5สัญญาณรัฐประหารทุบเศรษฐกิจเมียนมา

5สัญญาณรัฐประหารทุบเศรษฐกิจเมียนมา

5สัญญาณรัฐประหารทุบเศรษฐกิจเมียนมา และนี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ต่างชาติหนีหายไปจากดินแดนนี้

การรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่1ก.พ.ที่ทำให้ดินแดนนี้ตกอยู่ในสภาพวุ่นวาย มีการชุมนุมประท้วงทุกวันและมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและทหาร-ตำรวจแทบทุกวัน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ที่สำคัญกว่านั้น การรัฐประหารที่เกิดขึ้นกำลังสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจของเมียนมา ดูจากตัวบ่งชี้เชิงสถิติทำให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจเมียนมากำลังถอยหลังแม้เพิ่งจะแสดงให้เห็นว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้

จากข้อมูลของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)บ่งชี้่ว่าเมียนมา ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดของโลกแต่การที่เมียนมาค่อยๆปรับเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยก็สร้างความหวังแก่โลกว่าในไม่ช้าเศรษฐกิจของเมียนมาจะเติบโตเหมือนเพื่อนบ้านในอาเซียน ขณะที่ ตั้งแต่สิงคโปร์ ประเทศที่เข้าไปลงทุนโดยตรงในเมียนมารายใหญ่สุด จนถึงญี่ปุ่น ซึ่งให้การสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ๆในเมียนมา ตลอดจนถึงบรรดาผู้เล่นต่างชาติอีกจำนวนมากต่างจับตาและเดิมพันเกี่ยวกับอนาคตของประเทศนี้

161585607356

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ายังมองไม่เห็นอนาคตของเมียนมา เนื่องจากคนงานจำนวนมากในเมียนมา ถ้าไม่ผละงานออกไปร่วมชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐประหารก็หนีกลับบ้านเกิดในช่วงที่ทางการใช้กำลังเข้าปราบปราม สิ่งเหล่านี้ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจสะดุด และปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองยังทำให้ความพยายามควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำได้ยากลำบากมากขึ้น เป็นอุปสรรคต่อแผนพลิกฟื้นประเทศจากวิกฤตสาธารณสุข

ต่อไปนี้คือ5สัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเมียนมาได้รับผลกระทบจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพ และนี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ต่างชาติหนีหายไปจากดินแดนนี้

161585609545

1.ดัชนีพีเอ็มไอร่วงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(พีเอ็มไอ)ของเมียนมา รวบรวมโดยไอเอชเอส มาร์กิต ทรุดตัวลงไปอยู่ที่ 27.7 ในเดือนก.พ. จากระดับ 47.8 ในเดือนม.ค. ตัวชี้วัดกิจกรรมของโรงงานร่วงลงต่ำกว่า50จุดและแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการสำรวจเมื่อปี 2559

2.การจดทะเบียนธุรกิจใหม่ลดลง86%

สำนักงานบริหารการลงทุนและจดทะเบียนบริษัทของเมียนมาระบุว่า ในเดือนก.พ.มีธุรกิจใหม่จดทะเบียนเพียง 188 รายเท่านั้น เทียบกับเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 1,373 รายและเดือนก.พ.ปี 2563 ที่มีจำนวน 1,298 ราย การเข้าจดทะเบียนของบริษัทใหม่ที่ลดลงมากถึง 86% ตอกย้ำว่าปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมาขณะนี้กำลังลดทอนความน่าดึงดูดใจในการเข้ามาลงทุนของบรรดาบริษัทหน้าใหม่

“กิจกรรมทางธุรกิจที่เลวร้ายลง รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆอย่างเช่น พีเอ็มไอ เป็นปัจจัยที่จำกัดการหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในเมียนมาของบริษัทข้ามชาติรายใหม่ๆ”ลินดา หลู นักเศรษฐศาสตร์จากเมย์แบงก์ กิม เอ็ง ซึ่งมีฐานดำเนินงานในสิงคโปร์ ให้ความเห็น

หนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของเมียนมาคือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ผลิตให้กับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง เอชแอนด์เอ็ม แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นสัญชาติสวีเดน ซึ่งยุติการสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานผลิตในเมียนมา เมื่อวันที่ 8 มีค.โดยอ้างเหตุผลความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมา

ขณะที่เซมบ์คอร์ป อินดัสตรีส์ กลุ่มบริษัทสิงคโปร์มีแผนที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในย่างกุ้ง แต่การต่อสู้ที่ยืดเยื้อระหว่างผู้ชุมนุมประท้วงและกองทัพเมียนมาอาจจะทำให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติหายไปจากดินแดนนี้ โดยหว่อง คิม ยิน ประธานและซีอีโอเซมบ์คอร์ป ระบุระหว่างแถลงผลประกอบการบริษัทเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ว่า บริษัทจะรอจนกว่าสถานการณ์การเมืองในเมียนมามีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับอนาคตของโซนอุตสาหกรรมพิเศษทิลาวา โปรเจ็คที่ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นในตอนใต้ของย่างกุ้ง ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าจะช่วยดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเข้ามาในเมียนมา โดยหนึ่งในบริษัทชั้นนำที่ลงทุนในโปรเจคนี้คือ โตโยต้า มอเตอร์ ตัดสินใจเลื่อนการเปิดโรงงานผลิตออกไปก่อน แต่เดิมมีกำหนดเปิดโรงงานในปลายเดือนก.พ.

161585611670

3.การลงทุนหดหาย

ข้อมูลจากครันช์เบส ระบุว่า สตาร์ทอัพเมียนมาไม่ได้รับเงินทุนก้อนใหม่ๆเข้ามาเลยนับจนถึงต้นเดือนมี.ค.เทียบกับปี2563 ทั้งปี ที่สตาร์ทอัพเมียนมาระดมทุนได้ 2.6% ของมูลค่าการระดมทุนโดยรวมของอาเซียน

4.ปริมาณการค้าหุ้นดิ่ง60%

ตลาดหุ้นที่เพิ่งถือกำเนิดได้ไม่นาน เทรดหุ้นแค่6บริษัท กำลังเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนมากขึ้นเมื่อตลาดประกาศยุติการซื้อขายหุ้นอย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 1 และ2 กพ.ที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่เกิดรัฐประหาร และตั้งแต่3ก.พ.-9มี.ค.ปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งอยู่ที่ 85,436 หุ้น ลดลง 62% จาก 223,475 หุ้น

5.ความสามารถในการตรวจโควิดลด90%

ยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19ในเมียนมามีจำนวนทั้งสิ้น 142,000 ราย เสียชีวิต 3,200 ราย ขณะที่การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่และการเร่งฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริงแต่การรัฐประหารกลับเป็นอุปสรรคต่อความพยายามรับมือกับวิกฤตสาธารณสุขของเมียนมา

ข้อมูลจากกระทรวงสุขภาพและการกีฬาของเมียนมา ระบุว่า จำนวนการตรวจสอบหาเชื้อในแต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 1,600 รายในช่วง7วันของเดือนมี.ค. ไม่ถึงหนึ่งในสิบของอัตราเฉลี่ยประมาณ 17,000 รายในช่วง7วันก่อนเกิดการรัฐประหาร

161585614359