'ราคาทอง' ประเทศไทย ใครเป็นคนกำหนด?
พาไปไขข้อข้องใจ เบื้องหลัง "ราคาทอง" ประเทศไทย ใครเป็นคนกำหนด และมีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ราคาทอง "ถูก" หรือ "แพง"
"ราคาทอง" หรือ "ทองคำ" เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 63 ดันขึ้นไปบาทละ 30,000 บาทสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของ "ราคาทองคำไทย" ค่อยๆ ลดลงจนต่ำกว่าบาทละ 25,000 บาท ณ เดือน มี.ค. 64
แม้ทองคำจะถูกมองว่าเป็น "สินทรัพย์ปลอดภัย" ที่มักจะมีทิศทางราคาสวนทางกับ "สินทรัพย์เสี่ยง" อยู่เสมอ แต่ยังไม่อีกหลายปัจจัยที่มีส่วนทำให้ราคาทองคำเปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ
แล้วเบื้องหลัง "ราคาทองคำ" ที่ขึ้นๆ ลงๆ เกิดขึ้นจากอะไร ในบางครั้งเคยเปลี่ยนแปลงราคา และใครเป็นคนกำหนด กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปไขข้อสงสัยเบื้องหลังของราคาทองคำของประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- วายแอลจีเตือน'ราคาทอง' เสี่ยงปรับฐานต่อหลังหลุด 1,700 เหรียญ
- ‘ทองคำ’ ราคาขึ้น-ร่วง กับเบื้องหลังภาระที่ 'ร้านทอง' ต้องแบกรับ
- ใครเป็นคนกำหนด "ราคาทอง" ในประเทศไทย
หลายคนที่เคยเฝ้าจับตาการลงทุน "ทองคำ" อยู่ตลอด คงจะเคยเห็นความผันผวนของราคาทองคำ
การ "กำหนดราคาทอง" ของไทย ประกอบด้วยหลายปัจจัยตามที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น โดยผู้ที่กำหนดราคาทองคำไม่สามารถทำได้โดยใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะมี "คณะกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคมค้าทองคำ" คอยดูแลตลอดช่วงเวลาการซื้อขาย
โดยสมาคมฯ จะยึด "หลักประชาธิปไตย" ในการกำหนดราคาทองคำ ถือเสียงส่วนมาก 3 ใน 5 เสียงในการตัดสินใจ ซึ่งคณะกรรมการประกอบไปด้วยคณะกรรมการจาก
1. ห้างทองจินฮั้วเฮง
2. ห้างทองฮั่วเซ่งเฮง
3. ห้างทองเลี่ยงเส็งเฮงพาณิชย์
4. ห้างทองหลูชั้งฮวด
และ 5. ห้างทองแต้จิบฮุย
ราคาทองคำสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ซึ่งการกำหนดราคาทองของสมาคม จะอ้างอิงจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทองคำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- "ราคาทอง" ขึ้นลง กำหนดจากอะไรบ้าง?
ปัจจัยที่ทำให้ราคาทอง ขึ้นลง ไม่ใช่มีแค่เรื่องความต้องการซื้อ ความต้องการขายเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย โดย 4 ปัจจัยหลักที่มีความเกี่ยวข้องกับราคาทอง คือ
1. ราคาทองต่างประเทศ (Gold spot)
เป็นราคาทองที่อ้างอิงทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยังไม่ได้มีการบวก หรือลบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในการส่งมอบทองคำ เป็นการซื้อขายทองคำที่ไม่มีการส่งมอบ ซึ่งหากท่านพิจารณาดูราคา Gold spot จะเห็นว่ามีทั้งฝั่ง Bid (ราคารับซื้อ) และ Ask (ราคาขายออก)
ในการซื้อทองคำจากต่างประเทศนั้น ผู้ขายจะใช้ราคา Ask ในการคำนวณ เมื่อเราขายกลับไปยังผู้ค้าทองคำต่างประเทศ จะใช้ราคา Bid ในการคำนวณ
สมาคมค้าทอง ผู้กำหนดราคาทองภายในประเทศไทยจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เช่น พิจารณาว่าสภาวะตลาดทองคำภายในประเทศเป็นอย่างไร อาทิ มีความต้องการซื้อทองคำอย่างมากก็ต้อง "นำเข้าทองคำ" หรือหากมีความต้องการขายทองคำจำนวนมากก็ต้อง "ส่งออกทองคำ" เป็นต้น
2. อัตราค่า Premium (ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ)
