‘ขนมปัง’ เจอ ‘กล้วยน้ำว้า’ สูตรไร้แป้ง น้ำตาล นม เนย ไข่

‘ขนมปัง’ เจอ ‘กล้วยน้ำว้า’ สูตรไร้แป้ง น้ำตาล นม เนย ไข่

“ขนมปัง” ก็รักษ์หัวใจได้ เมื่อ อ.แววตา เอกชาวนา นักกำหนดอาหารวิชาชีพ นำผลไม้ไทยมากคุณค่า “กล้วยน้ำว้า” มาเป็นวัตถุดิบหลัก ร่วมกับข้าวโอ๊ต เมล็ดแฟล็กซ์ น้ำมันมะกอก ทำกินเองได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก

ได้ยินชื่อ คอเลสเตอรอล คนส่วนใหญ่ก็ร้อนๆ หนาวๆ เพราะเป็นบ่อเกิดของ โรคประจำตัว หลายโรคซึ่งทำให้ร่างกายเกิดอาการเจ็บป่วยไม่พึงประสงค์ ทั้งเจ็บเนื้อเจ็บตัวและเสียเงินค่ารักษาเอาการ

โดยเฉพาะในสถานการณ์ “โควิด” แบบนี้ คอเลสเตอรอลมีส่วนเกี่ยวพันให้เกิดโรคประจำตัวที่เป็นแล้วเสี่ยงเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19 ถึง 5 โรค จาก 7 โรคประจำตัวกันเลยทีเดียว นั่นก็คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และ โรคอ้วน

เว็บไซต์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า จริงๆ แล้ว คอเลสเตอรอล ก็คือ กลุ่มไขมันที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดของเรา และ มีความจำเป็นต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เมื่ออยู่ในกระแสเลือด คอเลสเตอรอลจะจับอยู่กับโปรตีน เรียกว่า ไลโพโปรตีน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

  • ไลโพโปรตีนชนิดที่มีความหนาแน่นต่ำ หรือ LDL ที่ชอบเกาะตัวอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดง ส่งผลให้ความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดเสียไป และเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันตามมา LDL จึงจัดเป็นคอเลสเตอรอล “ตัวร้าย”
  • ไลโพโปรตีนชนิดที่มีความหนาแน่นสูง หรือ HDL จัดเป็นคอเลสเตอรอล “ชนิดดี” เพราะช่วยนำคอเลสเตอรอลส่วนเกินกลับไปยัง ‘ตับ’ ซึ่งเป็นผู้สร้างคอเลสเตอรอลทุกชนิดที่ร่างกายต้องการ

บทความจากสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า  ร่างกายต้องการคอเลสเตอรอลอยู่เหมือนกัน เพราะคอเลสเตอรอลเป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนเพศ เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์น้ำดี (ช่วยย่อยไขมันให้มีขนาดเล็ก) ช่วยสังเคราะห์วิตามินดี ช่วยสร้างผนังเซลล์ เป็นสารจำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง

แต่! หากผู้บริโภคมีพฤติกรรมบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะบริโภคอาหารที่มี “พลังงานสูง” หรือมีส่วนประกอบของ “คอเลสเตอรอลสูง” จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ส่งผลให้เกิด “ภาวะไขมันในเลือดสูง” และมีความเสี่ยงของการเกิด โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้

คอเลสเตอรอลมีอยู่สูงในอาหารประเภท ตับ ไข่แดง ชีส เนย เนื้อเป็ด เนื้อวัว หอยทะเล ดังนั้นถ้าเรากินของพวกนี้เยอะแล้ว ก็ควรกินขนมที่มีคอเลสเตอรอลน้อยลงหน่อย หรือไม่มีเลยยิ่งดี

เมนูสู้โควิดวันนี้เอาใจสายหวานด้วย ขนมปังกล้วยน้ำว้า  โดยครั้งนี้ อ.แววตา เอกชาวนา นักกำหนดอาหารวิชาชีพ นำกล้วยน้ำว้ามาทำเป็นขนมปัง แต่อาจารย์บอกจะเรียก “ขนมปัง” เต็มปากก็ไม่ได้ เพราะสูตรการทำขนมชนิดนี้ ไม่ใส่แป้ง ไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่นม ไม่ใส่เนย ไม่ใส่ไข่ไก่ เป็นขนมที่ไขมันต่ำจริงๆ แต่รูปลักษณ์คล้ายขนมปัง เลยขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ขนมปังกล้วยน้ำว้า”

162487470374

ขนมปังกล้วยน้ำว้า สูตรโดย อ.แววตา เอกชาวนา

ขนมปังกล้วยน้ำว้า

 ส่วนผสม 

  • กล้วยน้ำว้า (สุก) 400 กรัม
  • ข้าวโอ๊ต 2 ถ้วยตวง
  • เมล็ดแฟล็กซ์ 1 ช้อนโต๊ะ
  • เบคกิ้งโซดา 2 ช้อนชา
  • เกลือป่น ¼ ช้อนชา  
  • น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • กลิ่นวานิลลา 2 ช้อนชา
  • น้ำมันมะกอก 1 ช้อนโต๊ะ 
  • ลูกเกดและถั่วต่างๆ ตามชอบ

