อวกาศไม่ไกลเกินเอื้อม! 'ไทย' ตั้ง 'ภาคีอวกาศ' หนุนพัฒนาเทคโนโลยีสเปซ

อวกาศไม่ไกลเกินเอื้อม! 'ไทย' ตั้ง 'ภาคีอวกาศ' หนุนพัฒนาเทคโนโลยีสเปซ

EvWaCo ทันสมัยที่สุด โมเดลแรกของโลก อุปกรณ์ลดแสงสว่างดาวฤกษ์ สำหรับศึกษาดาวคู่ และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ, เครื่องช่วยหายใจสำหรับใช้ในภาวะฉุกเฉิน ต้นทุนต่ำ ผลิตได้ง่ายและรวดเร็ว ใช้หลักการควบคุมการไหลของอากาศแรงดันสูง 

พัฒนาจากห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูง เป็นตัวอย่างเบาๆ จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ในการพัฒนาต่อยอดหรือประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศสู่ภาคพื้นดิน เพราะเทคโนโลยีอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป 

161771371455

ล่าสุดหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานทางเทคโนโลยีอวกาศ-ดาราศาสตร์ ที่ผนึกกำลังเป็น “ภาคีความร่วมมือเทคโนโลยีอวกาศไทย" (Thai Space Consortium : TSC) ได้ขยายเครือข่ายเพิ่มเป็น 12 หน่วยงาน เพื่อร่วมวิจัยพัฒนาสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ของประเทศ พร้อมกับสร้างอีโคซิสเต็มที่เหมาะสมและยั่งยืน

เปลี่ยน“ผู้ซื้อ"สู่“ผู้สร้าง”

161771362438

ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ในฐานะเลขานุการภาคีฯ กล่าวว่า ภาคีฯ จะเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรุ่นใหม่ ได้ร่วมกันสร้างและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก โดยใช้องค์ความรู้ภายในประเทศเรียนรู้ ลงมือทำ ทดสอบและควบคุมการใช้งานโดยฝีมือคนไทย รวมถึงออกแบบ และสร้างอุปกรณ์ Payload เพื่อใช้งานด้านต่างๆ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายการยกระดับองค์ความรู้ ของประเทศที่สำคัญมาก และจะพลิกโฉมประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย “เทคโนโลยีอวกาศ”

ความพร้อมของโครงการในระยะแรกแต่ละหน่วยงานภาคีจะใช้โครงสร้างพื้นฐาน กำลังคน และงบประมาณที่มีอยู่ในการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ร่วมในภาคียังมีทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการ คณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และนักศึกษาที่สนใจ ที่สามารถสนับสนุนการดำเนินโครงการได้ 

นอกจากนี้ ดัชนีนวัตกรรม GII ชี้ว่าไทยอยู่อันดับที่ 43 และเป็นอันดับที่ 10 ในเอเชีย หากจะตีตื้นอันดับจะต้องมีการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมขั้นสูงอย่าง อวกาศ อีกทั้ง 40%-70% ของมูลค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในอวกาศเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันแรงงานไทย 44% กำลังจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่คิดเป็น 24% มีแรงงานทั้งหมดกว่า 6 แสนคน ดังนั้น การวางยุทธศาสตร์ชาติให้มีการลงทุนทางด้าน “อวกาศ” จะช่วยประคองอุตสาหกรรมไฟฟ้าภายในประเทศได้

161771373129

ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมอวกาศทั้งโลกจะมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นมูลค่าหลายเท่าของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในปัจจุบัน นับได้ว่าอุตสาหกรรมอวกาศอยู่ในช่วงขาขึ้น และไทยต้องใช้ห้วงเวลานี้ตักตวงโอกาสพัฒนาศักยภาพการผลิตให้ทันท่วงที 

“เมื่อ 30 ปีก่อนไทยตกขบวนเซมิคอนดักเตอร์ แต่วันนี้เราจะไม่ตกขบวนอวกาศ หากผลักดันเพียงแค่ 1% เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้อย่างมหาศาล เพราะฉะนั้น อุตสาหกรรมอวกาศจึงถือเป็นกุญแจสำคัญของประเทศไทยที่จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการที่ประเทศไทยติดกับดักกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง”

ดาวเทียมวิจัยวิทย์ฯ ฝีมือไทย

ส่วนแผนดำเนินงานในช่วงปี 2564-2570 กำหนดแผนสร้างดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์หรือ TSC หลายดวง โดย TSC-Pathfinder ดาวเทียมดวงแรกกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2566 จากนั้นจะเป็นการสั่งสมประสบการณ์ องค์ความรู้และพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีกระทั่งสามารถสร้างดาวเทียม TSC-2 เพื่อโคจรรอบดวงจันทร์ จึงเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้

'เทคโนโลยีอวกาศ' ของไทย ไม่จบแค่ไปดวงจันทร์ 

“ไม่อยากให้โฟกัสที่การส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ เพราะด้วยเป็นเป้าหมายการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งขณะนี้งานหลักๆ คือการออกแบบสร้างดาวเทียมวิจัย Pathfinder และ TSC-1 ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จากการทำองค์ประกอบต่างๆ การออกแบบดาวเทียมต่างๆ และโปรเจ็ค จะเป็นส่วนหนึ่งของการไปโคจรศึกษาวิจัยดวงจันทร์ เพราะหากขาดการเริ่มต้นจะต่อยอดไปยังโครงการอื่นๆไม่ได้”

วัตถุประสงค์การทำ TSC ไม่ได้จบแค่การไปดวงจันทร์ แต่มองถึงเทคโนโลยีอวกาศอีกมากมายที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมเศรษฐกิจอวกาศที่มีมูลค่ามหาศาลในอนาคต และสร้างจีดีพีให้กับประเทศไทย แต่งบประมาณไม่ได้ทุ่มให้กับด้านเทคโนโลยีอวกาศเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความสามารถของกำลังคน ทำให้ทีมงานเกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอด

161771383331

สำหรับประชาชนและภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมในโครงการโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) จะสนับสนุนเงินลงทุนให้แก่สตาร์ทอัพ นอกจากนี้ภาคเอกชนยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ เช่น การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของดาวเทียม ระบบการสื่อสาร

ผลที่เกิดจากการดำเนินโครงการ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ สร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างงานในสายอาชีพวิทยาศาสตร์และสาขาอื่นๆ สร้างเทคโนโลยีและสร้างอุตสาหกรรม สิ่งสำคัญที่สุดที่ คือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในชาติ

เพราะปัจจุบันไทยมีสัดส่วนของคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในวงการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต่อสาขาอื่นๆ เป็น 30:70 ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีอัตราส่วนเป็น 70:30 ทั้งนี้ประเทศเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยีอวกาศเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนในประเทศหันมาสนใจการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังเช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย เป็นต้น

161771384975