เมื่อมีความต้องการซื้อทองคำจำนวนมากจากผู้สนใจลงทุนในทองคำ และปริมาณทองคำภายในประเทศมีไม่เพียงพอ ร้านค้าทองจึงจำเป็นต้องอาศัยการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ ซึ่งก็คือการซื้อจากผู้นำเข้า ซึ่งผู้นำเข้าก็ต้องซื้อต่ออีกทอดหนึ่งจากผู้ค้าในต่างประเทศ โดยจะมีการคิดค่า Premium (พรีเมียม)
ค่า Premium ก็คือค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อที่นำเข้า หรือส่งออกทองคำ รวมถึงค่าขนส่ง ค่าความเสี่ยง ดอกเบี้ยธนาคาร ค่าประกันภัยต่างๆ ซึ่งถูกกำหนดมาโดยผู้ค้าทองในต่างประเทศ ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าเป็นต้นทุนในการนำเข้าทองคำik8จากต่างประเทศเข้ามาขายผู้บริโภคในไทยนั่นเอง โดยในการคำนวนจะนำราคา Spot บวกค่า Premium ดังกล่าวนี้เข้าไปด้วย
ในทางกลับกัน เมื่อมีประชาชนมาขายทองคำแท่ง คืนให้กับร้านทองจำนวนมากๆ ร้านทองจำเป็นต้องทำการขายกลับคืนมาให้กับบริษัทผู้นำเข้า และผู้นำเข้าก็จะทำการขายคืนกลับไปให้กับผู้ค้าทองในต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ซึ่งในจุดนี้ต่างประเทศจะใช้ราคา Spot ฝั่ง Bid และหักลบค่าใช้จ่าย Premium ซึ่งในฝั่งขายออกนี้จะเรียกว่า Discount สำหรับสภาวะปกติค่า Premium หรือ discount จะอยู่ที่ +1 ถึง 2 เหรียญต่อออนซ์
แต่ในสภาวะผิดปกติ การที่ราคาทองคำในต่างประเทศปรับตัวขึ้นหรือลงอย่างมาก และรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น จะทำให้มีความต้องการซื้อทองคำจากทุกประเทศในโลกพร้อมๆ กัน ทำให้มีความต้องการซื้อในตลาดโลกมาก เกิดการแย่งซื้อ ส่งผลให้มีการปรับขึ้นลงค่า Premium และ Discount จากผู้ค้าในต่างประเทศอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากเช่นกัน
3. ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินบาทในการคำนวณราคาทองในประเทศ จะใช้อัตราการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีการเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกัน Gold spot และมีการใช้ราคาในฝั่ง Bid (ราคารับซื้อ) และ Ask (ราคาขายออก)
4. Demand และ Supply ของทองคำภายในประเทศ
"คณะกรรมการควบคุมราคาทอง" ของสมาคมค้าทองคำ จะเป็นผู้พิจารณาราคา Gold Spot / ค่า Premium และค่าเงินบาท ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยความต้องการซื้อ/ความต้องการขาย ภายในประเทศด้วยเป็นหลัก เพื่อที่จะตัดสินใจประกาศ "ราคาทองคำภายในประเทศ" ณ ช่วงเวลานั้นๆ โดย จะพิจารณาจากปริมาณ และราคาจากการซื้อขายระหว่าง
- ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกทองคำ
- ร้านค้าทองเยาวราช
- ร้านค้าส่งทองคำ
- ร้านค้าปลีกทองคำ
- ผู้ลงทุนทองคำรายใหญ่
- ผู้ลงทุนทองคำรายย่อย
กล่าวคือ ไม่ใช่ว่าร้านทองจะซื้อขายกับประชาชนผู้สนใจลงทุนในทองคำเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ที่มีการซื้อและขายทองคำด้วยกันเองตลอดเวลาด้วย ซึ่งการซื้อขายของร้านค้าทองด้วยกันเองนั้นจะมีปริมาณที่มากกว่าการซื้อขายกับผู้ลงทุนทั่วไปหลายเท่าตัว
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าสมาคมฯ ประกาศราคาทองคำสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริงจากตลาดต่างประเทศมากไป ร้านทองด้วยกันเองจะมีการวิ่งเข้าหาซื้อหรือเทขายกันเอง ส่งผลให้สมาคมฯ ต้องปรับราคาให้เหมาะสมในที่สุด เพื่อสะท้อนถึงความต้องการทองคำของตลาดตามความเป็นจริง ตามกฎของความต้องการซื้อ/ความต้องการขาย กลไกของตลาดดำเนินการไปด้วยตัวของมันเอง
ที่มา: สมาคมค้าทอง