'โควิด19'รอบนี้ 50%ของคนตายติดเชื้อจากครอบครัว
โควิด19 รายใหม่ 1,470 ราย เสียชีวิตพุ่งวันเดียว 7 ราย เทียบ3 รอบพบรอบใหม่ 50%คนตายติดจากคนในบ้าน อายุเฉลี่ยน้อยที่สุด -ระยะวันสั้นสุด
เวลา 11.30 น. วันที่ 22 เม.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการแถลงสถานการณ์ประจำวัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.)ว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,470 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด รักษาหายเพิ่ม 477 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย ระลอกเดือน เม.ย. มีผู้ติดเชื้อสะสม 19,250 ราย เสียชีวิตสะสม 23 ราย อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.12% ผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 48,113 ราย หายป่วยแล้ว 29,848 ราย กำลังรักษา 18,148 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใน รพ. 14,555 ราย รพ.สนามและอื่นๆ 3,593 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 117 ราย อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.24%
ผู้เสียชีวิต 7 รายใหม่ คือ 1.หญิงไทยอายุ 24 ปี อาชีพค้าขาย จ.พัทลุง มีโรคประจำตัวโรคอ้วน มีประวัติวันที่ 7 เม.ย.ไปสถานบันเทิง มีผู้ติดเชือ้โควิด วันที่ 16 เม.ย. ตรวจหาเชื้มีไข้ไอเจ็บคอ วันที่ 17 เม.ย. พบเชื้อ ปอดอักเสบ หายใจเหนื่อย วันที่ 19 เม.ย. ออกวิเจนในเลือดลดต่ำลง มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงและเสียชีวิต วันที่ 20 เม.ย. ในระยะเวลาไม่กี่วันหลังพบเชื้อ
2.หญิงไทยอายุ 68 ปี อาชีพดูแลเด็ก จ.สระบุรี มีโรคประจำตัวภูมิแพ้ วันที่ 5 เม.ย.ไปสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 12 เม.ย. เริ่มมีไข้ ไอ วันที่ 19 เม.ย. เข้ารับการรักษาใน รพ. หายใจลำบาก ใส่ท่อช่วยหายใจ ผลพบเชื้อและเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.
3.ชายไทยอายุ 83 ปี อยู่ กทม. มีความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูง วันที่ 17 มี.ค. มีไข้สูง ไอแห้ง น้ำมูก อ้อนเพลีย วันที่ 22 มี.ค. ไปรักษาคลินิกเอกชน วันที่ 23 มี.ค.รับการตรวจเชิงรุกหน่วยรถพระราชทาน วันที่ 24 มี.ค.ผลพบเชื้อ วันที่ 25 มี.ค. เข้า รพ. วันที่ 31 มี.ค. หอบเหนื่อยมากขึ้น อาการทรุดลง และรับการรักษาใน รพ. เสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.
4.หญิงไทยอายุ 80 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง จ.นครปฐม โรคประจำตัวเบาหวาน ประวัติวันที่ 13-15 เม.ย. ญาติเดินทางจาก กทม.มาเยี่ยม วันที่ 16 เม.ย. มีอาการอาเจียนเป้นเลือด ญาตินำส่ง รพ. ผลพบเชื้อโควิด ต่อมาอาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตวันที่ 17 เม.ย.
5.ชายไทยอายุ 45 ปี พนักงานขับรถ อยู่ กทม. โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง วันที่ 9 เม.ย. มีอาการไข้ไอเหนื่อย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 17 เม.ย. มีไข้สูง 40.2 องศา ไอ มีเสมหะ หนาวสั่น กินได้น้อยลง มาตรวจ รพ.รับยากลับบ้าน วันที่ 19 เม.ย. เข้ารับการรักษาใน รพ. มีหายใจหอบ เหนื่อย ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.
6.ชายไทยอายุ 59 ปี พนักงานรัฐวิสาหกิจ กทม. โรคประจำตัวเบาหวาน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 14 เม.ย.มีไอ วันที่ 20 เม.ย. เข้ารับการรักษาใน รพ. ด้วยอาการไอ หายใจลำบาก ใส่ท่อช่วยหายใจ ผลพบเชื้อ เสียชีวิตวันเดียว 20 เม.ย.