 วิธีทำ 

  1. บดเมล็ดแฟล็กซ์ แล้วผสมกับน้ำเปล่า 6 ช้อนโต๊ะ  พักไว้ 10 นาที
  2. ชามผสมที่ 1 ใส่ข้าวโอ๊ตที่บดไว้แล้ว เบคกิ้งโซดา เกลือ  คนให้เข้ากัน
  3. ชามผสมที่ 2 ใส่กล้วยน้ำว้าบด กลิ่นวานิลลา น้ำมันมะกอก น้ำมะนาว เมล็ดแฟล็กซ์ที่แช่น้ำ คนให้เข้ากัน
  4. เทส่วนผสมที่ 2 ใส่ลงในชามผสมที่ 1 คนให้เข้ากัน แล้วตักใส่พิมพ์ 
  5. ใช้ไฟอบ 180 องศาเซลเซียส (หรือ 375 F
  6. อบให้หน้าขนมเป็นสีน้ำตาลทอง รอให้เย็น ตัดเป็นชิ้น

162487477844

ขนมปังกล้วยน้ำว้า สูตรโดย อ.แววตา เอกชาวนา สูตรไม่ใส่แป้ง ไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่นม ไม่ใส่เนย ไม่ใส่ไข่

อาจารย์แววตา กล่าวด้วยว่า ขนมปังกล้วยน้ำว้า สูตรนี้ ให้รสชาติปานกลาง ไม่ถึงกับอร่อยมาก แต่ถ้าดูจากส่วนผสมแล้วสามารถทำออกมาได้ลักษณะนี้ ก็นับว่าน่าสนใจ และยังเป็นขนมที่ไม่มีคอเลสเตอรอล  

“น้ำมันในข้าวโอ๊ต เป็นน้ำมันที่ดีต่อสมองและหัวใจของเรา เพิ่มไขมันดีจากเมล็ดแฟล็กซ์ เป็นตัวที่ทำให้ขนมของเราไม่ต้องใช้ไข่ เมล็กแฟล็กซ์ 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำ 3 ช้อนโต๊ะ เท่ากับไข่ขาว 1 ฟอง ลดไตรกลีเซอไรด์ได้ด้วย”

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) คือไขมันชนิดหนึ่ง ร่างกายได้รับจากอาหารประเภทไขมันโดยตรง หรือร่างกายสร้างขึ้นเมื่อรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป โดยพลังงานส่วนเกินจะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ และสะสมเป็นเนื้อเยื่อไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย  เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง

162487490161

กล้วยน้ำว้า (credit photo : dcg.wu.ac.th)

ในส่วนของ กล้วยน้ำว้า ก็เป็นผลไม้ทรงคุณค่าทางโภชนาการไม่เบา เว็บไซต์ ส่วนอำนวยการและสารบรรณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุสรรพคุณไว้มากมาย อาทิ

  • สารต้านอนุมูลอิสระสูง : โดยเฉพาะสารฟลาโวนอยด์ มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ ลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดข้อเข่า ซึ่งสารฟลาโวนอยด์ในกลุ่มผลไม้ที่มีเนื้อสีขาวอย่างกล้วย ก็มีอยู่หลายชนิดเลยด้วย
  • ช่วยในการเจริญเติบโตของทารก : กรดอะมิโนอาร์จินิน และฮิสติดีน ในกล้วยน้ำว้า เป็นกรดอะมิโนจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กทารก กล้วยน้ำว้ายังเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างเยอะ คุณแม่ส่วนใหญ่เลยมักจะบดกล้วยให้ลูกกินตอนยังเล็กๆ อย่างที่เราก็เคยกินกล้วยบดกันมาแล้วนั่นเอง
  • ป้องกันโรคโลหิตจาง : กล้วยน้ำว้ามีธาตุเหล็กอยู่ในตัว ช่วยกระตุ้นการสร้างฮีโมโกลบิน ป้องกันภาวะโลหิตจาง ทั้งยังช่วยให้พลังงานกับผู้ที่อ่อนแรงได้ด้วย
  • ลดความดันโลหิต : โพแทสเซียมในกล้วยน้ำว้าคือสารอาหารสำคัญที่มีส่วนช่วยคงระดับความดันโลหิตให้สมดุล ดังนั้นคนที่เป็นโรคความดันสูง พยายามกินกล้วยน้ำว้าให้ได้ทุกวัน
  • แคลเซียมสูง บำรุงกระดูกและฟัน : นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข และนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย แนะนำให้กินกล้วยเสริมแคลเซียมให้ร่างกาย โดยกินกล้วยห่ามๆ ที่นำไปปิ้งจะยิ่งดี เพราะแคลเซียมจะดูดซึมได้มากขึ้นถึง 4 เท่า ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ทั้งยังป้องกันภาวะกระดูกพรุนในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • ช่วยชะลอความแก่ : อย่าลืมว่าในกล้วยน้ำว้ามีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งจะช่วยปกป้องเซลล์จากการทำลายของสารอนุมูลอิสระได้ ชะลอความเสื่อมของวัย และในกล้วยน้ำว้ายังอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ ไฟเบอร์ ที่ช่วยบำรุงผิวพรรณจากภายใน กินวันละ 1 ผลก็ได้

* * * * *

@ เมนูสู้โควิดที่คุณอาจสนใจทำกินเอง @

Energy Pancake : แพนเค้กเพิ่มน้ำหนักสำหรับ "คนผอมมาก"

ยำหัวปลีไข่ยางมะตูม : ลดระดับน้ำตาลในเลือด

น้ำพริกพริกไทยอ่อน : รวมสารพฤกษเคมีสู้ไข้หวัด-ต้านมะเร็ง