เปิดผลการศึกษาถ้าต้องฉีด 'วัคซีนโควิด-19' เข็ม 3

เปิดผลการศึกษาถ้าต้องฉีด 'วัคซีนโควิด-19' เข็ม 3

ขณะนี้ ในหลายประเทศ มีการศึกษาการใช้ 'วัคซีนโควิด-19' โดยการ 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด' เผื่อในกรณีแพ้วัคซีนต้องเปลี่ยนยี่ห้อ วัคซีนขาดแคลน หรือ 'ฉีดเข็ม 3' ขณะเดียวกัน ยังต้องเตรียมพร้อมรับไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

แม้ในปัจจุบันการให้ 'วัคซีนโควิด-19' ยังแนะนำให้วัคซีนชนิดเดียวกันทั้งเข็มที่หนึ่งและสอง แต่ด้วยเหตุผลว่าบางคนฉีดเข็มแรกแล้วแพ้ จำเป็นต้องฉีดเข็มที่สองต่างชนิดกัน เช่น เข็มแรกฉีด 'ซิโนแวค' เข็มที่ 2 ฉีดเป็น 'แอสตร้าเซนเนก้า' หรือกรณี 'ฉีดเข็ม 3' ทำให้ปัจจุบัน ศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ ทำการศึกษาเพื่อดูประสิทธิภาพและผลที่จะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง คาดว่าคงไม่สิ้นสุดที่สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่หลายคนกังวลว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์ครองโลกแทนสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์เดลต้า แม้จะแพร่กระจายง่าย แต่ความรุนแรงไม่เปลี่ยน 

วานนี้ (22 มิ.ย.64) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส ผ่านระบบ ZOOM ว่า การเปลี่ยนแปลงของไวรัสเป็นเรื่องปกติ สายพันธุ์ใดก็ตามที่แพร่ระบาดง่ายและรวดเร็วก็กลบสายพันธุ์ดั้งเดิมไป จึงเห็นว่า สายพันธุ์ G ที่พบในทางยุโรป เริ่มกระจาย มี.ค. เม.ย. พ.ค. หลังจากอูฮั่นระบาดประมาณ 4-5 เดือน และครองโลก ซึ่งแพร่กระจายง่ายแต่ความรุนแรงไม่เปลี่ยนไป จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) มาแทนที่เริ่ม ต.ค. และระบาดเต็มที่หลังจากปีใหม่ และเดือน ก.พ. มี.ค.ก็กระจายค่อนข้างมาก

“สายพันธุ์อัลฟ่า แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ G ประมาณ 1.7 เท่า จึงทำให้สายพันธุ์อัลฟา หรือสายพันธุ์อังกฤษมาครอง ซึ่งตามวัฎจักรจะอยู่ประมาณ 4-5 เดือน อย่างไรก็ตาม สำหรับสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เราพบเริ่มต้นในแคมปคนงานแถวหลักสี่ เริ่มจากคนวัยทำงาน โดยสายพันธุ์เดลต้า แพร่ง่ายกว่าอัลฟ่า 1.4 เท่า ซึ่งตามวัฎจักรนั้น เราก็ต้องพยายามต่อสู้เดลต้าให้ได้ โดยหากเราพยากรณ์อีก 4-5 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์ที่จะระบาดในประเทศไทยจะค่อยๆเป็นเดลต้า และในที่สุดทั่วโลกสายพันธุ์เดลต้าจะกลบสายพันธุ์อัลฟา หรืออังกฤษต่อไป และเราเชื่อว่าตามวัฎจักรจะไม่สิ้นสุดแค่สายพันธุ์เดลต้า จะมีสายพันธุ์อื่น ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ไม่ว่าจะสายพันธุ์เดลต้า หรืออัลฟา ความรุนแรงไม่ได้เปลี่ยนแปลง” ศ.นพ.ยง. กล่าว

  • ไวรัสกลายพันธุ์ กับประสิทธิภาพวัคซีน

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า วัคซีนทุกบริษัทในโลกนี้ล้วนพัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมของจีน ที่เรียกว่า อูฮั่น ดังนั้น เมื่อมาเจอสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ที่วัคซีนจะลดประสิทธิภาพลดทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนเจเนอเรชั่น 2 แบบไข้หวัดใหญ่ ที่มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน มีการศึกษาสายพันธุ์เดลต้าในสก๊อตแลนด์ ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ตัวลดลงประมาณ 10% เศษๆ ซึ่งยังป้องกันได้ แต่ประสิทธิภาพลดลง

