ตรัง ซีลเข้มแรงงานข้ามชาติ กักกันที่พักตั้ง รพ.สนามในโรงงาน
ตรัง ซีลเข้มแรงงานข้ามชาติ ในโรงงาน-พักต่ออีก 1 เดือน ตั้ง รพ.สนาม ในโรงงาน เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดพร้อมสั่งเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกนอกพื้นที่ คนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิด โดยมีตัวแทนเพื่อนผู้ประกอบการโรงเลื่อยเดินทางมามอบสิ่งของให้กำลังด้วย
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 64 ตามที่จังหวัดตรังยังตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อภายในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด จากการตรวจเชิงรุกภายในสถานที่กักกันตัวของบริษัท นาเมืองเพชรพาราวู้ด จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ในต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา พบอีกจำนวน 106 ราย เป็นแรงงานข้ามชาติ 104 ราย มีเด็กอายุ 1-5 เดือนรวมอยู่ด้วย และคนไทย 2 ราย รวมยอดติดเชื้อจากการตรวจครั้งแรกจำนวน 159 คน จากพนักงานทั้งหมด 315 คน เป็นลบ 156 คน อัตราการติดเชื้อคิดเป็น 50.4% ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนที่อยู่กันหนาแน่น โดยโรงงานนาเมืองเพชร มีแรงงานข้ามชาติเมียนมาจำนวน 207 ราย แรงงานไทยจำนวน 108 ราย แต่คนไทยติดเชื้อน้อย เพราะอยู่ที่บ้านและอยู่ห่างกัน โดยทางผู้บริหารของโรงงานก็เร่งแก้ไขสถานการณ์และให้ความร่วมมือกับทางจังหวัดอย่างเต็มที่ โดยมีตัวแทนจากห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยสวนจันทร์ ซึ่งเป็นเพื่อนผู้ประกอบการโรงเลื่อยในจ.ตรังเดินทางมามอบของช่วยเหลือให้กำลังใจด้วย โดยขอให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนอดทน และขอให้มีกำลังใจต่อสู้ก้าวผ่านวิกฤตไปให้ได้โดยเร็ว
ล่าสุด ทางจังหวัดตรัง ร่วมกับผู้บริหารโรงงานได้ใช้มาตรการซีลเข้มแรงงานข้ามชาติทั้งที่กักตัวภายในโรงงานและสถานที่พักต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 1 เดือน โดยใช้กลยุทธ์ Bubble and Seal ทั้งการจัดสถานที่กักกันตัวภายในโรงงาน ( Factory Quarantine ) ส่วนแรงงานไทยที่พักอาศัยอยู่กับบ้านให้เดินทางไป -กลับได้เฉพาะโรงงานกับบ้านพักเท่านั้น โดยทั้งหมดจะมีคนส่งข้าวส่งน้ำให้ไม่ให้ออกนอกพื้นที่กักตัว พร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดและป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวและชุมชน พร้อมสั่งเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกนอกพื้นที่โรงงาน คนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิด
ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าว กำลังใช้อยู่กับโรงงานที่กำลังพบการระบาดอยู่ขณะนี้จำนวน 2 แห่ง ที่พบการแพร่เชื้อภายในโรงงาน คือ โรงงานผลิตถุงมือยางศรีตรังโกลฟส์ และโรงงานแปรรูปไม้ยางพารานาเมืองเพชรพาราวู้ด ส่วนโรงงานอื่นๆที่ยังไม่พบการระบาด ก็ใช้มาตรการซีลเข้มแรงงานข้ามชาติของตนเองให้อยู่เฉพาะในพื้นที่โรงงานแล้วเท่านั้นมีการส่งเข้าส่งน้ำเอง และกำลังเร่งจัดทำแผนหาพื้นที่กักกันตัว และโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน หากพบการระบาดขึ้นภายในโรงงานเช่นเดียวกัน เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดและป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวและชุมชน พร้อมสั่งเร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกนอกพื้นที่โรงงาน คนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิด
โดยจ.ตรัง มีโรงขนาดใหญ่ทั้งหมด 2 แห่ง ,ขนาดกลาง 4 แห่ง และขนาดเล็กจำนวน 43 แห่ง