๆ แห่ง ซึ่งบางแห่งจัดเป็นโบราณสถานนำมาก่อสร้างใหม่เพื่อใช้ได้ในอนาคต จึงนับเป็นการสร้างสรรค์ทิศทางการออกแบบใหม่ที่น่าสนุกสำหรับนักออกแบบ” ชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเพื่อโยงกับแนวคิด “มองเก่าให้ใหม่: Refocus Heritage” เรื่องราวมรดกสถาปัตยกรรม ร่วมกันอนุรักษ์ ปรับใช้ และต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานให้คงอยู่กับคนรุ่นใหม่ต่อไป โดยงานสถาปนิก64 งานแสดงสถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้างในอาเซียน ครั้งที่ 34 จะจัดขึ้นวันที่ 22-27 มิถุนายน 2564 

เทคโนโลยีคือสิ่งนำพาสถาปนิกไปสู่การเปลี่ยนแปลงในช่วงปี’64  ชนะ ยกตัวอย่างเมื่ออีกซีกโลกสามารถสร้างผลงานชิ้นใหม่ได้ ในอีกไม่กี่นาทีงานชิ้นนั้นก็ถูกเผยแพร่มาถึงประเทศไทย โดยในส่วนของงานอนุรักษ์ของเก่า และการก่อสร้างของใหม่ จะได้เห็นชัดว่ากำลังกลายเป็นเรื่องราวเดียวกัน ทั้งยังจะเป็นการเปิดมิติมุมมองโลกใหม่ให้กว้างขึ้น ตึกเก่ามีคุณค่าในอดีต จะถูกนำมาพัฒนาให้มีชีวิตชีวาเพื่อใช้คุณประโยชน์ได้ในอนาคต

161422542345

(เกาะรัตนโกสินทร์ งานออกแบบใหม่ที่คงความเก่าไว้ )

ยกตัวอย่างโรงภาพยนตร์สกาล่าเป็นแรงบันดาลใจสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ งานออกแบบยุคนี้จึงไม่ใช่เพียงก่อสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการสร้างเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันของมรดกวัฒนธรรม และมีความสำคัญยิ่งขึ้นโดยเฉพาะด้านการใช้สอย

อาคารเก่าแก่อีกแห่งในกรุงเทพฯ ศุลกสถานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้ารีโนเวทโดยเพิ่มประโยชน์ใช้สอยเพื่อให้อาคารคงอยู่ นอกจากคุณค่าก็จะสร้างความน่าตื่นตาให้กับอาคารเก่าแก่ ซึ่งเป็นทิศทางการออกแบบใหม่ในปัจจุบัน และต่อเนื่องไปถึงอนาคต

ผมเห็นอาคารเก่าที่มีคุณค่าในการใช้งานหลากมิติ สำนักงานป่าไม้ จ.แพร่ มรดกจากบริษัทค้าไม้จากเดนมาร์ก ในอดีตเป็นอาคารสถานไม้สักสร้างใน ปี 2478 เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของกรมป่าไม้ หรือเป็นโรงเรียนสร้างคนทำงานป่า

ในอนาคตอาคารนี้คือศูนย์รวมพลได้เช่นเดียวกัน ไม่จำกัดแค่ข้าราชการป่าไม้ แต่กิจกรรมเปลี่ยนไปเพื่อการอนุรักษ์เพื่อการเรียนรู้ป่าริมแม่น้ำของคนทั่วไปได้อีกด้วย”

 วิธีการอนุรักษ์จึงถูกนำมาตีความในหลากหลายมิติ ชนะ เล่าถึงการนำตึกเก่าแก่หลายๆ แห่ง ซึ่งบางแห่งจัดเป็นโบราณสถานนำมาก่อสร้างใหม่ เพื่อใช้ได้ในอนาคต จึงนับเป็นการสร้างสรรค์ทิศทางการออกแบบใหม่ที่น่าสนุกสำหรับนักออกแบบอย่างมาก

 “การอนุรักษ์ในวันนี้คือการสร้างเพื่อใช้สอยต่อไป งานอนุรักษ์ไม่ได้จบแค่คงของเก่าไว้แล้วมองได้เพียงความชื่นใจ หรือรีโนเวทแล้วทิ้งเขาไว้เหงาๆ ไร้ชีวิตชีวา แต่สำหรับผมและนักออกแบบยุคนี้มองในมุมสร้างประโยชน์เพื่อใช้สอยมากกว่าในอดีต การออกแบบในปัจจุบันก็เพื่อรองรับชีวิตในอนาคต และนี่คือมิติกว้างขึ้น

