'45 ซีอีโอ' บิ๊กคอร์ป ระดมสมอง แบ่งงาน ช่วย (รัฐ) หา 'วัคซีนทางเลือก'
หอการค้าไทย จับมือ "45 ซีอีโอ" บิ๊กคอร์ป ระดมสมอง แบ่งงานช่วย (รัฐ) วางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชน และจัดหา "วัคซีนทางเลือก" ให้เพียงพอ
วันนี้สถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง นอกจากมาตรการที่รัฐออกมาเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังแล้ว "วัคซีน" ก็เป็นคำตอบที่สำคัญและเป็นความหวังของคนไทยทั้งประเทศ ล่าสุดจำนวนการได้รับวัคซีน ยอดสะสม (28 ก.พ.-20 เม.ย. 2564) 712,610 โดส ใน 77 จังหวัด จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 คือ 604,947 ราย จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 อยู่ที่ 107,663 ราย จึงเกิดคำถามขึ้นมากมายเกี่ยวกับวัคซีน
ซึ่งขณะนี้นับเป็นข่าวดีที่ภาคเอกชน นำโดยหอการค้าไทย ได้จับมือซีอีโอบริษัทใหญ่กว่า 45 บริษัท เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชนและการจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ
โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย จัดการประชุมระหว่างหอการค้าไทยกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัทใหญ่จากทุกกลุ่มธุรกิจของไทยผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อร่วมกันวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชน และต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ
โดยสนับสนุนภาครัฐให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวโยบายหลัก ภารกิจ 99 วันแรกของการทำงานในหอการค้า ที่ต้องมีการ Connect the dots คือ ดึงความร่วมมือจากทุกฝ่าย ให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม วัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ จะต้องมีการเตรียมตัว และวางแผนการกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น หอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชน จะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนที่ภาครัฐจัดซื้อมา ให้เกิดประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด โดยจะเริ่มที่ กทม.ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นๆ พร้อมสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม
“หอการค้าไทยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2564 ต้องบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ 70% โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าของ กทม. ต้องได้รับการฉีดทั้งหมด 100% ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ส่วนการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปในกรุงเทพฯ ต้องให้ได้อย่างน้อย 50,000 โดสต่อวัน โดยภาคเอกชนจะเข้ามาเสริมการทำงานของภาครัฐเพื่อให้ได้เป้าหมายดังกล่าว
พร้อมกันนั้นจะจัดทำรูปแบบมาตรฐาน หรือรูปแบบตัวอย่างของภาคเอกชนที่สนับสนุนการฉีดวัคซีนให้กับจังหวัดอื่นๆ ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ และเชื่อมั่นว่าภาคเอกชนสามารถใช้ความถนัด ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรของพวกเราเพื่อประเทศได้” นายสนั่นกล่าว
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยและเครือข่าย จะแบ่งงานออกเป็น 4 ทีม เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีน ได้แก่
- TEAM A : Distribution and Logistics
ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ช่วยสนับสนุน สถานที่ บุคลากร อาสาสมัคร และอุปกรณ์ IT เช่น คอมพิวเตอร์ ปริ๊นเตอร์ เครื่องอ่านบัตรประชาชน ให้ กทม. เพิ่มจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งตอนนี้ได้มีการเตรียมและไปลงพื้นที่สำรวจกับ กทม. แล้ว
ในระยะแรก จำนวน 10 พื้นที่ใน กทม. ที่เอกชนจะนำร่อง เช่น กลุ่มเซ็นทรัล, SCG, เดอะมอลล์, สยามพิวรรธน์, เอเชียทีค, โลตัส, บิ๊กซี, ทรูดิจิตัลพาร์ค เป็นต้น โดยจะสรุปกับ กทม.ภายในวันที่ 27 เมษายนนี้ และในระยะถัดไปจะมีการหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน
- TEAM B : Communication
ทีมการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมาฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อม เพราะปัจจุบันหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีน หลายคนไม่ยอมฉีด ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้ภาครัฐจะทำระบบ “หมอพร้อม” เสร็จสิ้นในเดือนนี้ ซึ่งจะสามารถระบุสถานที่ต่างๆ ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีน การจัดคิวการฉีดที่ไม่หนาแน่น หรือลำดับการฉีดที่เหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายบริษัท เช่น Google, LINE, Facebook, VGI และ Unilever เป็นต้น
- TEAM C : IT Operation
ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน ขั้นตอนในการฉีดที่รวดเร็ว และมีระบบการติดตามตัว พร้อมสามารถออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ โดยมีหลายบริษัท นำทีมโดย IBM เข้ามาสำรวจและปรับปรุงกระบวนการ
- TEAM D : Extra Vaccine procurement
ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน โดยจะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น นำโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งในวันนี้ได้มีการหารือกันแล้ว ประเมินว่ายังต้องการวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งวัคซีนทางเลือก ได้แก่
1. ประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีน Moderna และ Pfizer
2. ประเทศจีน วัคซีน Sinopharm และ CanSino Biologics
3. ประเทศอินเดีย วัคซีน COVAXIN จากบริษัท Bharat Biotech และ
4. ประเทศรัสเซีย วัคซีน Sputnik V
ซึ่งภาคเอกชนยินดีที่จะจ่ายค่าวัคซีนให้กับพนักงานของบริษัทรวมแล้วเกือบ 1 ล้านราย เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับรัฐบาล
ทั้งนี้ ผลสรุปจากการประชุม CEO ทุกบริษัทเห็นตรงกันว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 0.4% ของประชากรเท่านั้น ซึ่งถือว่าล่าช้ามากสำหรับการที่จะเปิดประเทศที่จะต้องฉีดให้ได้ถึง 70% ของประชากร ภาครัฐจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับทุกคน โดย CEO ทุกท่านพร้อมที่จะช่วยภาครัฐ ซึ่งหอการค้าไทยพร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการ Connect the dots เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทย และเชื่อว่าหากคนไทยทุกคน ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะทำให้ประเทศไทยของเราฝ่าวิกฤติ COVID-19 นี้ไปได้อย่างแน่นอน
สำหรับ CEO ที่เข้าร่วมการประชุม ได้แก่
1.บจก.น้ำตาลมิตรผล
2.บจก.ปูนซิเมนต์ไทย (SCG)
3.บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์
4.บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ
5.บมจ.ซีแวลูกรุ๊ป
6.บจก.เซ็นทรัลพัฒนา
7.บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น
8.บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป
9.บมจ.ดุสิตธานี
10บมจ.เดอะมอลล์ กรุ๊ป
11.บจก.โตชิบา ไทยแลนด์
12.บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
13.บจก.ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม
14.บจก.ไทยน้ำทิพย์
15.บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ
16.บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป
17.บมจ.ไทยวิวัฒน์ประกันภัย
18.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
19.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
20.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
21.ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
22.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
23.บมจ.บี.กริม เพาเวอร์
24.บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล
25.บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์
26.COSO Foods Thailand & Vietnam of Pepsi Cola (Thai) Trading Co., Ltd.
27.บจก.เมืองไทยประกันภัย
28.บจก.ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง
29.บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา
30.บจก.โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
31.บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
32.บจก.ไลน์ ประเทศไทย
33.บจก.สยามพิวรรธน์
34.บจก.สิงห์ คอร์เปอเรชั่น
35.บจก.หลักทรัพย์จัดการกองทุนเมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์
36.บจก.เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (เทสโก้ โลตัส ประเทศไทย)
37.บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น
38.บจก.ไอบีเอ็ม ประเทศไทย (IBM)
39.บมจ. เอ็ม บี เค (MBK Group)
40.บจก.เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย)
41.บจก.กูเกิล (ประเทศไทย)
42.Kao Industrial (Thailand) Co., Ltd.
43.SIAM MAKRO PCL
44.Minor International PCL
45.Nestle Indochina, Nestle เป็นต้น
ด้าน รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ได้เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เรียนรู้ว่าบทบาทของภาคเอกชนไม่ได้แค่การสร้างผลกำไรให้ผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้น แต่จะต้องให้ความให้ความสำคัญกับสังคมด้วย ทั้ง 2 ด้านต้องไปด้วยกัน หากธุรกิจไม่เข้าไป ช่วยสังคมโดยรวมก็ไปไม่ได้
ทั้งนี้ วิฤติโควิด-19 ยังไม่จบและต้อง เฝ้าระวังกันต่อ โดยกุญแจหลักของการ แก้ปัญหาคือการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงรวดเร็ว โดยเฉพาะปัจจุบันน่าเป็นห่วงเพราะ การระบาดระลอกล่าสุดจะกระทบเศรษฐกิจ รุนแรง หากปิดระบบเศรษฐกิจอีกรอบ จะทำให้ทุกฝ่ายขาดความมั่นใจ เพราะมี ความไม่แน่นอนสูง
ขณะที่ ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป (จำกัด) กล่าวในงานสัมมนาวัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (17 มีนาคม 2564) ช่วงหนึ่งถึงประเด็นวัคซีนในประเทศไทยว่า หากหลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนครบแล้วอยากเข้ามาเที่ยวไทย แต่ประชากรไทยยังฉีดวัคซีนไม่ครบทุกคน ตรงนี้จะมีแผนอะไรรองรับ หรือมีมาตรการอะไรในการรองรับนักท่องที่ยวที่จะเข้ามา