ความรักของนกเงือก
“เราดูแลนกเงือกเพื่อคนไทย 60 กว่าล้านคน และ คนไทยทุกคนก็ต้องสำนึกด้วยว่าเรามี “หน้าที่” ไม่ใช่เอาแต่สิทธิ แต่ละเลยหน้าที่ เราใช้ทรัพยากรไปเท่าไหร่ คิดบ้างมั้ยว่าจะตอบแทน...
...เป็นเรื่องสำคัญมาก ในฐานะที่เป็นคนไทยเราจะรักษาทรัพยากรหรือมรดกธรรมชาติให้อยู่คู่ประเทศไทย และอยู่คู่โลกอย่างไร ฝากไว้ว่าขอให้ทำอะไรจริงจัง...”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์
คำกล่าวปิดงานจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ในงาน วันรักนกเงือก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ บริเวณสวนนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วันรักนกเงือก กำหนดให้เป็นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ก่อนถึงวันแห่งความรักหนึ่งวัน ก็เพื่อชวนให้คนไทยปันใจรักนกเงือกอย่างหมดใจ โดยงาน “วันรักนกเงือก” จัดเป็นประจำทุกปี จากกลุ่มคนที่ปันใจรักนกเงือกมาตลอดหลายสิบปี มีอาทิ “มารดาแห่งนกเงือก” ดร.พิไล พูลสวัสดิ์, มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก, ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย ฮอนบิลล์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Hornbill International) ซึ่งปีนี้มอบหมายให้ เป้ สีน้ำ (อรรณพ ศรีสัจจา) นักดนตรีและศิลปินที่วาดภาพนกเงือก เพื่อนำไปผลิตเป็นเสื้อทีเชิ้ตแบรนด์ Hornbill จำหน่ายหารายได้สมทบทุนมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก, ภาคเอกชนและองค์กรต่าง ๆ ที่เมื่อเทใจให้นกเงือกแล้วก็หลงรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
เวทีเสวนาวันรักนกเงือก (จากซ้าย) พิธีกร, พิมพ์ใจ ดวงเนตร, ดร.พิไล พูลสวัสดิ์, ดร.วิจักขณ์ ฉิมโฉม, นิรมล เมธีสุวกุล, ชยพล ศรศิลป์
ปีนี้ เวทีเสวนาวันรักนกเงือกในคอนเซปต์ ปันรัก...ให้นกเงือก จึงประกอบด้วยคนรักนกเงือกหลากหลายสาขาอาชีพ มาให้ข้อมูลและบอกเล่าประสบการณ์ของมนุษย์ที่มี “รักแท้” ต่อนกเงือก
ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ กล่าวเปิดเวทีเสวนาว่า
“นกเงือกมีอยู่ในทวีปแอฟริกากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียใต้ และอยู่สูงขึ้นไปอีกถึงเนปาล, ภูฏาน, ในจีนที่กว่างสี นกเงือกไม่ได้มีทั่วโลก จากงานวิจัยที่เราทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน 40 ปี เราได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลที่เรามีกับบางประเทศที่เขาอยากจะศึกษาวิจัยเรื่องนกเงือก เช่นตอนนี้ที่ซาราวัค ประเทศมาเลเซีย เราไปเป็นพี่เลี้ยงตั้งโครงการวิจัยนกเงือกให้เขา ที่นี่เขามีสมญานามว่า Land of Hornbill เห็นสัญลักษณ์รูปนกเงือกตั้งแต่ที่สนามบินเลย ถ้าเขาบอกว่าเป็น Land ประเทศไทยก็เป็น Empire เลย เราไม่โม้หรอกเพราะนี่คือเรื่องจริง ประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด”
อาจารย์เล่าว่าเพิ่งกลับจากซาราวัค และพบว่าฤดูทำรังของนกเงือกที่โน่นพ้องกับฤดูกาลที่ทุเรียนป่าออกพอดี การเดินศึกษาหานกเงือกจึงเป็นการตามหาทุเรียนไปด้วย
“เราไม่อยากให้นกเงือกสูญหายไปจากป่า ไม่ว่าที่บ้านเราหรือที่ไหนทั้งสิ้น เราจึงอยากเผื่อแผ่ข้อมูลที่เรามีให้ที่อื่นด้วย”
ภาพต้นแบบนกเงือก โดย เป้ สีน้ำ
ผศ.ดร.วิจักขณ์ ฉิมโฉม เลขานุการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก อีกหนึ่งผู้ปันใจรักนกเงือก ให้ข้อมูลว่า
“หลังการศึกษาวิจัยนกเงือกมาหลายปี เราพบว่า ชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด (ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี นราธิวาส ปัตตานี และยะลา) ที่เริ่มเมื่อปี 2537 ตอนนี้เป็นโมเดลต้นแบบที่แสดงว่าชุมชนเขาดูแลทรัพยากรของเขาได้ โดยพรานล่านกเงือกได้หยุดการล่าและหันมาเฝ้าระวังดูแลอนุรักษ์นกเงือกเพื่อให้คงอยู่ในป่าธรรมชาติ จากโมเดลนี้ทำให้ชุมชนอื่น ๆ นำมาเป็นตัวอย่าง เช่น ที่เกาะยาวน้อย และที่ราชบุรี รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งเราจะให้ข้อมูลและส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วม เราให้งานวิชาการแต่ชุมชนเป็นผู้ที่ดำเนินการด้วยตัวเอง”
