‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.13บาทต่อดอลลาร์
ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้าทั้งหุ้นและบอนด์ หนุนบาทแข็งค่าแต่ไม่แข็งมาก จากทุนสำรองในประเทศอยู่ระดับสูง คาดวันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.25 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.13 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.17 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.05-31.20 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่อาจกดดันเงินดอลลาร์ รวมถึง แรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งหุ้นและบอนด์ โดยเฉพาะในส่วนบอนด์ระยะยาวไทย ที่มีความน่าสนใจมากขึ้นหลังยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ลดลงเหลือ 1.45% ขณะที่ ยีลด์ 10ปี ไทยอยู่ที่ระดับ 1.80% สูงกว่ายีลด์สหรัฐฯ ถึง 35bps ภาพดังกล่าวจะช่วยหนุนให้ เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่แข็งค่าไปมาก เพราะต้องไม่ลืมว่า ฝั่งผู้นำเข้าก็รอทยอยซื้อสกุลเงินต่างประเทศ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 31.00-31.10 บาทต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ เรามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเข้ามาพยุงให้เงินบาทไม่แข็งค่าไปมาก ซึ่งอาจสะท้อนผ่าน เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า
ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากผู้ในเล่นตลาดส่วนใหญ่คลายความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และมองว่า เงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนพฤษภาคมที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 5.0% มากกว่าที่นักวิเคราะห์มองไว้ที่ระดับ 4.7% จะเป็นแค่การเร่งตัวขึ้นชั่วคราว จากปัจจัยฐานราคาที่ต่ำไปมากในช่วงเกิดวิกฤติCOVID-19 ในปีก่อนหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดคงมองว่า ในระยะสั้น เฟดก็จะยังคงมุมมองไม่เร่งรีบปรับตัวการทำคิวอี นอกจากนี้ บรรยากาศการลงทุนยังได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงานสหรัฐฯ หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.76 แสนราย
ภาพตลาดการเงินที่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้สะท้อนผ่าน แนวโน้มดัชนีวัดความผันผวนของดัชนี S&P500 หรือ ดัชนีความกลัว (VIX Index) ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 16 จุด ซึ่งต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยที่ระดับ 20 จุด นอกจากนี้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ได้รับแรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่ปรับตัวขึ้นหลังจากที่ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องกว่า 4bps สู่ระดับ 1.45% ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้น 0.78% ส่วน ดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวขึ้น 0.47% ขณะที่ ดัชนี Dowjones ปิดบวกเพียง 0.06% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นในกลุ่มการเงินเป็นหลัก (Goldman Sachs -2.43%, JPM -1.56%) หลังตลาดกังวลว่า บอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวลดลง อาจกดดัน Net Interest Margin (NIM) ของบริษัทการเงินได้
ส่วนในฝั่งยุโรป แม้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับมุมมองการเติบโตเศรษฐกิจดีขึ้น และคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ด้วยการคงดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ที่ระดับ -0.50% พร้อมทั้งเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการทำคิวอีต่อ แต่ตลาดหุ้นยุโรปก็ยังคงติดแนวต้านอยู่ ทำให้ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงราว-0.02% โดยส่วนหนึ่งเป็นแรงเทขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม Cyclical ที่ได้ปรับตัวขึ้นมาเยอะในช่วงก่อนหน้า อาทิ BMW -1.87%, Iberdrola -1.11% ขณะที่ หุ้นในกลุ่มเทคฯ ยังคงช่วยพยุงตลาดไว้ Infineon Tech. +2.04%, ASML +1.56% , SAP +0.65%
ทางด้านตลาดบอนด์ เห็นได้ชัดว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่อาจไม่ได้กังวลต่อปัญหาการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อมากนัก โดยตลาดเริ่มมองว่า เงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นถึงจุด Peak แล้วในปีนี้ และมองว่า เฟดก็น่าจะคงมุมมองเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นชั่วคราวต่อไปในการประชุมที่จะถึงนี้ ทำให้ ผู้เล่นในตลาดกล้าที่จะเพิ่มสถานะถือครอง บอนด์ระยะยาว ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงกว่า 4bps สู่ระดับ 1.45% นอกจากนี้ แรงซื้อบอนด์ ยังมาจากการปิดสถานะ Short บอนด์ระยะยาว (Short covering) รวมถึงการปรับพอร์ตการลงทุนของบรรดากองทุนสไตล์ Asset Allocation ที่ต้องเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในบอนด์ หลังจากหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน สินทรัพย์หลบความผันผวน อย่าง เงินดอลลาร์ ก็เริ่มหมดความน่าสนใจ ทันทีที่ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น กอปรกับ การปรับตัวลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 90.06 จุดนอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10ปี ที่ปรับตัวลดลง ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นและทรงตัวเหนือ ระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินจะมีแนวโน้มกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังปัจจัยเสี่ยง อย่าง ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อก็เริ่มคลี่คลายลง นอกจากนี้ ตลาดจะติดตาม แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า การจ้างงานที่ดีขึ้น รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นตามการแจกจ่ายวัคซีนจะช่วยทำให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (UofMichigan Consumer Sentiment) เดือนมิถุนายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 84.2 จุด