เช็ค 5 เขต กทม .พบ 'เดลตา' สูงสุด หลังกระจายเกิน 50%
ศบค. รายงานผู้ป่วยรายใหม่ 21 ก.ค. 64 จำนวน 13,002 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 108 ราย สายพันธุ์ 'เดลตา' ระบาด กทม. เกิน 50% เผย 5 เขตพบเดลตาสูงสุด
วันนี้ (21 ก.ค. 64) แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ล่าสุด วันที่ 21 ก.ค. 64 โดยระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 13,002 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,953 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 1,049 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 439,477 ราย อีกทั้งยังมียอดผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง
โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 108 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 3,516 รายแล้ว ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 3,610 ราย นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึงกลุ่มคนไข้อาการหนักที่มีอาการปอดอักเสบที่น่าวิตกอีก 3,786 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 879 ราย
- สูงอายุ โรคประจำตัว ปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิต
สำหรับรายละเอียด ผู้เสียชีวิต 108 ราย ได้แก่ กทม. 40 ราย สมุทรสาคร 13 ราย นครปฐม 4 ราย ปทุมธานี 4 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นนทบุรี 1 ราย สงขลา 7 ราย ยะลา 6 ราย นราธิวาส 2 ราย ปัตตานี 2 ราย ปราจีนบุรี 4 ราย ชลบุรี 2 สระแก้ว 1 นครนายก 3 เพชรบุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 2 ราย ร้อยเอ็ด 2 ราย ขอนแก่น 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท พิษณุโลก สุโขทัย นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 ราย ค่ากลางเวลา (วันทราบผลติดเชื้อ – เสียชีวิต) 10 วัน (นานสุด 61 วัน)
- ฉีดวัคซีนไปแล้ว 14.8 ล้านโดส
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่รายงานวันนี้ สามารถสรุปจำนวนการได้รับวัคซีนสะสม จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่ 28 ก.พ. - 20 ก.ค. 2564 เวลา 18.00 น. รวม 14,805,120 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 11,292,579 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด)
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 3,512,541 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์)
- 10 จังหวัดติดเชื้อรายใหม่สูงสุด
ขณะนี้ ในต่างจังหวัดจังพบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับกทม. ปริมณฑล ดังนั้น ขอความร่วมมือต่อเนื่องหากตรวจพบเชื้อ ขอให้เข้าสู่ระบบการรักษาโดยไม่ต้องเคลื่อนย้าย เพราะการเดินทางกลับภูมิลำเนา กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าเตียงต่างจังหวัดเริ่มตึงตัว หากต้องการกลับภูมิลำเนาเพื่อรักษา ขอให้ติดต่อ รพ. ปลายทางเสมอ เพราะมีโอกาสที่จะได้รับการปฏิเสธ เพราะจังหวัดปลายทางไม่สามารถดูแลได้ กรมการแพทย์ รายงานว่า ผู้ป่วย 70-80% เป็นกลุ่มสีเขียว ดังนั้น การเดินทางที่ทำให้เหนื่อยล้าทำให้อาการแย่ลงได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กทม. ป่วยเหลืองแดง แนวโน้มสูงขึ้น
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า สถานการร์ผู้ป่วยโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ข้อมูล 20 ก.ค. 64 หากจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อตามระดับความรุนแรง พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีเขียวไม่มีอาการ 18,025 ราย (51.78%) สีเขียวเข้ม มีอาการเล็กน้อย 9,154 ราย (26.30%) ส่วนใหญ่อายุน้อยและเป็นวัยแรงงานสูงรวมสองกลุ่มแล้วเกือบ 80% ขณะที่ สีเหลือง อาการปานกลาง 6,299 ราย (18.10%) และสีแดง อาการหนัก 1,330 ราย (3.82%) ทิศทางของกราฟสูงขึ้น ดังนั้น เราพยายามสงวนเตียงใน รพ. หรือ รพ.ไอซียูสนาม เพื่อรองรับระดับเหลืองแดง