รังนกเงือกทำจากไม้ที่ ซิกส์เซนส์ เกาะยาวน้อย รีสอร์ท
ความรักที่มนุษย์มีต่อนกเงือก ขยายผลสู่ โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก เพื่อให้คนเมืองมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์นกเงือก สามารถดูแลนกเงือกและป่าอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จากความสำเร็จของชุมชนต้นแบบบูโด ขยายผลไปสู่ ชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา ซึ่งปีนี้ พิมพ์ใจ ดวงเนตร ผู้จัดการการพัฒนาอย่างยั่งยืน จาก ซิกส์เซนส์ยาวน้อย รีสอร์ท มาบอกเล่าเรื่อง “โพรงนกเงือก” ในบริเวณรีสอร์ท
“เกาะยาวน้อยมีนกเงือกเยอะ ตอนแรกเราก็ไม่มีความรู้เรื่องนกเงือก ชาวบ้านบางส่วนก็ไม่เข้าใจก็มีการล่านกเงือก ฆ่าแม่แล้วเอาลูกไปขาย แต่ต่อมาเมื่อเราศึกษาเรื่องนกเงือกมากขึ้นเราก็รู้จักธรรมชาติของเขา เช่น เขาต้องการกรงแบบไหน และเมื่อเรามีศักยภาพที่จะสนับสนุนเราก็ทำเลย ตอนนี้เข้าปีที่ 3 แล้วที่เรากับชุมชนช่วยกันอนุรักษ์นกเงือก โดยทำงานกับชาวบ้าน เด็กนักเรียน และนักท่องเที่ยว ซึ่งแขกต่างประเทศเขามีจิตอนุรักษ์ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เมื่อเราประสานงานกับนักวิจัยทำข้อมูลปีแรกสำรวจสภาพพื้นที่และประชากรนก พอปีต่อไปเริ่มทำโพรงเทียม จากปัญหาที่พบคือมีนกอยู่แต่ไม่ค่อยมีโพรงธรรมชาติ ต้นไม้ใหญ่หายาก บ้างก็ถูกตัด เราก็ทำโพรงเทียมจากวัสดุไม้เนื้อแข็ง ผนวกกับข้อมูลของมูลนิธิฯ ว่าโพรงต้องไซส์ขนาดนี้นะ ต้องทึบเท่านี้ สูงกว้างเท่านี้ พอเราได้โพรงมาก็นำไปติดตอนเช้า 9 โมง พอบ่าย 2 นกบินเข้ามาดูแต่ยังไม่ปิดโพรง พอวันต่อ ๆ ไปนกก็เข้ามาดู ตอนนี้มี 6 โพรงแล้วที่นกมาทำรัง ออกไข่ เลี้ยงลูก”
ภาพนกเงือก : จรูญ ทองนวล
ผู้บริหารรีสอร์ทบอกว่า โชคดีที่เกาะยาวน้อยมีป่าธรรมชาติที่เป็นพืชอาหารของนกเงือก เช่น ต้นเต่าร้าง หมากเขียว หมากแดง ต้นไทร ฯลฯ ปัจจุบันชุมชนมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์นกเงือก เด็ก ๆ ช่วยกันปลูกต้นเต่าร้าง และนักท่องเที่ยวก็ได้ชื่นชม วิ่งไปดูท้องฟ้าเมื่อได้ยินเสียงร้อง แก๊ก ๆ ๆ...
จากโพรงไม้ทรงสี่เหลี่ยมสู่ โพรงเทียมจากถังไวน์ โดย ชยพล ศรศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท สยามไวเนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด กล่าวในงานวันรักนกเงือกว่า
รังนกเงือกทำจากถังไม้โอ๊ค
“เรามีถังไม้โอ๊คใช้หมักไวน์อายุ 5 ปี ที่เราไม่ได้ใช้แล้ววางกองไว้โดยไม่รู้จะเอาไปทำอะไร พอผมได้มาฟังอาจารย์หลาย ๆ ท่านบรรยายเรื่องนกเงือก ก็เลยสนใจ กลับมารวบรวมถังไม้ส่งให้นักออกแบบทำ ถือว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ของนกเงือกเลยก็ว่าได้”
ถังไม้โอ๊ค โพรงเทียม หรือบ้านของนกเงือก ใหญ่น่าอยู่จริง ๆ ด้วยขนาดบรรจุ 200 ลิตร จากไม้โอ๊คที่เป็นวัสดุธรรมชาติ ดีไซน์ให้มีปากโพรงและอุปกรณ์ติดตั้งบนต้นไม้ใหญ่
“ปีนี้เข้าปีที่ 5 แล้วที่เราทำโพรงเทียมจากถังไวน์ ต้องชื่นชมทีมงานที่แบกถังไวน์หนักประมาณ 50 กิโลฯ ขึ้นไปบนต้นไม้ที่สูงไม่ต่ำกว่า 20 เมตร เมื่อปีแรกที่นำไปติดตั้งไว้ นกก็บินมาเกาะดู คงคิดว่าทำไมต้นไม้มันดูแปลก ๆ โพรงอะไรใหญ่จัง แต่พอเข้าปีที่ 2 นกเริ่มเข้าโพรงที่บูโด ตอนนี้มี 11 โพรงแล้ว ล่าสุดติดที่หัวหิน นกเริ่มบินมาดู ผลสำเร็จของโพรงเทียมจากถังไวน์ นอกจากนกเข้าทำรังแล้ว เราก็ได้นักปลูกป่าเพิ่มขึ้น และได้ความเข้าใจจากชุมชนที่เมื่อก่อนเคยล่านก แต่ตอนนี้เขาไม่ล่าแล้ว นกเงือกสามารถมากินฝรั่ง มะละกอ ของชาวบ้านได้อย่างปลอดภัย อยากฝากว่า ถ้าเรารักนกเงือกก็เท่ากับเรารักธรรมชาติ”
ทุกคนบนโลกมีสิทธิใช้ธรรมชาติเท่า ๆ กัน ในขณะเดียวกันก็ต้องมี “หน้าที่” ในการตอบแทนธรรมชาติด้วย...