'น้ำปนเปื้อนรังสี'ญี่ปุ่นชนวนฟ้องศาลระหว่างประเทศ

'น้ำปนเปื้อนรังสี'ญี่ปุ่นชนวนฟ้องศาลระหว่างประเทศ

'น้ำปนเปื้อนรังสี'ญี่ปุ่นชนวนฟ้องศาลระหว่างประเทศ หลังประธานาธิบดีมุน แจอิน ของเกาหลีใต้สั่งให้เจ้าหน้าที่พิจารณาแนวทางในการยื่นร้องเรียนต่อศาลระหว่างประเทศ ในกรณีนี้

การตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่ทะเลในปริมาณ 1 ล้านตัน เพราะมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม กลายเป็นประเด็นร้อนและเป็นชนวนขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ ที่ล่าสุด ประธานาธิบดีมุน แจอิน สั่งให้เจ้าหน้าที่พิจารณาแนวทางในการยื่นร้องเรียนต่อศาลระหว่างประเทศ ในกรณีนี้

“โยชิฮิเดะ ซูกะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงนายฮิโรชิ คาจายามะ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนที่จะตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายว่าจะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่ทะเล แม้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้ รวมทั้งอุตสาหกรรมประมงของญี่ปุ่นเองจะออกมาคัดค้านก็ตาม

ซูกะ บอกว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถเลื่อนแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจลงสู่ทะเล และรัฐบาลจะออกคำชี้แจงพร้อมเหตุผลสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่ทุกฝ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ

แต่เดิมรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะประกาศการตัดสินใจเรื่องนี้ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว หลังจากที่มีการถกเถียงกันมานานกว่า 7 ปี แต่ก็เลื่อนการตัดสินใจออกไปเพื่อให้มีเวลาสำหรับการหารือมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่น เห็นว่าการทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เพียงเล็กน้อย และบริษัทโตเกียว อิเลกทริก พาวเวอร์ (เท็ปโก) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จำเป็นต้องทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล เนื่องจากบริษัทขาดแคลนสถานที่ในการกักเก็บน้ำที่ผ่านการบำบัดในปีหน้า

เท็ปโก ได้กักเก็บน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีมากกว่า 1 ล้านตันจากท่อหล่อเย็นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ นับตั้งแต่โรงไฟฟ้าได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2554

การตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐออกแถลงการณ์ว่า สหรัฐสนับสนุนการตัดสินใจของญี่ปุ่น และเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นได้ทำการทดสอบทางเลือกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดน้ำแล้ว นอกจากนี้ สหรัฐยังมองว่า การตัดสินใจของญี่ปุ่นในครั้งนี้มีความโปร่งใส เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ที่ปฏิบัติกันทั่วโลก

แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ไม่ได้คิดแบบเดียวกับสหรัฐ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประท้วงการตัดสินใจของญี่ปุ่น พร้อมทั้งเรียก “โคอิจิ อาอิโบชิ” เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงโซลเข้าพบ และเรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมมาตรการตอบโต้

“คัง มินซ็อก” โฆษกประธานาธิบดีเกาหลีใต้ บอกว่า ประธานาธิบดีมุน มีคำสั่งระหว่างการประชุมวันพุธ(14 เม.ย.) ให้พิจารณาแนวทางในการยื่นฟ้องศาลระหว่างประเทศที่กำกับดูแลด้านทะเล เพื่อขอให้มีคำสั่งห้ามออกมา

นอกจากประธานาธิบดีแล้ว บรรดานักการเมือง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กลุ่มชาวประมง ตลอดจนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในเกาหลีใต้ก็ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการตัดสินใจของญี่ปุ่นเช่นกัน โดยนัดชุมนุมทั้งที่ด้านนอกสถานทูตญี่ปุ่นประจำกรุงโซล, เมืองปูซาน และเกาะเชจู ขณะที่สมาคมประมง 25 องค์กรส่งหนังสือประท้วงไปยังสถานทูตญี่ปุ่น และเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกแผนการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะลงทะเล และกดดันให้รัฐบาลเกาหลีใต้คว่ำบาตรอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่นด้วย

ส่วนจีน เรียกร้องญี่ปุ่นไม่ให้ปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประเทศอื่นๆ และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) พร้อมทั้งเรียกร้องสหรัฐให้ปฏิบัติต่อเรื่องนี้ตามข้อเท็จจริง อย่าเลือกข้าง

“จ้าว ลี่เจียน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า จีนขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินการตอบโต้การตัดสินใจของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกภายในระยะเวลาสองปี หน่วยงานระหว่างประเทศและบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนน้ำที่ผ่านการบำบัดยังคงปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีอื่นๆ และจำเป็นต้องได้รับการบำบัดและทำให้บริสุทธิ์มากขึ้น

วันเดียวกัน สำนักงานกำกับดูแลนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ตัดสินใจห้ามไม่ให้บริษัทเท็ปโก กลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท เนื่องจากมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความพยายามของบริษัทในการพลิกฟื้นธุรกิจนับตั้งแต่เกิดเหตุภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกุชิมะในปี 2554

สำนักงานกำกับดูแลนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น มีมติอย่างเป็นทางการ ห้ามเท็ปโก ขนย้ายเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่เก็บไว้ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ-คาริวะ ในจังหวัดนีงะตะ หรือโหลดเชื้อเพลิงเข้าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ-คาริวะ เป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ จำนวน 7 เครื่อง ซึ่งเท็ปโกพยายามที่จะกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