จากเดิมไฟเซอร์ป้องกันได้กว่า 90% แต่พอมาเจอเดลต้า พบว่า ประสิทธิภาพของไฟเซอร์ที่ให้ 2 เข็มป้องกันได้ 79% ในทำนองเดียวกันสายพันธุ์เดลต้าต่อวัคซีนแอสตร้าฯที่ให้ 2 เข็ม เหลือ 60% ก่อนหน้านี้เกือบ 90% ดังนั้น ภูมิที่ต่ำกว่าจะป้องกันไม่ได้ ไม่ว่าไฟเซอร์หรือแอสตร้าฯ หากฉีดเข็มเดียว ระดับภูมิฯที่สูงไม่เพียงพอ ประสิทธิภาพป้องกันโรคก็จะลดลงเหลือ 20-30% ของทั้ง 2 ตัว แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันที่ต้องการใช้ต้องได้ปริมาณสูง ประเทศไทยจึงต้องชะลอการระบาดของเดลต้าให้มากที่สุด เมื่อรู้ว่าติดง่ายในชุมชน ในแรงงาน จึงต้องช่วยกันทั้งหมด

  • เชื่อ 'ฉีดเข็ม 3' กระตุ้นภูมิฯ สูงน้องๆ ไฟเซอร์

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการศึกษาอยู่ เช่น หากเราต้องการให้ภูมิต้านทานสูงขึ้น อาจต้องให้แอสตร้าฯ เข็ม 2 เร็วขึ้นหรือแม้กระทั่งซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม เมื่อฉีด 2 เข็มแล้ว ภูมิต้านทานอาจต่ำอยู่ จึงต้องกระตุ้นเข็ม 3 เข้าไป ซึ่งเราเชื่อว่าเข็ม 3 จะกระตุ้นให้สูงเป็นน้องๆไฟเซอร์ เพราะหลักการของการให้วัคซีน เมื่อมีกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสมภูมฯจะขึ้นสูงกว่า 10 เท่า ซึ่งจะเพียงพอในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ดังนั้น เมื่อทรัพยากรเรามีจำกัด ทุกคนอยากได้วัคซีนมีภูมิฯ สูง แต่แน่นอนว่า วัคซีนที่ภูมิฯสูง ผลข้างเคียงก็สูง วัคซีนที่ภูมิฯต่ำ ผลข้างเคียงก็ต่ำกว่า แต่เมื่อทรัพยากรมีแค่นี้ ระหว่างที่รอ ทั้งไฟเซอร์หรือโมเดอร์น่า ซึ่งเชื่อว่าจะได้เดือน ต.ค.

ตอนนี้จึงต้องชะลอการระบาดของเดลต้า (อินเดีย) และปูพรมการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดโควิดสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ระบาดอยู่ขณะนี้ และเมื่อถึงเวลาสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีกลยุทธ์ในการปรับแผนการให้วัคซีน เพราะขณะนี้ หลายมหาวิทยาลัยมีการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมต่อไป”

  • 'ฉีดเข็ม 3' สลับยี่ห้อได้หรือไม่

แม้ในขณะนี้ ข้อมูลในการศึกษา ฉีดเข็ม 3 คนละยี่ห้อหรือยี่ห้อเดียวกันประสิทธิภาพที่แน่ชัดเป็นอย่างไร ศ.นพ.ยง กล่าวว่า แต่หลักการของการให้วัคซีน ยกตัวอย่าง ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งต้องให้ 3 เข็ม เพราะเข็มแรกๆ เป็นการให้ครั้งแรกในการป้องกันโรคก่อน ส่วนเข็ม 3 ต้องทิ้งช่วง ซึ่งทั่วไปเข็ม 3 จะกระตุ้นภูมิฯ ได้มากกว่า 10 เท่า อย่างไวรัสตับอักเสบบีใช้วัคซีนตัวเดียวกันก็กระตุ้นได้ 10 เท่า ดังนั้น ขณะนี้ศูนย์ฯที่จุฬาฯ กำลังเริ่มศึกษาอยู่ว่า การตัดสินใจให้เข็ม 3 อยู่ที่ 3 เดือนหรือ 6 เดือน ซึ่งเชื่อว่าภูมิฯจะสูงขึ้นเกิน 10 เท่า แม้จะได้วัคซีนตัวเดิม หรือเปลี่ยนเป็นแอสตร้าฯ ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญต้องอยู่ที่ความปลอดภัย ซึ่งข้อมูลจะออกมาเร็วๆนี้