- 5 เขต กทม. ‘เดลตา’ ระบาดสูงสุด
ทั้งนี้ จากการระบาดในพื้นที่กทม. พบว่า มีสายพันธุ์เดลตา 53.9% อัลฟ่า 45.6% และ B.1 0.463% โดย 5 เขตหลักที่พบสายพันธุ์เดลต้าระบาด ได้แก่
- จตุจักร
- บางรัก
- จอมทอง
- คลองเตย
- หลักสี่
ทำให้ กทม. พยายามมุ่งเป้าจัดทีมป้องกันโควิดเชิงรุกในชุมชน จัดทีม CCRT ในการค้นหาผู้ป่วยในชุมชน และให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุด
- CCRT ลงพื้นที่ 138 ทีม 639 ชุมชน
จากการลงพื้นที่ของทีม Comprehensive Covid-19 Response Team (CCRT) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 15-20 ก.ค. 64 จำนวน 138 ทีม ลงพื้นที่ 639 ชุมชน โดยการเดินเท้าเคาะประตูบ้าน พบว่า มีผู้ได้รับบริการทั้งหมด 24,382 ราย มีผู้ได้รับการตรวจ Antigen Test Kit 1,874 ราย พบเชื้อ 176 ราย ไม่พบเชื้อ 1,698 ราย ฉีดวัคซีน 17,523 ราย
สิ่งสำคัญ ที่ต้องเน้นย้ำ ผอ.ศบค. ติดตามรับฟังข่าวสารข้อมูล เน้นย้ำว่า จะต้องไม่มีคนเสียชีวิตที่บ้านจากโรคโควิด ดังนั้น เมื่อมีการเจ็บป่วยจะนำสู่ระบบให้เร็วที่สุด จึงมีการตรวจ ATK ให้ครอบคลุมที่สุด ช่วยลดปัญหาการเข้าถึง ขณะนี้ มีทั้ง รพ.รัฐเอกชน จุดตรวจ กทม. รถตรวจพระราชทาน แล็บเอกชน ประกันสังคม และศูนบริการสาธารณสุข กทม. 69 จุด โดยจุดไหนที่รับตรวจ ดูแล Home Isolation จะนำมารายงานให้รับทราบเป็นระยะ
- ตั้งเป้า จัดสถานที่กักตัวในชุมชน 50 เขต
โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า วันนี้ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เสนอความคืบหน้าการจัดสรรเตียง ซึ่งตอนนี้ศักยภาพเตียงมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำว่า การตอบโจทย์จะไปอยู่ที่การแยกกักที่บ้านและชุมชน ซึ่งการแยกกักในชุมชนตอนนี้ กทม. รายงานว่ามีการเพิ่มจำนวนต่อเนื่องโดยนโยบาย ผอ.ศบค. จะต้อมีการจัด Community Isolation อย่างน้อย 50 เขต เขตละ 1 แห่ง
และหากเป็นไปได้บางเขตอาจะทำได้ 2 แห่ง หากแต่ละศูนย์รับได้ 100 เตียง ก็จะรับได้รวมกว่า 5,000 เตียง หากทำได้เขตละ 2 ศูนย์ ก็จะได้ 10,000 เตียง อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมการแพทย์ เน้นย้ำว่า การจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน สำหรับผู้ติดเชื้อระดับสีเขียวไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยเท่านั้น
ขณะเดียวกัน กทม. มีจัดตั้งศูนย์พักคอย 49 แห่ง ในพื้นที่ 47 เขต เปิดดำเนินการแล้ว 19 แห่ง รองรับได้ 5,365 เตียง ตั้งเป้า 1 เขต 1 ศูนย์พักคอย และในส่วนของนิมิบุตร ที่เมื่อก่อนมีเจตนารมณ์ให้เป็นศูนย์พักคอย แต่ปัจจุบัน ด้วยความที่จำนวนผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูง ตอนนี้นิมิบุตร จึงรับผู้ป่วยสีเหลืองและพยายามส่งต่อให้ปลอดภัย
- เพิ่มหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีน
โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุม มีการพูดถึงการให้วัคซีน กรมควบคุมโรค มีข้อสรุปว่า เพิ่มหญิงตั้งครรภ์ ให้ฉีดวัคซีนด้วยแต่ต้องหลังจากตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ และมีข้อแนะนำว่า หญิงที่ไม่แน่ว่าตั้งครรภ์ ขอให้ตรวจก่อน
ขณะที่ การให้วัคซีนกับต่างชาติ ผู้ที่อาศัยในแผ่นดินไทย กลุ่มต่างชาติอาจเป็นคู่สมรส หรือทำอาชีพในไทย หรือทำงานในส่วนของบริษัทต่างๆ ที่อยู่กับคนไทย มีถิ่นพำนักในไทย จะมีโอกาสเข้าไปลงทะเบียนการฉีดวัคซีน เบื้องต้นอาจให้บริการที่ เอสซีจี ขอให้ติดตามรายละเอียดต่อไป ส่วนนักเรียนไทย ที่มีกำหนดเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ที่ประชุมมีการหารือและจะมานำเรียนต่อไป