งานออกแบบจึงไปไกลกว่าคิดสร้างวิธีใช้ ไม่หยุดแค่การคิดดีไซน์สร้างอาคาร หรือครีเอทการตกแต่งภายในให้สวยงาม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่แตกต่างจากการสร้างกล่องขึ้นมา งานที่มีคุณภาพเราต้องคิดสร้างกล่องใบนั้นให้มีชีวิตชีวา ถ้าเราก้าวไปถึง จุดนั้นได้ ก็จะสร้างเศรษฐกิจให้กับเมืองอนาคตได้ด้วยครับ”

 

ภารกิจกู้ชีพมรดกสถาปัตยกรรมไม่ให้สูญสลายไปตามกาลเวลา จึงเป็นสิ่งที่ถูกนำมาเป็นประเด็นสนทนาในงานสถาปนิ ’64 ชนะ กล่าวว่า เรื่องเทคโนโลยีคือสิ่งสำคัญอีกเรื่องที่สถาปนิกจแลกเปลี่ยนความรู้กัน

 “เราได้เห็นอาคารโรงงานกระดาษอายุเกือบร้อยปีใน จ.กาญจนบุรี สถาปัตยกรรมอาคารเก่าร่วมสมัยเดียวกันในเยอรมนี เราสามารถใช้ข้อมูลที่มีร่วมกันของอาคารเก่าแก่เหล่านี้มาใช้ในการอนุรักษ์ได้ โดยดึงเอาเสน่ห์ของจิตวิญญาณเก่ากลับมา ซึ่งเป็นการทำงานอย่างมีพื้นฐานข้อมูล โดยการสร้างโมเดลจำลองด้วยคอมพิวเตอร์สร้างภาพเมื่อราวร้อยกว่าปีที่แล้ว เพื่อให้พื้นที่สามารถใช้สอยใหม่ในอนาคต โดยผู้เฒ่าผู้แก่ให้ข้อมูลเดิม สร้างงานให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม การอนุรักษ์ก็จะมีความยั่งยืน

161423839094

(ชนะ สัมพลัง)

ขนะ กล่าวว่า หลังจากร่วมคิดกับคนทำงานกลุ่มสถาปนิก จึงเข้าใจดีว่าการทำงานอนุรักษ์เป็นงานที่มีความละเอียดเกินกว่าตาเห็น และการสร้างสรรค์งานต้องมีสุนทรียะ

 “ผมอยากยกตัวอย่างเพื่อนของผม อมตะ หลูไพบูลย์ สร้างงานจากเรื่องเล่าที่ไม่มีคนรุ่นนี้เคยเห็นสถานีรถไฟศาลาแดง สถานีแห่งแรกในเมืองไทย  ทั้งๆ ที่ในอินเตอร์เน็ตไม่มีภาพสถานีนี้เลย และภาพในยุคเก่าก็เป็นขาวดำ จึงต้องใช้จินตนาการ อมตะดึงเอารูปทรงหลังคาสถานีรถไฟแบบเก่ามาเป็นจุดสำคัญของตัวอาคาร สามารถสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ใจกลางเมือง The Commons ศาลาแดง ขึ้นมาให้กลายเป็นแอเรียสุดชิคได้ในทำเลใกล้สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง

 ผมมองว่านี่คือการอนุรักษ์เชิงความรู้สึก โดยดึงคุณค่าในอดีตมาไว้ในย่านนั้น ซึ่งวันนี้มีกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่เลือกหยิบงานตึกเก่ามาสร้างสรรค์ใหม่ อาทิ  Onion กลุ่มสถาปนิกที่ชุบชีวิตตึกเก่าในอดีตที่เป็นโกดังเก็บของ  4 คูหาในย่านท่าเตียนให้กลายเป็น ศาลารัตนโกสินทร์บูทีคโฮเต็ล ซึ่งโลเคชั่นดีมาก อยู่ติดริมแม่น้ำ ตรงข้ามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ฉากหลังเป็นวัดอรุณราชวราราม

โครงสร้างการออกแบบและการตกแต่งภายในเชื่อมโยงจากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นการออกแบบความเก่าที่มีคำจำกัดความว่า ‘Rustic Modern’ สร้างอาคารโดยรวมให้กลมกลืนไปกับโครงสร้าง ทำเลที่ตั้ง และชุมชนโดยรอบ ซึ่งในกรุงเทพฯ มีตึกเก่าให้สถาปนิกสร้างสรรค์ผลงานพื้นที่ใหม่อีกมากมายนะครับ