  • รอผลศึกษา 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด' 1-2 เดือน

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กำลังศึกษามาเยอะแล้ว แต่กำลังดูเรื่องอาการข้างเคียง ส่วนตัวเลขวัดระดับภูมิต้านทานต่างๆ เรามีตัวเลขแล้ว คาดว่า 1-2 เดือนน่าจะมีผลออกมา ขณะที่ทั่วโลกมีการศึกษาเช่นกัน เช่น อังกฤษ สเปน แคนาดา แต่ส่วนใหญ่ศึกษาแตกต่างจากเรา เพราะวัคซีนเชื้อตายไม่ได้ถูกใช้ในยุโรป แต่ส่วนใหญ่เขาใช้ mRNA และไวรัลเว็กเตอร์ (ViralVector) เขาบอกว่าสลับกันได้ และภูมิคุ้มกันดีขึ้น ทั้งไฟเซอร์ และแอสตร้าฯ แต่อาการข้างเคียงของเข็ม 2 จะมากขึ้น

"แต่ในไทย ที่ผ่านมาเราให้ 'ซิโนแวค' และตามด้วย 'แอสตร้าเซนเนก้า' อาการข้างเคียงยังเก็บไม่ได้เยอะว่ามากขึ้นน้อยลง เพราะต้องเปรียบเทียบกับการให้ภาวะปกติ แต่แน่นอนว่า การให้ 'ซิโนแวค' กับ 'แอสตร้าเซนเนก้า' สูงกว่า 'ซิโนแวค' 2 เข็ม แต่ขณะนี้สายพันธุ์ไทยยังเป็นอัลฟา (อังกฤษ) อยู่ ยังไม่ใช่เดลต้า (อินเดีย) ส่วนเบต้ายิ่งน้อยมาก ดังนั้น ข้อมูลการศึกษาจะทันกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า” 

  • ศึกษา 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด' ในต่างประเทศ

สำหรับประเทศ สเปน” รอยเตอร์ส รายงานผลการศึกษา “โครงการคอมไบแวคซ์” ที่ดำเนินการโดยสถาบันสุขภาพคาร์ลอสที่ 3 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสเปน โดยใช้อาสาสมัคร อายุระหว่าง 18-59 ปี จำนวน 670 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' ในโดสแรก และในจำนวนนี้ 450 คน ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นโดสที่ 2 พบว่า มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง มีค่าแอนติบอดี อิมมูโนโกลบูลินจี (IgG) ในกระแสเลือด สูงกว่า 30-40 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' เพียงโดสเดียว

และมีค่าแอนติบอดีเพิ่มขึ้น 7 เท่า ซึ่งถือว่ามากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ฉีดวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' ทั้ง 2 โดส ซึ่งพบแอนติบอดีเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยมีเพียงร้อยละ 1.7 ของผู้เข้าร่วมการทดสอบ ที่มีรายงานพบผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว

ด้าน “อังกฤษ” มีโครงการศึกษา “มิกซ์ แอนด์ แมทช์ ซึ่งไม่นานมานี้ ได้เผยผลการศึกษาว่า ประชาชนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์หลังจากได้รับวัคซีนของ 'แอสตร้าเซนเนก้า' มีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดหัว ตัวสั่น มากกว่าที่คนเกิดผลข้างเคียงหากได้รับวัคซีนตัวเดียวกัน 2 โดส

สำหรับ “แคนาดา” ปัจจุบันมีการอนุมัติใช้วัคซีน 4 ชนิด ได้แก่ โมเดอร์นา , ไฟเซอร์ , แอสตร้าเซนเนก้า และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แต่หลายพื้นที่ในแคนาดาเริ่มระงับการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในการฉีดเข็มแรก จากความกังวลเรื่องการเกิดลิ่มเลือด

โดยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านภูมิคุ้มกันแห่งชาติแคนาดา (National Advisory Committee on Immunization: NACI) อนุญาตให้เข้ารับ 'วัคซีนโควิด-19' โดสแรกและโดสสองต่างชนิดกันได้ ใน 3 ชนิด คือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และ 'แอสตร้าเซนเนก้า' อย่างไรก็ตาม สาธารณสุขแคนาดา ก็ยังขอให้ชาวแคนาดาฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันต่อไปหากเป็นไปได้

