‘ฮกกี่’ ห่านพะโล้ตำรับซัวเถา 55 ปีสุดลือลั่นย่าน 'บรรทัดทอง'
เปิดประวัติ “ฮกกี่” ร้านอาหารจีนเจ้าของตำนานห่านพะโล้ตำรับซัวเถาแห่ง “กรุงเทพฯ” จากร้านแรกดั้งเดิมรุ่นปู่ สู่การต่อยอดเป็น “ฮกกี่ คิทเช่น” โดยรุ่นหลาน แย้มความพิเศษวัตถุดิบจานเด็ด ปลิงทะเล แฮ่กึ๊น หัวปลาจีน ขนมผักกาด ทำไมอร่อยจัง
เรื่องราวของ ฮกกี่ (Hokkee) ร้านอาหารจีนเจ้าของอาหารจานเด็ด ห่านพะโล้ตำรับซัวเถา อันลือลั่นบนถนนบรรทัดทองของกรุงเทพฯ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2509
หากย้อนประวัติกลับไป ผู้ให้ชีวิตร้านฮกกี่คือนาย ห่งเอี๊ยง แซ่โล้ว หนึ่งในคนหนุ่มชาวจีนโพ้นทะเลผู้หนีไฟสงครามโลกครั้งที่สองและความแร้นแค้นของจีนแผ่นดินใหญ่ ขึ้นเรือสำเภาจากชุมชนหมู่บ้านเก่าริมทะเลเมืองซัวเถา อำเภอเถ่งไฮ่ ข้ามทะเลมุ่งหน้าสู่แผ่นดินไทย หวังสร้างชีวิตใหม่เช่นเดียวกับผู้ร่วมรอนแรมมากับเรือสำเภาทุกลำ
“อาชีพหลักของคุณปู่เป็นชาวนาอยู่ที่เถ่งไฮ่ เมืองซัวเถา แต่ก็ทำอาหารเป็นด้วย ยุคสงครามโลกครั้งที่สองตอนปลาย ด้วยความอดอยาก คุณปู่ขึ้นสำเภามาที่เยาวราช มาทำงานรับจ้างเป็นพ่อครัวตามสมาคมชาวจีน หาบกระเพาะปลาเร่ขาย ฝึกฝนฝีมือเพิ่มเติมตามร้านอาหารจีน ทำงานเก็บเงินมาเรื่อย จังหวะนั้นมีร้านข้าวแกงชื่อ ‘วิวัฒน์โภชนา’ ในซอยจุฬา 34 ต้องการเซ้งร้าน คุณปู่ก็เลยเซ้งมา แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ฮกกี่โภชนา เมื่อปี 2509 คุณปู่เล่าว่า รอบข้างจุฬาฯ เวลานั้นยังเป็นทุ่งนาอยู่เลย” ต้า-วุฒิกร มงคลชัยวิวัฒน์ นักบินผู้ช่วย การบินไทย อายุ 32 ปี หลานชายคุณ ทวี มงคลชัยวิวัฒน์ หรือ อากง-ห่งเอี๊ยง แซ่โล้ว (ปัจจุบันอากงอายุ 94 ปี) เริ่มต้นเล่าที่มาของร้าน ฮกกี่ ซึ่งมีความหมายว่า ‘วาสนาที่น่าจดจำ’
ผ่านมาถึงปีพ.ศ.2564 ร้านห่านพะโล้ฮกกี่เติบโตขึ้นจากร้านดั้งเดิมในซอยจุฬา 34 ขยายสู่ร้านที่สองในชื่อ ฮกกี่ คิทเช่น (Hokkee Kitchen) ตั้งอยู่ตรงข้ามซอยจุฬา 34 หรือตรงข้ามกับร้านเดิมนั่นเอง
อาหารจานที่สร้างชื่อให้ ‘ฮกกี่’ กลายเป็นตำนานร้านอาหารอร่อยคู่กรุงเทพฯ คือ ห่านพะโล้ นักชิมติดใจรสชาติและความนุ่มอร่อยของเนื้อห่านพะโล้
เนื่องจาก ‘ห่าน’ เป็นสัตว์สะอาด เลือกกินอาหาร เนื้อห่านจึงไม่ค่อยเหม็นสาบ กรรมวิธีการทำห่านง่ายกว่าทำเป็ด และเนื้อห่านก็มีเท็กซ์เจอร์ที่นุ่ม คุณต้า-วุฒิกร กล่าวถึงเหตุผลที่ ‘อากง-ห่งเอี๊ยง’ หรือคุณปู่ของเขาเลือกปรุง ห่านพะโล้ เป็นเมนูเด่นของร้าน
และอีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญก็คือ ห่านพะโล้เป็นอาหารขึ้นชื่อของอำเภอเถ่งไฮ่ ใครไปซัวเถาก็ต้องกินห่านพะโล้ ซัวเถามีร้านห่านพะโล้ชื่อดังมากมาย ห่านพะโล้ของฮกกี่จึงเป็น ห่านพะโล้ตำรับซัวเถา บ้านเกิดอากงนั่นเอง
“เราใช้ห่านขนาด 4-5 กิโลกรัม/ตัว เป็นขนาดห่านที่คุณปู่เลือกใช้ตั้งแต่แรกเปิดร้าน เราไม่รู้อายุห่าน แต่น้ำหนักขนาดนี้ห่านไม่อ่อนไม่แก่เกินไป เนื้อห่านมีความหนาและมีความนุ่ม” คุณต้ากล่าวถึงความพิถีพิถันในการเลือกสรรวัตถุดิบเพื่อให้อาหารจานเด็ดของฮกกี่คงคุณภาพไว้ดังเดิม
หลังจากนั้นจึงนำห่านที่ถอนขนและทำความสะอาดอย่างดีแล้วลงต้มใน น้ำพะโล้เดือดๆ ราวหนึ่งชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดของห่าน และต้องอาศัยความเชี่ยวชาญการต้มห่านของพ่อครัว คอยใช้ตะขอจิ้ม ดูว่าถ้าเนื้อห่านยังเหนียวอยู่ก็ต้องต้มต่อไปจนเนื้อห่านนุ่มได้ที่พอดี
อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของซิกเนเจอร์จานนี้คือ น้ำพะโล้ รสชาติกลมกล่อมโดยออกรสเค็มนำตามตำรับซัวเถา ซึ่งอากง-ห่งเอี๊ยงได้เพิ่มเครื่องเทศบางอย่างลงไปให้เป็นสูตรเฉพาะฮกกี่
“เราเก็บน้ำพะโล้และต้มเป็นหัวเชื้อตั้งแต่ร้านเปิด แต่เราเปลี่ยนหม้อทุกวัน คือพอปิดร้าน เราก็ต้มน้ำพะโล้ให้เดือดๆ แล้วนำหม้อสะอาดใบใหม่ตักหัวเชื้อใส่ลงไป แล้วเราก็เติมน้ำสะอาด เติมเครื่องเทศลงไปเพิ่ม เพราะฉะนั้นจะทำให้น้ำพะโล้เข้มข้นตลอดเวลาโดยที่ยังคงถูกสุขอนามัย” คุณต้ากล่าว
จานเด็ดที่สร้างชื่อให้กับ ‘ฮกกี่’ มาตั้งแต่ปี 2509 คืออาหารที่ปรุงด้วย เนื้อเก้ง นำมาทำเป็น 3 เมนูซิกเนเจอร์ คือ เก้งผัดพริก เก้งผัดคึ่นไช่ และ เก้งผัดกะเพรา ในเวลานั้นปรุงด้วยเนื้อเก้งจริงๆ
แต่หลังจาก ‘เก้ง’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น สัตว์ป่าคุ้มครอง มีชื่ออยู่ในบัญชีแนบท้าย กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม ‘พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535’ ฮกกี่จึงเปลี่ยนจากเนื้อเก้งมาเป็น เนื้อแพะ เพื่อคงไว้ซึ่ง 3 เมนูจานเด็ดดังกล่าว
