พิษโควิด! ซ้ำเติม 'ครอบครัวไทย' เปราะบาง หนี้สินมากขึ้น
"สวนดุสิตโพล" เผย "ครอบครัวไทย"ยุคโควิด-19 ร้อยละ 75.41 ประสบปัญหาหนี้สินมากที่สุด รองลงมาตกงาน และภาวะเครียด โรคซึมเศร้า ขณะที่ปัญหาหนักอก ร้อยละ 44.27 รายรับไม่พอกับรายจ่าย สภาพเปราะบางมากขึ้น
การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ส่งผลให้หลาย “ครอบครัวไทย” เกิดปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาด้านการเงิน และความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่กระทบต่อทุกบ้านอย่างมาก เพราะเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจในครัวเรือน เป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา
แถมหลายครอบครัว เมื่อต้องทำงาน “Work from home” อยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง ความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ก็เกิดขึ้น สู่ปัญหาความสัมพันธ์ร้าวฉาน "เปราะบาง" ไปจนถึงหย่าร้าง
- "ครอบครัวไทย"ในยุค "โควิด-19"ร้อยละ75.41หนี้สินมากสุด
ผลสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชน “ครอบครัวไทยในยุคโควิด-19” โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,184 คน พบว่า ปัญหาครอบครัวที่พบมากที่สุดในช่วงโควิด-19 คือ ร้อยละ 75.41 ปัญหา"หนี้สิน" ร้อยละ 69.95 คนในครอบครัว"ตกงาน"/ว่างงาน ร้อยละ 67.19 ความเครียด โรคซึมเศร้า ส่วนปัญหาหนักอกในครอบครัว พบว่า ร้อยละ 44.27 รายรับไม่พอกับรายจ่าย รายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ร้อยละ 20.31 วิตกกังวลเรื่องสุขภาพ กลัวติดโควิด-19 และร้อยละ 11.11 เรื่องการทำงาน ความมั่นคงในอาชีพ
ขณะที่พฤติกรรมของครอบครัวไทยในยุคโควิด -19 พบว่า พฤติกรรมครอบครัวไทยที่เพิ่มขึ้น คือ ร้อยละ 75.17 การดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว ร้อยละ 67.31 ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 และร้อยละ 57.09 มีความเครียด ความวิตกกังวล ส่วนพฤติกรรมที่ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 63.77 การเดินทางท่องเที่ยว ร้อยละ 62.42 กินข้าวนอกบ้าน และร้อยละ 44.51 มีรายได้ลดลง สำหรับมองยุคโควิด-19 ในแง่บวก ร้อยละ 70.28 ระมัดระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น ร้อยละ66.61 ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น และ 63.28 มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น
- สภาพ "ครอบครัวไทย"ประสบปัญหา“ศก.-เหลื่อมล้ำ”
ผศ.ดร.พิมพ์มาดา วิชาศิลป์ คณบดีโรงเรียนท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่าปัญหาครอบครัวไทย ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนหรือหลัง "โควิด-19" ก็มีปัญหาเรื่อง "หนี้สิน"อยู่แล้ว เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ เรื่องปากท้อง รายได้ หนี้สินจึงเป็นปัญหาที่คู่กับครอบครัวไทยมานาน ยิ่งเกิด "โควิด-19" หลายครอบครัวมีภาวะการ "ตกงาน" และบัณฑิตจบใหม่ที่เป็นความหวังของครอบครัวก็ไม่สามารถทำงานได้ ทำให้ปัญหาเรื่องรายได้ หนี้สินในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น
- คนไทยแต่งงานลดลงร้อยละ 17 ไม่อยากมีลูก
“ครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยเริ่มต้นของสังคมต้องได้รับการช่วยเหลือ และสำรวจชัดเจนว่าแต่ละครอบครัว ประสบปัญหาเรื่องการเงิน ปากท้องอย่างไรบ้าง ถ้าทุกครอบครัวมีรายได้มากขึ้น มีรายจ่ายลดลง ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา และนั่นส่งต่อไปยังความสุข "ความสัมพันธ์ในครอบครัว"อีกด้วย”ผศ.ดร.พิมพ์มาดา กล่าว
สภาพ "ครอบครัวไทย"ในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ จะเป็นครอบครัวเดี่ยว มีเพียงพ่อ แม่ ลูก ไม่ได้เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีปู่ยาตายายในบ้าน หรือเป็นครอบครัวที่พ่อแม่ต้องทำมาหากินในเมืองใหญ่ และส่งลูกหลานไปให้ปู่ยาตายายเลี้ยง นอกจากนั้นยังมีครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น ขณะที่สถิติการสมรสลดลง
