จี้นายกฯ 'รื้อ' ทีมเศรษฐกิจ

จี้นายกฯ 'รื้อ' ทีมเศรษฐกิจ

จี้นายกฯ 'รื้อ' ทีมเศรษฐกิจ

กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เอกชนต้องการบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคเดียวกัน แต่ต้องเป็นคนที่ประสานการทำงาน มีการปฏิรูปงาน และเข้ามาข่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้จริง ที่ผ่านมาไทยมีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แต่ไม่มีการนำมาปฏิรูปการทำงานที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศไทยให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกและโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้มากพอ ทำให้ไทยเสียโอกาสในเวทีโลก อย่างปี 2564 ที่เศรษฐกิจโลกจะเติบโตมากขึ้น โดยอาเซียนโต 5.5% แต่ไทยทำไมโตแค่ 2% กว่าๆ ไม่ไปไกลกว่านั้น ก็ต้อวมาทบทวนเราตกหล่นตรงไหนไปหรือไม่

ส่วนเหตุการณ์ชุมนุมนั้น เอกชนอยากเห็นการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา เพราะอาเซียนก็จับตาดูเราอยู่ อีกทั้งเรายังเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มซีแอลเอ็มวี น้องๆก็ดูเรา ดูการแก้ไขปัญหา แต่หากใช้ความรุนแรงภาพของไทยเองก็ไม่ต่างจากเมียนมา ก็ต้องร่วมมือ สามัคคี

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับครม.รอบนี้ เอกชนต้องการบุคคลที่มีความรู้เศรษฐกิจ และเป็นทีมเศรษฐกิจที่มีเนื้อเดียวกัน หรืออันเดียวกันกับทีมเศรษฐกิจปัจจุบัน เป็นบุคคลที่ถูกยอมรับงานเศรษฐกิจ และนายกรัฐมนตรีสามารถบูรณาการทำงานร่วมกันในการผลักดันยุทธศาสตร์ชาติได้ ไม่ควรทำไรแล้วติดขัด ซึ่งไม่จำเป็ต้องมาจากพรรคเดียวกันแต่ขอให้มีการทำงานทิศทางเดียวกัน เข้าใจปัญหา และช่วยกันผลักดันแก้ปัญหา

ส่วนเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้น อยากให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากัน เพราะขณะนี้เรามีปัญหาเศรษฐกิจเยอะแล้ว ไม่อยากให้มีปัญหาการเมืองอีก เพราะจะไม่เกิดผลดีกับฝ่ายไหนเลย แต่ควรพูดคุยแก้ไขประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น

กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับครม. รัฐบาลต้องพิจารณา 3 อย่างในการเลือกบุคคลเข้ามาอยู่ในคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ คือ

1.ต้องหาคนที่รู้เรื่อง เข้าใจเศรษฐกิจ ไม่ใช่นำคนไม่รู้เรื่องมาเป็น เพราะประเทศไทยเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าควรต้องทำอะไรต่อไป

2.ต้องเป็นบุคคลโปร่งใส และยอมรับได้
3.รัฐบาลต้องซัพพอร์ต ไม่ใช่เหมือนกับกรณีนายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง ที่ไม่ถูกซัพพอร์ตมากพอ แล้วก็ต้องออกไปในระยะสั้นๆ

ส่วนการชุมนุมที่เกิดขึ้นแล้วมีภาพความรุนแรงนั้น เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันไม่ใช่แค่รัฐบาล ที่จะต้องสร้างความสงบเรียบร้อย เพราะกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุน หากนักลงทุนที่อยู่บ้านเราแล้วเห็นภาพส่งเสียงออกไปข้างนอกว่าบรรยากาศเป็นอย่างนี้ก็ส่งผลกระทบ เพราะจริงๆแล้วไทยมีหลายอย่างที่น่าลงทุนกว่าเวียดนาม แต่เวียดนามภายในประเทศมีความสงบเรียบร้อยกว่า แต่ไทยก็ทำได้หากทุกคนช่วยกันในข่วงที่ไทยกำลังทำหลายอย่าง เช่นวัคซีน พาสพอร์ต แก้กฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุน

รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ธนิต โสรัตน์ ระบุ การที่ 3 รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งถือเป็นจังหวะดีที่นายกรัฐมนตรีจะปรับตำแหน่งของแต่ละกระทรวง และต้องติดตามว่าจะมีแรงกระเพื่อมในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ หากมีความชุลมุนในการปรับตำแหน่งก็จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลรวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทางอ้อม

สิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นที่สุดคือการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่อยากให้นายกฯดึงคนที่มีความรู้จริงเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาบริหารงาน เพราะจุดด้อยของรัฐบาลที่เห็นชัดที่สุดคือทีมเศรษฐกิจ ไม่ได้หมายความว่าทีมเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่เก่ง เพียงแต่บางคนอาจเก่งด้านบริหารรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่
แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ควรดึงคนที่มีความรู้เรื่องการฟื้นเศรษฐกิจฐานรากเข้ามาอยู่ในทีมด้วย เพราะคนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นประชาชนคนทั่วไป แต่มาตรการที่รัฐออกมานั้นส่วนใหญ่ยังเน้นช่วยผู้ประกอบการและคนระดับกลาง

สิ่งที่อยากเห็นในการปรับครม.ครั้งนี้คือกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันทำงานเชิงรับมากเกินไป อยากให้ทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ เพราะมีกรมที่มีความสำคัญต่อทั้งภาคการค้าและการส่งออก รวมทั้งอยากให้เร่งพัฒนาเรื่องการค้าชายแดนและปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าของไทยมากยิ่งขึ้น

ภาคเอกชนยังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทรวงแรงงานด้วยเช่นกัน โดยอยากให้ทำงานเชิงรุกมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะปัจจุบันปัญหาแรงงานไม่ได้หมดไป ยิ่งในยุคนี้อัตราการว่างงานยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กจบใหม่ที่กำลังจะจบการศึกษาในเดือนเมษายนนี้ซึ่งมากกว่าครึ่งยังไม่มีงานรองรับอยากเห็นกระทรวงแรงงานมีมาตรการผลักดันให้ปัญหานี้หมดไป

นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การปรับครม.รอบนี้ ในมุมมองนักวิชาการนั้น ควรจะเลือกบุคคลที่ได้รับการยอมรับ และมีต้นทุนทางสังคม (โซเชี่ยล แคปปิตอล) ซึ่งในปัจจุบันสำคัญมากกว่าผู้มีบารมีทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว เพราะการมีต้นทุนทางสังคมจะทำให้ได้รับการยอมรับและต่ออายุการทำงานของรัฐบาล ถ้าเลือกคนที่สังคมยี้มา ก็เสร็จ


ทั้งนี้ ตนมองในส่วนของการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นเรื่องใหญ่ต้องหาบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจด้านกระแสเทคโนโลยี ดิจิทัล นอกเหนือไปจากการแก้ปัญหาข้อมูลด้านข่าวสารการเมือง และจะต้องมีบทบาทในการแถลงข่าวให้กับรัฐบาล เพราะเป็นผู้อยู่กับข้อมูล และไม่ควรปรับเปลี่ยนบุคคลที่ทำงานดีอยู่แล้ว เช่น กระทรวงการคลัง เพราะถือว่าทำงานได้ดีมีการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการลงทะเบียนเราชนะ ในกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น
ส่วนเรื่องสถานการณ์ชุมนุมที่มีเหตุการณ์รุนแรง ไม่ขอตอบ เพราะเป็นนักวิชาการที่จับตาดูความเคลื่อนไหวเท่านั้น