ย้ำอีกครั้ง!' ฉีดวัคซีน' โอกาสเกิด'ลิ่มเลือดอุดตัน'น้อยมาก

ย้ำอีกครั้ง!' ฉีดวัคซีน' โอกาสเกิด'ลิ่มเลือดอุดตัน'น้อยมาก

หลายคนกังวลว่า ฉีด"วัคซีน"ไวรัสโควิด จะมีส่วนทำให้เกิดภาวะ"ลิ่มเลือดอุดตัน" ลองอ่านข้อมูลชุดนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า โอกาสเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันไม่ว่าที่หัวใจ ปอด สมอง เป็นอีกเรื่องที่คนไทยกังวลมาก โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งมีข่าวในยุโรป มีหลายคนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า มาจากการฉีดวัคซีนไวรัสโควิดหรือไม่

นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ (​อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค) และนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันโรค  กล่าว 

ว่า โอกาสที่คนไทยจะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีนมีน้อยกว่า แม้จะมีกรณีดังกล่าวในอเมริกาและยุโรป 

“ในยุโรปที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีน เป็นผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ท้วมอ้วน และฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงมาก อายุต่ำกว่า 30 ปี

ถ้าฉีดวัคซีนแล้วเป็นโรคนี้ขึ้นมา ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าเกิดจากวัคซีนหรือโรคที่เป็นอยู่แล้ว ทุกวันนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าลิ่มเลือดอุดตันในคนไข้แถบยุโรปเกิดจากวัคซีน

แต่ในประเทศไทยเพิ่งใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหนึ่งแสนห้าพันกว่าโดส ก็ยังไม่เจอปัญหา เพราะแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดในอินเดียกว่าร้อยล้านโดสก็ไม่เจอปัญหา แม้ในประเทศเกาหลี จะแนะนำผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 30 ปีที่มีปัญหาลิ่มเลือดไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดนี้”

162270251340

(วัคซีนพร้อม คนพร้อมฉีดหรือยัง)

กลัว! ก็เลือก'วัคซีน'ยี่ห้ออื่นแทน

ถ้าไม่มั่นใจ คุณหมอพรเทพ แนะนำทางเลือก คือให้ฉีดวัคซีนตัวอื่น อย่าง ซิโนแวค

 “ผมว่าการเกิดลิ่มเลือดในคนไทยโอกาสเกิดแทบจะเป็นศูนย์ ไม่ต้องกลัว หลังจากฉีดวัคซีนทุกจุด จะให้นั่งดูอาการ 30 นาที ถ้าเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หมอจะรักษาทันทีให้ยาละลายลิ่มเลือด และที่กลัวกันมากที่สุดคือ ไปอุดตันที่ปอด หัวใจและสมอง”

คุณหมอพรเทพ บอกอีกว่า เรื่องลิ่มเลือดอุดตันเกี่ยวโยงกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ ยังพิสูจน์ไม่ได้ ในกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่ประชุมกัน สรุปว่า โอกาสเกิดปัญหาลิ่มเลือดมีน้อยมากหนึ่งในล้าน

ถ้าลิ่มเลือดอุดตันที่สมอง จะมีอาการปากเบี้ยว ถ้าลิ่มเลือดอุดตันที่หัวใจจะแน่นหน้าอก"

อย่างไรก็ตาม  มีคำแนะนำเพิ่มว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสามารถฉีดให้คนทุกกลุ่มอายุได้ แม้กระทั่งผู้หญิงอายุต่ำกว่า 30 ก็ฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้ 

“คนที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษคือ คนที่กินยาแก้ปวดแรงๆ คนที่ปวดท้องประจำเดือนกินยาแก้ปวด ถ้าต้องไปฉีดวัคซีนก็ควรหยุดยา หรือวันนั้นปวดหัวไมเกรนมากๆ อย่าเพิ่งฉีดวัคซีน

162270279915

วันฉีด'วัคซีน' :อย่าทำอะไรที่ผิดแปลกจากชีวิตประจำวัน

ข้อสำคัญวันที่เดินทางไปฉีดวัคซีน อย่าทำอะไรที่ผิดแปลกไปจากชีวิตประจำวัน คุณหมอบอกว่า เคยดื่มกาแฟแก้วหนึ่งก็ทำเหมือนปกติ แต่ถ้าไม่เคยดื่มกาแฟ  ก็ไม่ต้องดื่ม จะทำให้มีอาการปวดหัวได้

"ปกติการฉีดวัคซีน ร่างกายก็ต้องมีปฎิกิริยาตอบโต้ต่อสิ่งแปลกปลอมที่มีอยู่ในวัคซีน อาจมีความดันขึ้นนิดหนึ่ง คนที่ความดันสูงก็ต้องกินยาตามปกติ

สิ่งที่ผมห่วงตอนนี้คือ คนไทยจะไม่ได้ฉีดวัคซีนกันเยอะๆ ผมยังไม่เห็นใครตายจากการฉีดวัคซีนเลยในเมืองไทย แอสตร้าเซนเนก้าฉีดมาทั่วโลกสี่ห้าร้อยโดส ยังไม่มีใครตายจากวัคซีน

ตอนนี้ในเมืองไทยฉีดวัคซีนโควิดสองล้านกว่าโดสแล้ว(ต้นเดือนมิถุนายน 64) ส่วนใหญ่เป็นซิโนแวค และที่มีอาการแพ้รุนแรง คือ 7 ใน 1  ล้านคน บางคนมีอาการแขนขาชาอ่อนแรง  หลังจาก 3 วันอาการหายหมด ผมเองก็ฉีดแล้ว วันฉีดวัคซีน ลืมกินยาลดความดันครึ่งเม็ด ฉีดไปความดันขึ้น ต้องรีบกินยา ชั่วโมงเดียวความดันลดลง

ส่วนคนที่ติดไวรัสโควิดแล้ว ภูมิต้านทานจะมีอยู่ในร่างกายแล้ว อย่าเพิ่งไปฉีดวัคซีนรอสัก 5-6 เดือน และบางคนที่เพิ่งเป็นโควิด เชื้อมีอยู่ในร่างกายมีอยู่ไม่ถึงสิบวัน ถ้าฉีดวัคซีนตอนนั้นร่างกายจะรับไม่ไหว”

........................... 

.........

(วัคซีนโควิด-19 กับ ลิ่มเลือด)

 1.ภาวะหลอดเลือดดำหรือลิ่มเลือดอุดตันธรรมดาที่พบรายงานในต่างประเทศ มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยในประชากรไทย เนื่องจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสรีระร่างกาย ทำให้มีอัตราการพบน้อยกว่าคนผิวขาว

2.หลังจากติดโควิด-19 มีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันสูงถึง 1 ใน 10 และมักเป็นหลอดเลือดอุดตันที่รุนแรง

3.วัคชีนทุกประเภทไม่เพิ่มโอกาสเกิดหลอดเลือดอุดตันทั่วไป ทั้งหลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน และลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดปอด

ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวเคยเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดดำอุดตันมาก่อนสามารถฉีดวัคซีนได้

4.ภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับหลอดเลือดดำอุดตัน โดยเฉพาะที่สมองที่มีรายงานหลังฉีดวัคซีนของแอสต้าเซนเนก้า หรือจอห์นสันแอนด์จอห์นสันนั้น มีโอกาสเกิดต่ำมาก ซึ่งยังไม่พบในประเทศไทย สามารถวินิจฉัยและรักษาได้ด้วยยาที่มีอยู่ในประเทศไทย

.........

ที่มาของข้อมูลวัคซีนโควิด-19 กับ ลิ่มเลือด :
ศ. พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2564