ปลดล็อกแล้ว! กัญชา ทำอาหารได้ไม่ผิด เช็คเงื่อนไขที่นี่
ปลดล็อกแล้ว! กัญชา และกัญชง สามารถนำมาทำอาหารได้ไม่ผิด แต่มีข้อยกเว้นของส่วนประกอบที่จะนำมาใช้ มีอะไรบ้าง? เช็คเงื่อนไขที่นี่
ไขข้อข้องใจ "กัญชา" และ "กัญชง" สามารถนำมาใช้ทำอาหารได้หรือไม่? และสามารถนำส่วนไหนมาใช้ประกอบอาหารได้บ้าง? "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพาไปหาคำตอบประเด็นนี้กัน
เมื่อเร็วๆ นี้ (25 ก.พ.2564) ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 พ.ศ.2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย
โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ ระบุว่า ด้วยปรากฏหลักฐายและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมว่า สารประกอบหรือกลุ่มสารประกอบในพืช สัตว์ หรือส่วนของพืชหรือสัตว์บางชนิด ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และไม่ควรนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคจากการบริโภคอาหาร จึงห้ามใช้พืช สัตว์ หรือส่วนของพืชหรือสัตว์ดังกล่าวในอาหาร
ทั้งนี้เป็นการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 378 พ.ศ.2559 เรื่องกำหนดพืช สัตว์ หรือส่วนของพืชหรือสัตว์ที่ห้ามใช้ในอาการ ลงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2559
ข้อ 2 ให้พืช สัตว์ หรือส่วนของพืชหรือสัตว์ตามบัญชีท้ายประกาศนี้ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ซึ่งหนึ่งในพืชหรือส่วนประกอบของพืชที่น่าสนใจ และเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจและสงสัยว่าสามารถนำมาทำอาหารได้จริงหรือไม่? คือ "กัญชา" (Cannabis) นั้น สามารถนำไปประกอบอาหารเพื่อรับประทานได้ โดยสามารถใช้ได้ทั้งต้น แต่มีเงื่อนไขและข้อยกเว้นดังนี้
1.เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศเท่านั้น
2.มีคุณภาพ หรือมาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
- เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
- ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
- สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบ และต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนักแห้ง
- กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชา และต้องมีสารไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนักแห้ง
ขณะเดียวกันในส่วนของ "กัญชง" หรือที่มีชื่อเรียกว่า "เฮมพ์" (Hemp) สามารถนำมาประกอบการอาหารได้เช่นกัน โดยมีข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขดังนี้
1.เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศเท่านั้น
2.มีคุณภาพ หรือมาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
- เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
- ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
- สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบ และต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนักแห้ง
- เมล็ดกัญชง (Hemp seed) น้ำมันจากเมล็ดกัญชง (Hemp seed oil) หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง (Hemp seed extract)
- กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชง และต้องมีสารไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนักแห้ง