“เราดับกลิ่นเนื้อแพะด้วยเครื่องเทศอย่างดี ใช้เฉพาะเนื้อน่องขาหลังเท่านั้น ซึ่งแพะ 1 ตัวมีเพียง 2 น่อง เลาะหนังเอ็นไขมันออกไป เหลือเฉพาะเนื้อเท่านั้น หมักด้วยเครื่องเทศของเรา คนส่วนใหญ่รับรู้แพะว่าเหม็นสาบ แต่ถ้าได้ลองจริงๆ จะไม่ได้กลิ่นเลย เป็นซิกเนเจอร์ของฮกกี่ แต่ยังใช้ชื่อเมนูว่าเก้งเพื่อให้ลูกค้าดั้งเดิมนึกออก ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ดูน่าสนใจว่าคือเนื้ออะไรน่าลอง ลองแล้วติดใจแทบทุกคน” คุณต้า กล่าว
อีกหนึ่งในอาหารของฮกกี่ที่นักชิมรุ่นใหม่ควรรู้จัก หัวปลาจีนต้มเผือก หลายร้านก็มีอาหารจานนี้ แต่ละร้านก็มีสูตรเฉพาะตัว รสชาติต่างกันไป ‘หัวปลาจีนต้มเผือก’ ของฮกกี่มีรสชาติตามตำรับเฉพาะตัวเช่นกัน
คนไทยเรียก ‘ปลาจีน’ เพราะเป็นปลาที่เพาะพันธุ์จากเมืองจีนมาเลี้ยงที่เมืองไทย ชาวจีนเรียกปลา ‘สง’ หรือ ‘สงฮื้อ’ นิยมใช้เฉพาะหัวปลามาต้มทำน้ำแกง เนื่องจากยิ่งต้มน้ำแกงยิ่งมีกลิ่นหอมและรสหวาน ด้วยความที่หัวปลาชนิดนี้มี ‘น้ำมัน’ มากกว่าปลาชนิดอื่น ฮกกี่ซื้อเฉพาะ ‘หัวปลาจีน’ เพื่อมาทำเมนูนี้โดยเฉพาะ
สำหรับคนชอบกินเนื้อปลา ฮกกี่ก็เตรียม ปลากะพง ปลาเก๋า ไว้ให้เลือกทำเป็นเมนูต้มเผือก ต้มเครื่องยาจีน ผัดพริกไทยดำ ผัดคึ่นไช่ ผัดซอสเอ็กซ์โอ เป็นอาทิ
วัตถุดิบพิเศษของ ‘ฮกกี่’ ที่ต้องกล่าวถึงอีกหนึ่งชนิดคือ ปลิงทะเล ซื้อจากร้านเจ้าประจำที่เยาวราชซึ่งสั่งนำเข้ามาจากเมืองจีน เป็น ‘ปลิงทะเลตากแห้ง’ เพราะปลิงทะเลสดหายากและเสี่ยงต่อการเน่าเสียจากการขนส่ง
ร้านอาหารทั่วไปก็ซื้อปลิงทะเลตากแห้งจากเยาวราชได้ แต่เมนูปลิงทะเลของฮกกี่มีความพิถีพิถันตั้งแต่วิธีล้างทำความสะอาดปลิงทะเลตากแห้ง
ปลิงทะเลมีชีวิตและหากินอยู่ตามพื้นทรายใต้ท้องทะเล เมื่อชาวประมงจับขึ้นมาก็ตากแห้งทันทีก่อนส่งมาเยาวราช ทำให้เศษดินเศษทรายแห้งกรังเกาะติดตัวปลิงทะเล
วิธีทำความสะอาดเศษดินทรายแห้งกรังที่เกาะติดปลิงทะเลตากแห้งภายให้หลุดออกภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงคือการใช้ ‘โซดาไฟ’ กัด
แต่สำหรับฮกกี่ ใช้วิธีต้มปลิงทะเลตากแห้งในน้ำอุ่นเพื่อให้เศษดินเศษทรายหลุดออก แล้วเอาขึ้นมาขัด ถ้ายังสะอาดไม่ได้ที่ ก็เปลี่ยนน้ำต้มต่อ เอาขึ้นมาขัดใหม่ ใช้เวลาอย่างน้อย 4 วันขึ้นไป
เมื่อปลิงทะเลตากแห้งสะอาดดีแล้ว จึงนำไปใส่ในน้ำที่ต้มกับขิงและต้นหอม เพื่อดับกลิ่นคาว เสร็จแล้วต้มอีกทีเพื่อให้เนื้อปลิงนิ่ม ซึ่งกำหนดเวลาแน่นอนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของปลิงทะเล บางครั้งใช้เวลา 1 วันไปจนถึง 5 วัน กว่าจะนำเนื้อปลิงทะเลมาใช้ได้