นอกจากนี้ ในประเทศอื่นๆ เช่น จีน ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สวีเดน สหรัฐอเมริกา ยังมีการศึกษาเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

  • ศึกษา 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด' ในไทย

สำหรับในประเทศไทยขณะนี้ 'วัคซีนโควิด-19' ที่ใช้มี 2 ยี่ห้อ คือ 'ซิโนแวค' กับ 'แอสตร้าเซนเนก้า' โดยศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการวิจัยโดยขอทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อดำเนิน “โครงการวิจัย ความปลอดภัย ผลการกระตุ้นภูมิต้านทาน และการใช้แทนกันของวัคซีนโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) และไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccine) : การศึกษาทดลองทางคลินิก” เพื่อศึกษาการฉีดวัคซีนเข็มแรก 'ซิโนแวค' เข็มที่ 2 ให้วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' หรือให้วัคซีนเข็มแรก 'แอสตร้าเซนเนก้า' เข็มที่ 2 ให้ 'ซิโนแวค'

  • 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด' เผื่อกรณีแพ้วัคซีน วัคซีนขาดแคลน หรือฉีดเข็ม 3

“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การศึกษาจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในกรณีเมื่อฉีดเข็มแรกแล้วเกิดแพ้วัคซีน เข็ม 2 จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนหรือในกรณีที่วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งขาดแคลน ก็สามารถใช้อีกชนิดหนึ่งได้เลย ไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บวัคซีนไว้เข็ม 2 การบริหารวัคซีนจะง่ายขึ้นมากทำให้การให้วัคซีนเร็วขึ้น

จากข้อมูลเบื้องต้นในผู้ที่แพ้วัคซีนเข็มแรกและไปฉีดเข็ม 2 ต่างชนิดกัน ที่ผ่านมา มีการตรวจพบ 5 ราย โดย 4 รายที่ฉีดวัคซีน 'ซิโนแวค' เข็มแรกและเข็ม 2 ได้รับ 'แอสตร้าเซนเนก้า' ภูมิต้านทานที่ขึ้นสูงกว่าการได้รับวัคซีนชนิดเดียว 'ซิโนแวค' 2 ครั้ง และทำนองกลับกัน เช่นเดียวกันมีเพียง 1 ราย ที่ได้รับ 'แอสตร้าเซนเนก้า' แล้วเข็ม 2 ได้ซิโนแวค อีก 1 เดือนต่อมา ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นก็สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • ศึกษา 'วัคซีนโควิด-19' ภายใต้ความปลอดภัย

ทั้งนี้ การศึกษาจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยหรืออาการข้างเคียงว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าการสลับวัคซีนปลอดภัยจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในยามที่วัคซีนขาดแคลนหรือแพ้วัคซีน และเป็นแนวทางในการที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนชนิดเดียวกัน

“กรณีตัวอย่างหนึ่ง คือ เข็มแรกฉีด 'แอสตร้าเซนเนก้า' ไปแล้ว หลังจากนั้น 1 เดือนต่อมา จะไปฉีดไข้หวัดใหญ่ เดินขึ้นไปจะฉีดไข้หวัดใหญ่ เลี้ยวผิดห้อง ไปห้องฉีด 'วัคซีนโควิด-19' จึงได้ฉีดวัคซีน 'ซิโนแวค' แทนเป็นเข็มที่ 2 อาการข้างเคียงไม่มี ดังนั้น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการศึกษากรณีเช่นนี้ว่าหากฉีดไขว้ยี่ห้อจะเป็นอย่างไร และสิ่งที่ต้องคำนึงต่อไป คือ หากฉีดครบ 2 เข็มแล้ว เข็มที่ 3 อยากจะฉีดยี่ห้ออื่น เพราะวัคซีนที่มีหลายบริษัท หากไขว้ไปมาจะเป็นอย่างไร ต้องมีการศึกษาออกมาให้ชัดเจน” ศ.นพ.ยง กล่าว

  • รับอาสาสมัคร 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด'

ที่ผ่านมา ทางโครงการฯ ได้เปิดรับสมัครอาสาสมัครรับวัคซีนเข็มที่หนึ่งและสอง ต่างชนิดกัน โดยกลุ่มแรกจะฉีดเข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า และอีกกลุ่มจะฉีดเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 เป็นซิโนแวค และจะมีการบันทึกอาการข้างเคียงของวัคซีนและตรวจวัดภูมิต้านทานเป็นระยะ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการก่อนนำไปใช้จริง