และ7.ชายไทยอายุ 86 ปี อาชีพรับจ้าง กทม. โรคหัวใจ วันที่ 5 เม.ย. มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 16 เม.ย.ผลตรวจพบเชื้อ มีไอแห้ง อ่อนเพลีย วันที่ 18 เม.ย. เข้ารักษาใน รพ. วันที่ 20 เม.ย. มีหอบเหนื่อย ไข้สูง ออกซิเจนในเลือดต่ำลง ต่อมาอาการแย่ลง เสียชีวิตวันที่ 21 เม.ย.
แนวโน้มยังไม่น่าไว้วางใจ
"แนวโน้มผู้ติดเชื้อยังไม่น่าไว้วางใจ ต้องไม่ประมาทการ์ดอย่าตก ตัวเลขยังขึ้นอยู่ มากกว่าพันทุกวัน โดย กทม.ตัวเลขยังแดงอยู่ จาก 350 ราย เป็น 365 ราย วันนี้เป็น 446 ราย ตัวเลขสะสม 4,775 ราย รองลงมาคือเชียงใหม่ จากเดิมร้อยมาตลอดหลายวัน เหลือ 99 ราย แต่ยังชะล่าใจไม่ได้ สะสม 2,597 ราย ชลบุรีรายเพิ่มขึ้น 97 ราย นนทบุรี เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 69 ราย เพิ่มเป็น 118 ราย เป็นต้น สถานการณ์รายวันแม้จังหวัดดูเป็นสีเขียวมากขึ้น คือ มีติดเชื้อ 1-10 ราย แต่ยังไม่ถือว่าดีขึ้น ถือว่ายังทรงอยู่" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
50%ป่วยตายติดจากในครอบครัว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคได้วิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตเปรียบเทียบการระบาด 3 รอบ พบว่า รอบปี2563 ติดเชื้อ 6,772 ราย เสียชีวิต 67 ราย อัตราเสียชีวิต 0.82% รอบม.ค.-มี.2564 ติดเชื้อ 21,035 ราย เสียชีวิต 27 ราย อัตราเสียชีวิต 0.13% และรอบเม.ย.2564 ติดเชื้อแล้ว 17,780 ราย เสียชีวิต 16 ราย อัตราเสียชีวิต 0.10% ขณะที่ 3 ปัจจัยเสี่ยงโยงกับความชุกของผู้เสียชีวิตใน 3 รอบไม่ต่างกัน คือ สถานบันเทิง บ่อน สนามมวย ทำงานในแหล่งชุมชน/ตลาด และติดเชื้อจากคนในครอบครัว โดยรอบปี 2564 นี้ มีราว50%ของผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในครอบครัว อายุเฉลี่ยผู้เสียชีวิตพบว่า ระลอกเม.ย. 64 น้อยที่สุด คือ เฉลี่ย 56 ปี ระลอกสองอยู่ที่ 64 ปี และระลอกแรกอยู่ที่ 58 ปี แต่สัดส่วนแล้วยังอยู่ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 50%ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่โรคประจำตัว ขณะที่ค่ากึ่งกลางของระยะเวลาจากวันทราบผลตรวจพบเชื้อถึงวันที่เสียชีวิต รอบที่ 1 อยู่ที่ 12 วัน รอบที่2อยู่ที่ 7 วัน และรอบนี้อยู่ที่ 6 วัน
ผู้ประกอบการต้องร่วมมือป้องกันโรค
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สถานบริการและสถานประกอบการประเภทต่างๆ ขอให้เข้าใช้งานแพลตฟอร์มthaistopcovid ของกรมอนามัย เพื่อประเมินตนเองว่าผ่านมาตรฐานการป้องกันโรคโควิด19หรือไม่ โดยได้มีการมอบหมายผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัดให้กระตุ้นการเข้าใช้งานของสถานประกอบการในพื้นที่แล้วด้วย ปัจจุบันทในพื้นที่สีแดง จังหวัดที่มีสถานประกอบการใช้งานประเมินตนเองมากที่สุด คือ ขอนแก่น นนทบุรี ภูเก็ต และพื้นที่สีส้ม คือ ยโสธร มุกดาหารและบึงกาฬ