ทำไมต้อง ‘บูชาดาวนพเคราะห์’ ทำแล้วดีอย่างไร?
พิธี “บูชาดาวนพเคราะห์” เป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์อนัมนิกายหนึ่งเดียวในประเทศไทย เป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ยังดำรงไว้ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ถือปฏิบัติมายาวนานกว่า 187 ปี
พิธี “บูชาดาวนพเคราะห์” ณ วัดเขตร์นาบุญญาราม จันทบุรี ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีความเชื่อว่า ดวงดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 คือ อดีตพระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ และพระโพธิสัตว์ 2 พระองค์ ซึ่งเมื่อนิพพานแล้วแต่ครั้งโบราณ ได้โปรดมีพระเมตตาแบ่งภาคเป็นดาวนพเคราะห์ทั้ง 9
ดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 จะทำหน้าที่ดูแลทุกสรรพชีวิตบนโลกมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะดูแลดวงชะตาชีวิตเรา การบูชาดวงดาวจึงมีพลานุภาพ ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้ชีวิตของเราอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวงตลอดปี อานิสงส์ผลบุญแห่งการบูชาดาวนอกจากเราที่จะได้รับแล้ว ยังสามารถส่งต่อไปให้ถึงบิดามารดาญาติมิตรทั้งหลายทั้งปวงอีกด้วย
การ “บูชาดาวนพเคราะห์” ที่วัดเขตร์นาบุญญาราม เป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำพิธีกรรมต่างๆ ครบถ้วนดั่งเช่นโบราณกาลตามประเพณีเก่าก่อนที่เชื่อกันว่าหลังจากตรุษจีน 15 วันเทศกาลสารทหง่วนเซียว สารทใหญ่สารทแรกของปี พระสงฆ์และคณะผู้ศรัทธาจะจัดพิธีร่วมกันอัญเชิญพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์เสด็จมาในปางของดวงดาว เพื่อประทานพรสร้างความเป็นสิริมงคลให้ผู้คน
ทำไมถึงต้องบูชาดาวนพเคราะห์?
อาจารย์คฑา ชินบัญชร กล่าวว่า การบูชาดาวตามคติของมหายานเชื่อกันว่าวันหง่วนเซียว หรือว่าวันแรก วันเพาะปลูก หรือวันเกษตรกร หรือวันชาวนา เป็นวันที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ถือเป็นวันพระใหญ่แรกของปี สำหรับปีนี้ตรงกับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ตามประเพณีของมหายานรวมไปถึงอนัมนิกายถือว่า องค์เต๋าบ้อ หรือพระอนุตรธรรมมารดา พระมารดาแห่งดวงดาว ผู้สร้างดวงดาวและจักรวาล รวมถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและองค์พระโพธิสัตว์ทั้ง 9 พระองค์ที่จุติเป็นเทพเจ้าดาวนพเคราะห์ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัส พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ จะลงมาปกปักรักษาคุ้มครองชะตามนุษย์โลกผู้ที่ตกต้องดาวดวงใด เมื่อบูชาดาวดวงนั้นก็ถือว่าเป็นสิริมงคล
“จริงๆ แล้วเป็นกุศโลบายอันแยบยลของชาวจีนและมหายานโบราณที่นับถือในธรรมชาติ เนื่องจากลัทธิความเชื่อของเต๋าร่วมอยู่ด้วย และเกี่ยวข้องกับประเพณีการเพาะปลูกแรกนั่นเอง เพราะฉะนั้น พระจันทร์เมื่อขึ้น 15 ค่ำ เป็นตัวแทนของน้ำที่ขึ้นเต็มที่ ยังความอุดมสมบูรณ์ การที่เราได้ความเชื่อที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ทำให้ประชาชนและพุทธศาสนิกชนได้เข้าวัดทำบุญ ละทิ้งความชั่ว ประพฤติปฏิบัติดี ตามธรรมะคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นกุศโลบายอันแยบยลที่แฝงเอาไว้โดยใช้ธรรมชาติมาอิง เนื่องจากเต๋าเชื่อเป็นพลังของจักรวาลและพลังของธรรมชาติ”
การบูชาดาวนพเคราะห์ สามารถทำได้ทั้ง 2 แบบ คือ มหายานแบบจีนนิกาย และมหายานแบบอนัมนิกาย ทั้งสองมีประเพณีหง่วนเซียวเหมือนกัน แตกต่างกันบ้างที่ภาษาที่ใช้ รวมไปถึงประเพณีปลีกย่อย