สำหรับ คุณสมบัติของอาสาสมัคร ได้แก่

1. อายุ 18 ปีขึ้นไป

2. อาศัยอยู่ในกรุงเทพหรือปริมณฑล และสะดวกเดินทางมารับวัคซีนและเจาะเลือดตามนัด (ในวันและเวลาราชการ)

3. ไม่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาก่อน

4. ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน

5. ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ หรือเคยแพ้ส่วนประกอบของสารที่อยู่ในวัคซีน

6. อาสาสมัคร สมัครใจเข้าร่วมโครงการโดยยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร

7. ไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ต้องนอนโรงพยาบาล

8. ไม่กินยากดภูมิต้านทาน

9. ไม่มีประวัติโรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร้อม จากการติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นมาแต่กำเนิด 

ทั้งนี้ หลังจากที่ประกาศเพียง 6 ชั่วโมง มีผู้สมัครถึงกว่า 700 คน จากที่ขอคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อทำการศึกษาเพียง 90 คน เพื่อให้ได้ผลอย่างละเอียดและต่อไปจะได้นำไปใช้ได้จริง

นอกจากนี้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2 ต่างชนิดกัน เมื่อฉีดหลังเข็มที่ 2 แล้วครบ 1 เดือนและต้องการตรวจภูมิต้านทานหลังฉีดเข็มที่สอง ทางศูนย์ฯ ยินดีที่จะตรวจภูมิต้านทานให้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร 02-256-5324 และ 02-256-4909

  • เตรียมพร้อม สถานการณ์โควิดกลายพันธุ์

ศ.นพ.ยง ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับ โควิด-19 สายพันธุ์ไวรัสเดลต้า (อินเดีย) มีการกล่าวว่าจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) การระบาดของประเทศไทยขณะนี้ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) พบได้ถึงร้อยละ 96 วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า' และ 'ซิโนแวค' สามารถลดความรุนแรงและลดอัตราป่วยตายได้ดังเช่นการศึกษาที่ภูเก็ต

“ในอนาคตถ้ามีการระบาดสายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดียและจำเป็นต้องใช้ภูมิต้านทานที่ระดับสูงขึ้น เราจะฉีดเพิ่มด้วยวัคซีนอะไรที่มีเช่น ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ก็เป็นไปได้ เพียงกระตุ้นเข็มเดียวไม่ว่าจะเป็นวัคซีนอะไรก็จะได้ผลภูมิต้านทานสูงมากจะสูงขึ้นอีกเป็น 10 เท่า ตามหลักการของวัคซีนในเข็มกระตุ้น”

  • ข้อมูลเบื้องต้น 'ฉีดวัคซีนต่างชนิด' ภูมิฯ สูงขึ้น

ในทำนองเดียวกันข้อมูลเบื้องต้นของศูนย์ฯ ที่ทำวิจัยอยู่ พบว่า การให้วัคซีน 'ซิโนแวค' เข็มแรก แล้วกระตุ้นด้วย'แอสตร้าเซนเนก้า' ได้ภูมิต้านทานที่สูงมาก มากกว่าการให้'ซิโนแวค' 2 เข็ม และระดับสูงเป็นน้องๆ ไฟเซอร์ ดังนั้น ในภาวะปัจจุบัน เราควรรีบให้วัคซีนไปก่อนให้ครบและครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการป่วยและการเสียชีวิตให้เร็วที่สุด และเมื่อเชื้อกลายพันธุ์ที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงก็สามารถกระตุ้นด้วยวัคซีนอื่นๆ หรือวัคซีนชนิดเดียวกันให้ภูมิสูงเพียงพอในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์นั้น จนกว่าจะมีวัคซีนใหม่ที่จำเพาะกับไวรัสกลายพันธุ์

“เราไม่มีทางเลือก ในขณะนี้มีวัคซีน 2 ตัวก็ให้ให้เร็วที่สุด ในอนาคตถ้ามีวัคซีนมากเพียงพอและหลากหลายชนิด ใครจะกระตุ้นด้วยวัคซีนอะไรก็สามารถทำได้ อย่าไปพะวงกับปัญหาที่ยังไม่เกิดอย่างที่มีเสียงกล่าวขานกันมากขนาดนี้” ศ.นพ.ยง ระบุ

162429085510