“คุณปู่อยากให้ลูกค้ารับประทานด้วยความสบายใจ ว่าเราไม่ได้นำของแปลกๆ มาใช้ในการทำอาหาร” คุณต้าให้เหตุผลว่าทำไมการทำความสะอาดปลิงทะเลตากแห้งจึงต้องใช้เวลาหลายวันสำหรับฮกกี่
ดังนั้นไม่ว่าจะกิน ปลิงทะเลน้ำแดง และ ปลิงทะเลผัดกะเพรา ก็มั่นใจได้ว่าไม่มีสิ่งเป็นพิษกับร่างกาย มิหนำซ้ำการแพทย์แผนจีน ‘เชื่อกันว่า’ ปลิงทะเลเป็นอาหารบำรุงช่วยลดคอเลสเตอรอล และฟอกเลือด
อีกหนึ่งเมนูที่มัดใจนักชิมมาแล้วอย่างน้อย 50 ปีคือ ผัดหมี่ฮ่องกง สูตรจีนแต้จิ๋ว เป็นเส้นหมี่สีขาว เส้นเล็กๆ ยาวๆ ไม่มีส่วนผสมของไข่แดง ลวกเส้นเสร็จก็นำมาผัดกับกะหล่ำปลี เห็ดหอม แครอท ใส่เนื้อปู ปรุงรส ใช้ไฟแรง ผัดเร็วๆ ในกระทะเหล็ก ทำให้เกิดกลิ่นคั่วกระทะที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
ของอร่อยคุณภาพอีกหนึ่งอย่างคือ ขนมผักกาด จุดเด่นของฮกกี่คือเน้นการใช้หัวไช้เท้าและพยายามใช้แป้งให้น้อยที่สุด
“บอกไม่ใส่แป้งเลย คือการโกหกลูกค้า จุดประสงค์การใส่แป้งของเราคือให้เนื้อไช้เท้าเกาะตัว ไม่ได้ใส่เพื่อลดต้นทุน ขนมผักกาดที่ดีต้องมีเนื้อไช้เท้าเยอะกว่าแป้ง เราอยากให้ลูกค้าได้รับประทานของอร่อย เราขายถูกหน่อย ได้กำไรน้อยๆ แต่ได้นานๆ” คุณต้ากล่าวและว่า การทำเช่นนี้เป็นการทำตามคำสั่งสอนของคุณปู่ห่งเอี๊ยงที่ย้ำไว้ตั้งแต่เปิดร้านฮกกี่ว่า “จะต้องขายถูก ปริมาณต้องเยอะ ให้ลูกค้าพึงพอใจ” ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ ลูกค้าดั้งเดิมของฮกกี่ก็ยังคงกลับมาพร้อมพาลูกหลานมารู้จักร้านอาหารที่พวกเขาชื่นชอบเมื่อครั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาว
ขนมผักกาดของฮกกี่มีส่วนผสมของหัวไช้เท้า หมูสามชั้น เห็ดหอม ถั่วจีน กุ้งแห้ง ต้นกระเทียม แป้ง และเครื่องปรุงรสสูตรคุณปู่ห่งเอี๊ยง ทำโดยการนวดและบีบให้น้ำในหัวไช้เท้าออกมาคลุกเคล้ากับส่วนผสมต่างๆ แล้วให้หัวไช้เท้าดูดรสชาติเหล่านั้นกลับเข้าไป เป็นขั้นตอนที่ใช้แรงเยอะ ใช้เวลากว่า 50 นาทีก่อนนำไปนึ่งให้สุก
เผือกหิมะ ราคาเริ่มต้น 150 บาท
เมนูของหวานก็ต้องพูดถึง เผือกหิมะ ฮกกี่คิทเช่นเลือกใช้เผือกที่ปลูกในอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ด้วยสิ่งแวดล้อมและคุณสมบัติดิน ทำให้เผือกดำเนินสะดวกทั้งร่วนและหอม