- มหายานแบบจีนนิกาย หง่วนเซียวของมหายานก็จะเป็นเทศกาลโคมไฟเพื่อการเพาะปลูกแรกของปี จุดโคมไฟสวยๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง
- มหายานแบบอนัมนิกายโบราณ โดยเฉพาะที่วัดเขตร์นาบุญญารามที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ตั้งแต่พุทธศักราช 2377 จะเป็นการบูชาโดยการจุดเทียน
“การบูชาโดยการจุดเทียนนั้น หากเราดาวดวงไหนตกต้องชะตา เราก็จุดเทียนไปตามดวงดาวแต่ละดวง ซึ่งต้องดูตามวันเดือนปีเกิดของแต่ละคนจึงออกมาไม่เหมือนกัน ของใครของเขา ถาดใครถาดเขา มหัศจรรย์และสวยงามมาก ในขณะที่จุดจะเป็นช่วงเวลาที่เรามีสมาธิ ฟังบทสวดที่เป็นภาษาของอนัมนิกายโดยจะมีดนตรีผสมผสาน จะทำให้จิตของเราคลายความหมองเศร้า คลายความทุกข์ เกิดความผ่อนคลาย และจิตของเราสามารถเข้าถึงซึ่งสมาธิในช่วงขณะหนึ่งที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ” อาจารย์คฑา กล่าว
ช่วงเวลาที่เราระลึกนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ คือ พระอมิตาภะพุทธเจ้า (ออนีทอฮุก) พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า (เซ็กเกียหม่อนี้ฮุก ) พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตพระพุทธเจ้า (เอี๊ยะซือฮุก) จะเป็นช่วงเวลาที่เราได้คิดถึงธรรมะ คือคำสอนที่เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ และเราจะได้ทำความดี จิตของเรารวมกับพลังความคิด มองเห็นภาพพระพุทธองค์ และพลังของการอธิษฐานรวมเป็นหนึ่งเดียว สิ่งนี้ก็จะส่งผลให้เราเป็นคนคิดดี พูดดี ทำดี ตั้งแต่วันพระแรกของปี
การ “บูชาดาวนพเคราะห์” แบบของอนัมนิกายเป็นการเฉลิมฉลองวันพระแรก เฉลิมฉลองฤดูเพาะปลูกแรกของปี และเพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิตของเรา อาจจะมีการแตกต่างกันบ้างในแต่ละวัด ก็มีการปรับปรุงพัฒนาหรือว่าเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ที่วัดเขตร์นาบุญญารามยังสืบสานประเพณีดั้งเดิมมาจนถึงปัจจุบันนี้
นอกจากนี้ การบูชาดาวจะมีพิธีถวาย “พะเก่ง” นั่นคือ การเขียนชื่อตัวเองลงในใบฎีกาไปไว้ในอุโบสถ เพื่อถวายต่อพระพุทธเจ้า พระโพธิ์สัตว์ และทวยเทพ เพื่อให้ช่วยคุ้มครอง จะมีการสวดมงคลคาถาพระสูตรชั้นสูง ทั้งช่วงเช้า-เย็นภายในอุโบสถ ตลอดงาน เชื่อว่าจะนำพาความเป็นสิริมงคล ความร่มเย็นสู่ตัวเราและครอบครัว
วัดเขตร์นาบุญญาราม เป็นอารามเก่าแก่ในจังหวัดจันทบุรี เริ่มสร้างครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 รวมกว่า 180 ปี เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวพุทธฝ่ายอนัมนิกาย พุทธศาสนามหายาน และได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
อุโบสถได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ จวบจนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ที่ทรงพระกรุณาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ด้านในพระเกศของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ จึงล้วนเป็นเหตุมงคลในอารามแห่งนี้เป็น “เขตแห่งเนื้อนาบุญ” อย่างแท้จริง
ตารางงานบูชาดาวนพเคราะห์ประจำปี 2564 คณะสงฆ์อนัมนิกาย ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
20 กุมภาพันธ์ วัดมงคลสมาคม (แปลงนาม) (09.00-11.00 น.)
20-21 กุมภาพันธ์ วัดธรรมปัญญารามบางม่วง (สามพราน)
22-23 กุมภาพันธ์ วัดสมณานัมบริหาร (สะพานขาว)
25-27 กุมภาพันธ์ วัดอุภัยราชบำรุง (ตลาดน้อย)
28 กุมภาพันธ์ วัดอนัมนิกายาราม (บางโพ)
1-3 มีนาคม วัดโลกานุเคราะห์ (สำเพ็ง)
13-14 มีนาคม วัดกุศลสมาคร (สี่แยกราชวงศ์)