ร่วม 'ทุกข์' และ 'สุข' มุ่งเป้าสู่ความยั่งยืน

ร่วม 'ทุกข์' และ 'สุข' มุ่งเป้าสู่ความยั่งยืน

วิกฤตการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือและบางส่วนของภาคอีสานในช่วงที่ผ่านมา ยังคงเป็นแค่บททดสอบแรกของการเผชิญความท้าทายในช่วงเวลาต่อไปนับจากนี้ ซึ่งเพียงแค่บทแรกก็สร้างความสูญเสียอย่างมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

รวมใจกันมา โดยไม่ต้องนัดหมาย

อย่างไรก็ตาม ความทุกข์เหล่านั้น ก็มีผู้ที่แข็งแรง พร้อมจะร่วมแบ่งปันและช่วยเหลือ เราจึงได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างพร้อมเพรียง เป็น “ใจนำกาย” และปรากฏการณ์ที่ต่างก็พร้อมใจกันมา โดยไม่ได้นัดหมาย และประสานเป็นหนึ่งเดียวกันโดยอัตโนมัติ

คนยุคใหม่ ที่พร้อมจะขึ้นมาทำงานเพื่อส่วนรวม

น่าดีใจเหลือเกิน ที่ได้เห็นภาพของเด็กรุ่นใหม่ ผ่านการบอกเล่าของนักกู้ภัยว่า เมื่อเข้าไปจะให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนแห่งหนึ่งที่ประสบภัย แต่กลับได้พบว่ามีเด็กหนุ่มสาวในชุมชน นำคนในหมู่บ้านอพยพมาพักอาศัยรวมตัวกันที่วัดอย่างปลอดภัย และแบ่งหน้าที่กันทำคนละไม้คนละมือ ทำให้เราได้เห็นแล้วว่า คนรุ่นใหม่ก็สามารถจะนำชุมชนนั้นๆ ให้อยู่รอดปลอดภัยได้ด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งหากเรามีคนรุ่นใหม่เหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ต้องกังวลแล้วว่าประเทศเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

สละบ้านตัวเองเพื่อคนส่วนใหญ่

คือ ”น้ำใจ“ ของเจ้าของบ้านคนหนึ่งที่ยอมทุบกำแพงบ้านตนเองเพื่อส่วนรวม ให้น้ำมีทางระบายออกไป ไม่ให้ชุมชนด้านหลังต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วม คือสิ่งที่นำพาความอบอุ่นใจมาสู่ทุกผู้คน เมื่อเห็นผู้ใหญ่ใจดี ”วัดมังกรกมลาวาส“ ที่วางแผนให้โรงเรียนและโรงเจที่กำลังก่อสร้างที่จอดรถใต้ดิน 3 ชั้น ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่แก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำแทนชุมชนที่น้ำท่วมในทุกปี เป็นการตัดสินใจยอมรับน้ำไว้เองในทุกหน้าฝนต่อจากนี้ เป็นความมุ่งมั่นที่น่าชื่นชมยิ่ง

เสาหลักของมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability)

เราส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับ 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability) ซึ่งได้แก่ 1) Profit (เศรษฐกิจ) 2) People (สังคม) และ 3) Planet (สิ่งแวดล้อม) ที่ทุกธุรกิจในปัจจุบัน

ล้วนให้ความสำคัญในการสร้างสมดุลของ 3 เสาหลักนี้ เพื่อนำไปสู่ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals–SDG (SDGs) ซึ่งเดิมธุรกิจอาจจะมุ่งเป้าไปที่การสร้างกำไรอย่างเดียว หากแต่ปัจจุบันเราล้วนตระหนักว่า ทั้ง 3 สิ่งล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนในบริเวณนั้น และสิ่งแวดล้อมไม่ให้ทรุดโทรมและส่งผลกระทบต่อกัน

การบริหารจัดการอาคารชุดกับความยั่งยืน

สำหรับธุรกิจบริหารจัดการอาคารชุดที่ยั่งยืน ก็ต้องอาศัยแนวทางการสร้างสมดุลระหว่างเจ้าของร่วมหรือผู้พักอาศัยให้มีความสุข มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านข้างเคียง โดยที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย และเมื่อเกิดเหตุใดๆ ก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือต่อชุมชนรอบข้างทันที ดังเช่น เวลาที่เกิดเหตุไฟไหม้ในชุมชนใกล้เคียง ก็จะใช้น้ำจากโครงการเข้าไปช่วยกันดับไฟ หรือครั้งที่เมื่อเกิดวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ทุกโครงการโดยการนำของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดฯ และการดำเนินงานของนิติบุคคลฯ ที่มีหน่วยงานในองค์กรของ LPP ช่วยสนับสนุน ก็จะพร้อมใจกันช่วยพ่นละอองน้ำจากยอดอาคาร เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบต่อทุก P : People คือทั้งลูกค้าในโครงการ เพื่อนบ้านข้างเคียง และสังคมโดยรวม ทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ P : Planet อีกด้วย หรือเมื่อครั้งที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่กรุงเทพฯ เองก็ไม่อาจรอดพ้น ก็จะเห็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เจ้าของร่วมในโครงการได้ร่วมกับนิติบุคคลฯ ช่วยกันกั้นกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วมโครงการ และใครที่มีความสามารถในด้านใด ก็จะช่วยกันเข้าไปร่วมสนับสนุน 

ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่สามารถรู้อนาคตได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง การวางแผนงานในการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหาหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ทุกเหตุการณ์ผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่น เสมือนลมใต้ปีกที่ต่างพยุงให้ชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืนสืบไป