ก้าวต่อไปของมนุษยชาติ กับ วัคซีน HIV แบบ mRNA
การผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นใช้ระยะเวลารวดเร็วกว่าการผลิตวัคซีนจากในอดีตอย่างมาก ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่อุบัติขึ้นมานาน
จุดเริ่มต้นของความคลี่คลายวิกฤติการระบาดของ COVID-19 ของทั่วโลกในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาวัคซีนที่ใช้ระยะเวลาพัฒนาจนได้รับการอนุมัติใช้ ไม่ถึง 1 ปี ขณะที่ข้อมูลจากวิทยาลัยการแพทย์ฟิลาเดเฟียให้ข้อมูลเบื้องต้นไว้ว่า โดยทั่วไปการพัฒนาวัคซีนจนถึงการอนุมัติใช้จริงจะใช้ระยะเวลา 10-15 ปี แต่ถึงแม้วัคซีน COVID-19 ยังเป็นการอนุมัติใช้แบบฉุกเฉินทั้งหมด แต่ด้วยระยะเวลาที่แตกต่างกว่าถึง 10 เท่า จึงเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่า การผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นใช้ระยะเวลารวดเร็วกว่าการผลิตวัคซีนจากในอดีตอย่างมาก ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่อุบัติขึ้นมานาน แต่ยังไม่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกกว่า 80 ชนิด นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา
ล่าสุดบริษัท Moderna ประกาศท้าชนกับไวรัสที่คร่าชีวิตมนุษย์มาอย่างยาวนานอย่าง HIV หลังจากประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน COVID-19 โดยใช้เทคนิค mRNA ที่ถือว่าเป็นบริษัทที่ได้รับการอนุมัติใช้วัคซีนเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สำหรับไวรัส HIV ที่นับตั้งแต่ค้นพบโรคนี้ตั้งแต่ช่วงปี 1984 จนถึงปี 2019 เป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปกว่า 38 ล้านคน ซึ่งยังไม่มีวัคซีนใดๆ ที่ประสบความสำเร็จจากการทดลอง โดยอาจนับเป็นครั้งแรกที่เป็นการทดลองวัคซีน HIV ด้วยเทคนิค mRNA ในมนุษย์ ซึ่ง Moderna จะทำการทดลองวัคซีน 2 ตัว และคาดหวังว่าจะเริ่มการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 ได้ภายในปลายปี 2021 นี้
สำหรับวัคซีนตัวแรกชื่อ mRNA-1644 เป็นความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกัน HIV และ โรคเอดส์ (IAVI), Scripps Research และมูลนิธิบิลเมลินดาเกตส์ (BMGF) เป็นการต่อยอดจากงานทดลองระยะ Pre-clinical ของ IAVI และ Scripps Research ซึ่งพัฒนาวัคซีนที่สามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างแอนติบอดี้ชื่อว่า (Broadly Neutralizing Antibodies: bnAbs) พบว่าสามารถต่อสู้กับไวรัส HIV และหยุดยั้งให้ไวรัสเข้าไปสู่เซลล์เม็ดเลือดขาวได้ โดยผลการทดลองสามารถกระตุ้น bnAbs ได้ถึง 97% หรือ 47 ใน 48 คน และวัคซีนตัวที่ 2 คือ mRNA-1574 นั้น Moderna จะพัฒนาร่วมกับ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ของสหรัฐฯ โดยใช้เทคนิคการจำลองไกลโคโปรตีน 160 จากเปลือกหุ้มเซลล์ HIV เพื่อกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวจดจำและสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในปัจจุบันสำหรับการใช้วัคซีนด้วยเทคนิค mRNA คือ ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในร่างกายมนุษย์ จึงอาจต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจะส่งผลข้างเคียงระยะยาวหรือไม่ เพราะที่จริงแล้วเทคนิค mRNA เพิ่งใช้ครั้งแรกกับมนุษย์ก็คือ วัคซีนเพื่อป้องกัน COVID-19 นั่นเอง นอกจากนี้การคิดค้นวัคซีนป้องกัน HIV ยังมีความซับซ้อนมากกว่าวัคซีนป้องกัน COVID-19 เนื่องจากเชื้อ HIV เป็น Retrovirus ที่สามารถคงสภาพในเซลล์เม็ดเลือดขาวได้นานกว่า โดยเป็น RNA ไวรัสที่สามารถเปลี่ยนกลับไปเป็น DNA และแฝงตัวเป็นกาฝากอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาว จากนั้นเมื่อถึงเวลาสร้างเอนไซม์ของเม็ดเลือดขาว DNA ของไวรัสก็จะแปลงเป็น RNA เพื่อทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำลงตามชื่อของไวรัสตัวนี้ ซึ่งต่างจากเชื้อ COVID-19 ที่ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ง่ายกว่า ซึ่งวัคซีนที่ต้องคิดค้นเพื่อป้องกันเชื้อ HIV จะต้องทรงพลังมากพอที่จะกำจัด HIV ได้ ในขณะเดียวกันต้องไม่เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงจนไม่สามารถใช้กับมนุษย์ได้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ยังไม่มีใครสามารถพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกัน HIV ได้สมบูรณ์
อย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้นว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมายังไม่มีใครทดลองวัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกัน HIV ได้สำเร็จ จะมีใกล้เคียงที่สุด คือการทดลองวัคซีน RV144 ของไทยเมื่อปี 2009 ซึ่งเป็นการทดลองแบบ Prime-boost คือฉีด ALVAC-HIV (vCP1521) ปูพื้น และฉีด AIDSVAX B/E เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันถึง 31.2% โดยเป็นครั้งแรกที่สามารถรายงานประสิทธิภาพเป็นตัวเลขได้ แต่ในทางระบาดวิทยา วัคซีนจะต้องมีประสิทธิภาพมากกว่า 50% จึงสามารถรับรองให้ใช้จริงได้ และปัจจุบันมีวัคซีน HTVN706 เพียงตัวเดียวที่กำลังอยู่ในช่วงการทดลองระยะที่ 3 โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ ร่วมกับ Janssen Pharmaceuticals (บริษัทลูกของ Johnson & Johnson) ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการทดลองได้ประมาณปี 2024
ดังนั้น ความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่จากการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอุบัติใหม่อย่าง COVID-19 ด้วยเทคนิค mRNA ที่รวดเร็วกว่าการพัฒนาวัคซีนโดยทั่วไปในอดีต อีกทั้งอาจเป็นการใช้ mRNA เพื่อการทดลองวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญสำหรับวงการแพทย์ที่จะสามารถป้องกันเชื้อไวรัสที่พรากชีวิตมนุษย์ไปมากมาย และยังไม่สามารถเอาชนะได้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเชื้อไวรัส HIV ก็เป็นได้
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้