“หั่นเผือกเป็นชิ้นขนาด 2 คูณ 4 เซนติเมตร ทอดแล้วเคลือบด้วยน้ำตาล ถ้าเป็นสูตรโบราณใส่หอมเจียว แต่เราใช้งาขาว ทำให้กลิ่นเหมือนของหวานมากกว่า ลูกค้าหลายท่านชอบ น้ำตาลเราละเอียดร่วน เทคนิคคือปิดไฟแล้วคั่วไปเรื่อยๆ ให้ผลึกน้ำตาลแตกตัวออกจนคล้ายหิมะจริงๆ” คุณต้ากล่าว
เผือกราชบุรียังใช้ทำ โอวหนี่แปะก้วยใส่ข้าวเหนียว นึ่งเผือกเสร็จก็นำมาปั่น นั่งกวนในกระทะจนได้ที่ มั่นใจได้ว่าเผือกกวนที่ฮกกี่ทำให้ลูกค้าสะอาดจริง เสร็จแล้วโปะมาบนข้าวเหนียวมูน แล้วทำเครื่องแปะก๊วย พุทราจีน แห้ว เกาลัด ราดลงบนเผือกกวน เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าหลายท่าน
'10 ปีที่แล้วเรามองว่า ฮกกี่น่าจะได้รับการปรับให้ดูร่วมสมัยเข้ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และเพื่อความคล่องตัวในการต่อยอดร้านอาหารที่มีความเป็นตำนานในสภาพธุรกิจปัจจุบัน จึงพัฒนาขึ้นมาอีกแบรนด์ในชื่อ ‘ฮกกี่ คิทเช่น’ ตอบโจทย์ครอบครัววัยรุ่นขึ้น” คุณ เอิง-ณิชากร มงคลชัยวิวัฒน์ อายุ 29 ปี น้องสาวคุณต้า-วุฒิกร กล่าวถึงเหตุผลในการเปิดร้าน ‘ฮกกี่ คิทเช่น’
ปัจจุบันร้าน ‘ฮกกี่ คิทเช่น’ บริหารงานโดยสองพี่น้อง ต้า-วุฒิกร มงคลชัยวิวัฒน์ รับหน้าที่ดูแลงานในครัว เรียนรู้วิธีทำอาหารและขนมหวานสูตรเด็ดของคุณปู่ และ เอิง-ณิชากร มงคลชัยวิวัฒน์ สำเร็จการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดูแลงานบริหารและการตลาด โดยมีคุณพ่อ สมชาย มงคลชัยวิวัฒน์ อายุ 60 ปีและคุณแม่ ณัฐฐิดา อายุ 59 ปี ช่วยกันวางพื้นฐานการครัวให้ลูกๆ
คุณเอิงกล่าวว่า การตัดสินใจเปิดร้าน ‘ฮกกี่ คิทเช่น’ ตรงข้ามกับร้านดั้งเดิมของคุณปู่ ก็เพื่อต้องการสื่อว่า ทั้งสองร้านคือร้านเดียวกัน เพียงแต่ถ้ามาที่ฮกกี่คิทเช่น ร้านจะดูเทรนดี้ขึ้น เป็นการผสมผสานบรรยากาศยุคเก่าและยุคใหม่ที่ลงตัว อาหารอร่อยเหมือนเดิม พ่อครัวเซตเดิม เปลี่ยนแปลงแค่บรรยากาศร้าน
นอกจากความแตกต่างของบรรยากาศร้าน ฮกกี่คิทเช่นยังเพิ่มเมนูใหม่ที่มีวิธีทำเป็นซิกเนเจอร์ของตัวเอง นั่นก็คือ แฮ่กึ๊นทอด คุณต้ากล่าวถึงความพิเศษของเมนูนี้ว่า แฮ่กึ๊นทั่วไปจะนึ่งให้สุกก่อน จากนั้นหั่นเป็นชิ้น แล้วจึงนำมาทอด แต่ฮกกี่คิทเช่นเมื่อทำแฮ่กึ๊นสดเสร็จใหม่ๆ ก็หั่นเป็นชิ้นแล้วทอดเลย เท็กซ์เจอร์ในการรับประทานจะไม่เหมือนกัน
“แฮ่กึ๊นแบบทั่วไปให้ความรู้สึกเหมือนทอดมันกุ้ง แต่ของผมเท็กซ์เจอร์เหมือนลูกชิ้นกุ้งลวกใหม่ๆ เนื้อนุ่มกรอบเด้ง ขณะที่ข้างนอกเป็นฟองเต้าหู้กรอบๆ คือกรอบนอกแล้วนุ่มใน เป็นอีกจานที่ขายดีมาก ทุกคนบอกกันว่าไม่เหมือนที่อื่น”
