บสย.ค้ำสินเชื่อซอฟท์โลนแล้ว6.5พันล้าน
บสย.เผยอนุมัติค้ำสินเชื่อซอฟท์โลนธปท.แล้ว 6.5 พันล้านบาท จากยอดอนุมัติจากธปท.8 พันล้านบาท ชี้ยอดไม่พุ่งเหตุโควิดยังไม่คลี่คลาย ทำให้ผู้ประกอบการยังรีรอในการขอสินเชื่อ ขณะที่ โครงการสินเชื่อนี้ยังมีเวลาถึงปี 2566
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เปิดเผยยอดค้ำประกันสินเชื่อซอฟท์โลนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ว่า ขณะนี้ มียอดขอสินเชื่อของผู้ประกอบการที่ธธปท.อนุมัติแล้วจำนวนประมาณ 8 พันล้านบาท และธปท.ส่งมาให้บสย.อนุมัติการค้ำประกันแล้วประมาณ 6.5 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ยอดสินเชื่ออาจจะไม่สูงมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะโครงการสินเชื่อซอฟท์โลนธปท.ที่กำหนดให้บสย.เข้าค้ำประกันสินเชื่อนับตั้งแต่ปีแรกของการขอสินเชื่อนั้น เพิ่งได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ดังนั้น ยอดสินเชื่อ จึงอาจจะยังไม่ขยายตัวมากนัก แต่ถือว่า มียอดขอสินเชื่อเข้ามาระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนพ.ค.ก็มีวันหยุดพอสมควร ทำให้ยอดขอสินเชื่อยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
นอกจากนี้ โครงการนี้ กำหนดให้วงเงินสินเชื่อ 1 แสนล้านบาท ระยะเวลาสิ้นสุดโครงการถึงปี 2566 ขณะที่ สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ ยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้ผู้ประกอบการยังมีเวลาที่จะพิจารณาขอสินเชื่อเพื่อนำไปฟื้นฟูกิจการ
“เนื่องจาก โครงการนี้ เรากำหนดระยะเวลาถึงปี 2566 ขณะที่ สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการก็ต้องหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการพิจารณาขยายกิจการหรือฟื้นฟูกิจการและการขอสินเชื่อใหม่จากแบงก์ชาติ เชื่อว่า หากสถานการณ์โควิดดีขึ้น ยอดขอสินเชื่อจะขยับมากกว่านี้”
อย่างไรก็ดี ในแง่ระยะเวลาอนุมัติการค้ำประกันของบสย.นั้น เราจะใช้เวลาในการพิจารณาเพียง 3 วันทำการเท่านั้น ซึ่งสินเชื่อที่ธปท.ส่งให้บสย.ค้ำประกันนั้น บสย.จะอนุมัติตามที่ธปท.ส่งมาให้ทั้งหมด
สำหรับยอดการค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อราย สะท้อนว่า สินเชื่อซอฟท์โลนของธปท.นั้น ได้ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งทุนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม สินเชื่อดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะเอสเอ็มอี แต่ยังให้ถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วยเช่นกัน
ส่วนการค้ำประกันนั้น บสย.จะให้การค้ำประกันสูงสุดถึง 40%ของหนี้เสีย และค้ำประกันถึง 10 ปี ค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่ 1.75%ต่อปี และ รัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปีตลอดสัญญา
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สามารถเข้าโครงการสินเชื่อนี้ได้ จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 หรือ ณ 28 ก.พ.2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท
ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 ก.พ.2564 สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และ เฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกที่สถาบันการเงินได้รับแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจากธปท.
“โดยรวมต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการถือว่า อยู่ในระดับที่ต่ำมาก หรือ ประมาณ 3% ต้นๆต่อปีเท่านั้น”
รักษาการผู้จัดการบสย.กล่าวด้วยว่า สำหรับยอดการค้ำประกันสินเชื่อรวมของบสย.จนถึงสิ้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ยอดคงค้างการค้ำประกันอยู่ที่ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท