'โควิด19' ยังรักษาในรพ. อีกกว่า 1 หมื่นราย!!

'โควิด19' ยังรักษาในรพ. อีกกว่า 1 หมื่นราย!!

โควิด 19 วันนี้ รายใหม่ 1,547 ราย รอบ1 สัปดาห์ติดเพิ่มเกือบหมื่นราย ยังรักษาในรพ.อีกกว่า 1 หมื่นราย

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 17 เม.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19(ศบค.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โรค "โควิด-19" ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 1,547 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,316 ราย ผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุก 228 รายและผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 3 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย

สะสมเฉพาะ "ระลอกเดือน เม.ย.2564" จำนวน 11,722 ราย เสียชีวิต 5 ราย สะสมทั้งหมด40,585 รักษาหายป่วยแล้ว 28,570 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล(รพ.) 11,916 ราย และผู้เสียชีวิต สะสม 99 ราย

เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย โดย รายแรก ชายไทยอายุ 38 ปี อาชีพโปรแกรมเมอร์โรคประจำตัวโรคอ้วนที่อยู่ขณะป่วยจังหวัดตากมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้าคัตเตอร์ทองหล่อ วันที่ 3 เมษายนมีอาการไอ คันคอ ปวดเมื่อยตัว วันที่ 4 เมษายนผลยืนยันพบเชื้อ และวันที่ 11 เมษายน ผู้ป่วยมีอาการทรุดหนักใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาอาการแย่ลงและเสียชีวิตในวันที่ 16 เมษายน 2564

และ รายที่ 2 ชายไทยอายุ 51 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่อยู่ขณะป่วยจังหวัดปทุมธานี มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า วันที่ 10 เมษายนมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะปนเลือด วันที่ 12 เมษายนผลยืนยันพบเชื้อ วันที่ 14 เมษายนมีภาวะหายใจล้มเหลว ใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาอาการแย่ลงและเสียชีวิตในวันที่ 15 เมษายน 2564



เมื่อเปรียบเทียบ อัตราป่วยและอัตราเสียชีวิต ของโรค "โควิด-19"​ ในประเทศไทย 3 รอบ พบว่า

- ระลอกมกราคม 2564 ( มกราคม- 14 ธันวาคม 63) 11 เดือนครึ่ง ผู้ป่วย 4,237 ราย อัตราหาย 98.5 8% อัตราเสียชีวิต 1.42 %

- ระลอกธันวาคม 2563 ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2563 ถึง 31 มีนาคม 2564 ระยะ 3 เดือนครึ่ง ผู้ป่วย 24,626 ราย อัตราหายป่วย 99.86 % อัตราเสียชีวิต 0.14 %

- ระลอกเมษายน 2564 ตั้งแต่ 1 - 13 เมษายนจำนวน 13 วันป่วย 5,712 อัตราหายป่วย 99.95 % อัตราเสียชีวิต 0.05%

ซึ่งนักวิชาการประเมินว่า ระลอกนี้จะเห็นว่าผู้ป่วยยังแข็งแรงเดินไปมาได้มากกว่า 2 รอบที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น ต้องการการเข้าอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ โดยคำว่าโรงพยาบาลมีหลายรูปแบบ ทั้งโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม รวมถึง Hospitel รองรับผู้ป่วยอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการ

"กราฟแสดงตัวเลขผู้ติดเชื้อพบว่าภายใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อจากเดิม 31,658 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 40,585 ราย จะเห็นว่าภายใน 1 สัปดาห์เพิ่มขึ้นเกือบ 1 หมื่นราย โดยยังมีผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษาพยาบาลพุ่งขึ้น ถึง 11,916 ราย ซึ่งเป็นนิวไฮ (New high) ของประเทศ เป็นปรากฏการณ์ที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน ยอดนี้พุ่งสูงขึ้น ดังนั้น ทุกอย่างต้องมีรับรู้ ปรับเปลี่ยนชุดพฤติกรรมพร้อมๆ กัน และยังมีปรากฏการณ์ติดเชื้อ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่การระบาดระลอกแรก" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า "โรงพยาบาลสนาม" มีการกล่าวถึงมากในการระบาดระลอกนี้ เพราะมีคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยจำนวนมาก เพราะฉะนั้นรพ.สนามจึงเป็นคำตอบ จากเดิมที่ผู้ติดเชื้อจะต้องเข้านอนในรพ.ทั้งหมดซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อไม่มาก แต่ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อมากแต่ไม่มีอาการยังเดินไปมาได้ จึงต้องให้อยู่ดูแลที่รพ.สนาม เพื่อสำรองเตียงในรพ.ไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงอาการหนักเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อทุกรายจะต้องเข้ารับการดูแลรักษาและแยกกัก โดยกรณีที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยจะเข้ารับการดูแลที่ รพ.สนาม หรือ Hospitel (ฮอสพิเทล) โดยจะมีบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการดูแล ซึ่งรพ.สนามมีศักยภาพในการดูแลที่เหมาะสม.ขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือ เมื่อติดเชื้อขอให้เข้าสู่การดูแลและแยกกักของเจ้าหน้าที่ เพื่อความปลอดภัย