วัตถุดิบที่ใช้ทำแฮ่กึ๊นของฮกกี่คิทเช่นประกอบด้วย กุ้งสด มันหมู ไข่ขาว ปรุงรสตามสูตรของร้าน ฟังดูก็เหมือนแฮ่กึ๊นทั่วไป ความแตกต่างอยู่ที่รายละเอียดการทำ เพราะพ่อครัวต้องวางกุ้งสดแกะเปลือกแล้วบนเขียง แล้วใช้มีดปังตอตบให้เนื้อกุ้งแตกตัว ใช้กุ้งกี่ตัวก็ทำแบบนี้ทีละตัว หลังคลุกเคล้าส่วนผสมและใส่เครื่องปรุงรสแล้ว พ่อครัวต้องยกส่วนผสมที่ได้แล้วออกแรงฟาดลงไป อย่างน้อย 15 นาที เพื่อให้อากาศแทรกเข้าไปในเนื้อกุ้งแล้วจึงห่อด้วยฟองเต้าหู้ เป็นเคล็ดลับการทำอาหารจีนให้เนื้อกุ้งนุ่มและเด้ง ไม่ได้พึ่งพาสารให้ความกรอบแต่อย่างใด
ฮกกี่คิทเช่นยังมีเมนูใหม่ อาทิ แปดเซียนตุ๋น ประกอบด้วยกระดูกหมู ปีกไก่ท่อนบน เครื่องยาจีน น้ำแกงรสหวานด้วยวัตถุดิบโดยไม่ใส่ชูรส, เป็ดปักกิ่ง และ ขนมผักกาดบรรจุถุงสุญญากาศ สำหรับการซื้อกลับบ้านและเก็บไว้ได้นานขึ้น
“ขนมผักกาดที่ร้านขายดีมาก ผมกับน้องก็คิดเพิ่ม ในเมื่อขายดี ลูกค้าอยากเอากลับไปกินที่บ้าน แต่ข้อเสียคือ ขนมผักกาดเมื่อนำเข้าตู้เย็น จะดูดกลิ่นภายในตู้เย็น เราเลยคิดใส่ถุงสุญญากาศ เก็บในตู้เย็นได้สองสัปดาห์โดยประมาณ เพราะเราไม่ได้ใส่วัตถุกันเสีย หรือเก็บได้นานขึ้นเป็นเดือนในช่องฟรีซ” คุณต้ากล่าว
วิธีรับประทานก็ง่ายมาก เมื่อนำออกจากช่องทำน้ำแข็งจะวางไว้เฉยๆ ก็ได้ หรือแช่ทั้งถุงลงในน้ำเพื่อละลายน้ำแข็งก็ได้ จากนั้นก็เลือกวิธีอุ่นร้อน ซึ่งทำได้ทั้งการนึ่ง หรือต้มน้ำเดือดแล้วใส่ลงไปทั้งถุงสุญญากาศก็ได้ เพราะเป็นถุง food grade คล้ายๆ กับการซูวีของฝรั่งเศส เสร็จแล้วจิ้มรับประทานได้เลย หรือนำไปทอดในน้ำมันท่วมๆ จี่ในกระทะเทปลอน ใส่ในหม้อถอดไร้น้ำมัน ไมโครเวฟ ก็รับประทานได้เลย หรือหั่นขนมผักกาดเป็นชิ้นพอคำ ผัดกับคึ่นไช่ แครอท ถั่วงอก ซีอิ๊วหวาน
หลานชายและหลานสาวของ ‘อากง-ห่งเอี๊ยง’ ยังต่อยอดฮกกี่ด้วยการเปิด เฟซบุ๊กแฟนเพจฮกกี่คิทเช่น และ ไลน์ @hokkee ไว้บริการลูกค้ายุคดิจิทัล รับทำอาหารพิเศษในช่วงเทศกาลต่างๆ อาทิ ตรุษจีน สารทจีน กินเจ อาหารกล่อง สามารถเลือกอาหาร ราคา และสั่งจองล่วงหน้าผ่านแฟซบุ๊กและไลน์แอท
รวมทั้งบริการรับจัด โต๊ะจีน ตั้งแต่ 2-100 โต๊ะ คิดราคาตามอาหารชุด (ราคารวมโต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์รับประทานอาหาร) คิดค่ารถตามความเป็นจริงจากระยะทางกับขนาดของรถที่ต้องใช้ขนโต๊ะและเก้าอี้, การออก บูธ ตามงานเทศกาลอาหาร
โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 การสื่อสารกับลูกค้าผ่าน โซเชียลมีเดีย เพิ่มบริการ เดลิเวอรี่ ช่วยให้ ‘ฮกกี่ คิทเช่น’ พอจะดูแลพ่อครัวและพนักงานของร้านโดยไม่ต้องตัดใครออก
“ถ้าลูกค้าไม่สะดวกออกจากบ้านมารับอาหารเอง เราก็เรียกบริการแกร๊ป ไลน์แมน หรือแจกจ่ายงานกับมอเตอร์ไซด์แถวร้านไปส่งให้ได้ ถือเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เราก็มีโปรโมชั่นกับลูกค้าด้วย ร้านช่วยออกค่าส่งให้ 30 เปอร์เซนต์” คุณเอิง กล่าว
สำหรับลูกค้าที่อยู่ไกลมากๆ จากย่านถนนบรรทัดทอง บางรายสั่งอาหาร 800 บาท พร้อมสู้ค่าส่งอีก 400 บาท แต่คุณเอิงก็อยากช่วยลดค่าส่ง จึงคิดวิธีนำอาหารไปกระจายตามจุดใหญ่ๆ ที่ใกล้บ้านลูกค้าย่านนั้น เช่น เซ็นทรัลอิสต์วิลล์ ราชพฤกษ์ สุวรรณภูมิ แล้วให้ลูกค้าจ่ายค่ารถจากจุดรวมตรงนั้น เช่น ลูกค้าแถบซาฟารีเวิลด์ ค่าส่งจากร้าน 300 บาท แต่ถ้าร้านออกค่ารถส่วนหนึ่งโดยนำอาหารไปกระจายที่เซ็นทรัลอิสต์วิลล์ ลูกค้าจะจ่ายค่าส่งเหลือ 100 บาท อย่างนี้เป็นต้น
เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่มีความรุนแรง การนั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้รับการอนุญาตและถูกสั่งห้ามเป็นระยะไม่แน่นอน คุณต้าและคุณเอิงตัดสินใจปรับปรุงร้าน ‘ฮกกี่ คิทเช่น’ ครั้งใหญ่ จึงขอปิดร้านชั่วคราว ยังไม่มีกำหนดเปิดที่แน่นอน ขอดีเลย์ไปจนกว่าสถานการณ์โควิดจะดีขึ้น แต่ลูกค้ายังคงสั่งอาหารได้ตามปกติที่ ไลน์ @hokkee ระหว่างร้านปิดปรับปรุง
ฮกกี่ คิทเช่น (Hokkee Kitchen)
จุดเด่น : ห่านพะโล้ตำรับซัวเถา, อาหารจีนตำรับแต้จิ๋ว, คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพปลอดสารเคมี
ประเภทอาหาร : อาหารจีน
เมนูเด็ด : ห่านพะโล้, ปลิงทะเลน้ำแดง, หัวปลาจีนต้มเผือก, เก้งผัดพริก(แพะ), แฮ่กึ๊น, ขนมผักกาด
ราคา : 50-2,000 บาท
ที่อยู่ : เลขที่ 1988 ถนนบรรทัดทอง, แขวงรองเมือง, ปทุมวัน, กรุงเทพฯ โทร.09 4979 6199
* * * * *
ติดตามคอลัมน์ "50 ปีอร่อยเหมือนเดิม" ได้ทุกวันศุกร์ ทางไลฟ์สไตล์ @Taste
ร้านที่คุณอาจสนใจ
ปั้นลี่ บ้านขนมปังไส้หมูแดง 70 ปีบนถนนเจริญกรุง
‘ธานี’ ข้าวหมูแดง 50 ปีแห่งซอยประดิพัทธ์
‘ทิพย์รส’ ตำนานบทใหม่ 51 ปี ไอศกรีมไทยย่านเตาปูน
‘ตั้งซุ่ยเฮงโภชนา’ ย้อนรอยความอร่อยก๋วยเตี๋ยวเป็ดสะพานเหลือง