แบงคอก แมทชิ่ง (Bangkok Matching) ธุรกิจจัดหาคู่ ได้เปิดสถิติการสมรสและการหย่าร้างของประเทศไทย ประจำปี.2563 จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ภาพรวมพบสถิติการหย่าของทั้งประเทศไทย ปี 2563 ลดลงราวร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่วนสถิติการสมรสก็ลดลงถึงร้อยละ 17 เช่นกัน โดยในส่วนของกรุงเทพฯ ประชากรประมาณ 5.6 ล้านคน เคยเป็นเมืองที่มีคนแต่งงาน และหย่ามากที่สุดในประเทศ พบว่า สถิติการหย่าร้างปี 2563 ลดลงราวร้อยละ 10 ส่วนสถิติการสมรส ก็ลดลงถึงร้อยละ 22
- "ครอบครัวไทย"เปราะบางมากขึ้น เหตุตกงาน-โควิด
ผศ.ดร.พิมพ์มาดา กล่าวต่อไปว่าเมื่อมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ เรื่อง"ความสัมพันธ์ในครอบครัว"ก็จะตามมาก เพราะทุกคนในครอบครัวเริ่มมีความเครียด ยิ่งถ้า "ตกงาน" หรือว่างงานยิ่งส่งผลให้สภาวะในการครอบครัวตึงเครียดมากขึ้น
สังคมไทยปฎิเสธไม่ได้เรื่องความเหลื่อมล้ำ คนที่รายได้น้อยพอเจอผลกระทบจากเศรษฐกิจ ปากท้อง "หนี้สิน" ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาลำบากมากขึ้น สภาพครอบครัวที่เห็นชัดในช่วงเกิด "โควิด-19" คือ การหย่าร้างอาจจะลดลงเนื่องจากการสมรสน้อยลงไปด้วย หลายคนนิยมอยู่ด้วยกันแต่ไม่แต่งงาน ไม่มีลูก เนื่องจากรายได้ในครอบครัว และด้วยปัญหาสังคมที่มีความรุนแรงมากขึ้น
- นักวิชาการ แนะรัฐช่วยผู้มีรายได้น้อย "ครอบครัวไทย"
“ครอบครัวที่มีทั้งพ่อแม่ลูกตอนนี้ก็เปราะบางมากขึ้น เพราะบางครอบครัว พ่อแม่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อเลี้ยงดูลูก แต่บางครอบครัวพ่อแม่ก็ตกงาน การเลี้ยงดูลูกก็ยากลำบากมากขึ้น ฉะนั้น สภาพครอบครัวไทยยุคโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้ครอบครัวไทยเปราะบางมากขึ้น ยิ่งในยุคที่ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง เข้าถึงข้อมูลหลากหลาย ทุกคนจะมองแต่ตัวเองเป็นหลัก มากกว่าจะช่วยเหลือผู้อื่น พี่น้องในครอบครัวก็จะต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน” ผศ.ดร.พิมพ์มาดา กล่าว
ผศ.ดร.พิมพ์มาดา กล่าวต่อว่าการแก้ปัญหา"ครอบครัวไทย"ในยุคนี้ ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสำรวจปัญหาครัวเรือน ไม่ว่าจะปัญหา "หนี้สิน" สุขภาพ หรือปัญหาด้านความรุนแรง ความสัมพันธ์ต่างๆ ของประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มของประชาชนที่มีรายได้น้อย เพราะกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ซึ่งหากแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง "หนี้สิน"ให้แก่พวกเขาได้ก็จะสร้าง "ความสัมพันธ์ในครอบครัว"ให้ดีขึ้นได้
ขณะเดียวกัน ในครอบครัวเอง ต้องมองช่วง "โควิด-19" เป็นโอกาส นอกจากจะฝึกฝนตนเอง ทำงานที่สองนอกเหนือจากงานหลักแล้ว ต้องช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมในครอบครัว ทุกคนต้องอยู่กันอย่างเข้าอกเข้าใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และที่สำคัญต้องพูดคุย รับฟังปัญหากัน เนื่องจากขณะนี้ต้องยอมรับ ด้วยปัญหาหลายๆ อย่าง ทำให้บางบ้าน บางครอบครัวไม่ได้สื่อสารกัน ยิ่งมีโซเซียลมีเดียหลายคนนั่งโต๊ะอาหารร่วมกัน ยังไม่ได้พูดคุยกัน
“พ่อแม่ ต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง ต้องทำตัวเป็นเพื่อนลูก ให้ลูกสามารถเล่าเรื่องที่พวกเขามีปัญหา และหากพ่อแม่มีสภาวะความเครียดต้องเล่าถึงปัญหาในครอบครัวให้ลูกรับรู้ และให้เขาได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาครอบครัวถ้าเขารู้ถึงปัญหาครอบครัวเขาจะสามารถแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ได้ ที่สำคัญต้องทำให้บ้านอบอุ่น น่าอยู่ เป็นบ้านที่ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง”ผศ.ดร.พิมพ์มาดา กล่าว