'เราชนะ' กลุ่ม 'ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน' ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เตรียมรับเงินเยียวยาเพิ่ม 1,200 บาท
"ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน" มาตรการ "เราชนะ" ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เตรียมรับเงินเยียวยาเพิ่ม 1,200 บาท คาดเริ่ม 1 ก.ค.64
เกาะติดมาตรการเยียวยารับมือโควิดรอบใหม่ ที่รัฐบาลออกมาเพื่อเยียวยาประชาชน เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2564 เห็นชอบมาตรการดูแลประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งชุดมาตรการที่ออกมามีทั้งหมด 9 มาตรการ กรอบวงเงิน 1.62 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.2564
โดยหนึ่งในมาตรการที่ ครม.มีมติอนุมัติ คือ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมประชากร 2.5 ล้านคน กรอบวงเงิน 3,000 ล้านบาท
ซึ่งกลุ่มที่ได้รับสิทธิจากมาตรการเยียวยาครั้งนี้ จะเป็นผู้ที่เคยได้รับสิทธิในมาตรการเราชนะมาก่อน ได้แก่
- ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน
- ผู้ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
- ผู้พิการ
- ผู้สูงอายุ
ทั้งนี้สิทธิที่จะได้รับคือ เงินเยียวยาเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาทต่อคน เป็นระยะเวลาทั้งหมด 6 เดือน รวมเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 1,200 บาท โดยไม่ต้องลงทะเบียน โดยจะเริ่มทยอยโอนเงินเข้าบัตรประชาชน ตั้งแต่เดือน ก.ค.64 เป็นต้นไป จนถึงเดือน ธ.ค.64 อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 หากมีการเปลี่ยนแปลงวันและเวลาของมาตรการ กระทรวงการคลังจะแจ้งอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนี้ ต้องการรับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้แทน จะต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิตามโครงการดังกล่าว ผ่านแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 28 มิ.ย.64 และถือเป็นการสละสิทธิตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ นั่นเท่ากับว่าผู้ที่ได้สิทธิจะสามารถเลือกได้เพียง 1 มาตรการเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ ครม.ได้อนุมัติในครั้งนี้ ได้แก่
1.มาตรการคนละครึ่งระยะที่ 3 หรือคนละครึ่ง เฟส 3 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน ให้สิทธิ์ใช้จ่ายไม่เกิน 150 บาท วงเงิน 3,000 บาทต่อคน
2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยจะมีผู้ร่วมโครงการ 4 ล้านคน (จากกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ 6 ล้านคน) โดยภาครัฐสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้ผู้ได้รับสิทธิโครงการสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยผู้เข้าโครงการจะได้รับการสนับสนุน E-Voucher จากภาครัฐช่วง ก.ค.-ก.ย.2564 เพื่อใช้จ่ายเดือน ส.ค.-ธ.ค.2564 ซึ่งจะมีการใช้จ่ายคนละ 60,000 บาท
3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะ 3 โดยช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.2564) ครอบคลุมประชาชน 13.6 ล้านคน โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน วงเงิน 1.64 หมื่นล้านบาท
4.โครงการเพิ่มศักยภาพโคเนื้อด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ 75 ล้านบาท
5.มาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค 4,512 ล้านบาท
6.โครงการจัดหาวัคซีน 17,077 ล้านบาท
7.โครงการบริการสาธารณสุข 6,378 ล้านบาท
8.โครงการค้นหาเชิงรุก 129 ล้านบาท